ตัวแทนพร้อมผู้เช่าอาคารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์จำนวน 20 คน นำรายชื่อพร้อมสัญญาเช่าอาคารของ ร.ฟ.ท.จำนวน 142 รายชื่อจำนวนห้องเช่า 162 ห้องยื่นต่อนายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา เพื่อขอให้ช่วยเจรจากับ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.หลังมีผู้เช่าอาคารการรถไฟบางรายถูกบอกเลิกสัญญาเช่า และทำการขับไล่ออกจากอาคาร ทั้งๆเช่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518
วันที่ 4 กรกฎาคม ที่บ้านพักของ นายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา (สว.) บ้านม่อนดินแดง ต.ท่าเสา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ นายพูลศักดิ์ ชูพาณิชสกุล ตัวแทนพร้อมผู้เช่าอาคารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์จำนวน 20 คน นำรายชื่อพร้อมสัญญาเช่าอาคารของ ร.ฟ.ท.จำนวน 142 รายชื่อจำนวนห้องเช่า 162 ห้อง พร้อมหอบสัญญาเช่า กว่า 3 แฟ้มขนาดใหญ่ เพื่อเป็นข้อมูล ยื่นต่อนายพีระศักดิ์ เพื่อขอให้ช่วยเจรจากับ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.หลังมีผู้เช่าอาคารการรถไฟบางรายถูกบอกเลิกสัญญาเช่า และทำการขับไล่ออกจากอาคาร และพื้นที่เคยเช่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เนื่องจากหมดสัญญาเช่าตามสัญญาเดิม ขณะเดียวกันทาง ร.ฟ.ท.ก็ร่างสัญญาเช่าใหม่ในในอัตราค่าเช่าที่สูงขึ้นมากและในอัตราก้าวหน้าขึ้นทุก 3 ปี บางรายหมดสัญญาเช่าเดิมไปแล้วก็ไม่ได้รับการต่อสัญญาฉบับใหม่จาก ร.ฟ.ท. ผู้เช่าบางรายจึงนำเงินไปวางทรัพย์ต่อสำนักงานบังคับคดี จ.อุตรดิตถ์ เพื่อแสดงเจตจำนงว่า ได้ชำระค่าเช่ารายเดือนให้กับ ร.ฟ.ท. แต่ทาง ร.ฟ.ท.ก็ไม่ติดต่อเพื่อขอรับเงินค่าเช่าจากสำนักงานบังคับคดี จ.อุตรดิตถ์ แต่อย่างใด
โดยนายพีระศักดิ์ เปิด เปิดลานบ้านพักใต้ร่มไม้ ที่โล่งอากาศถ่ายเทสะดวก รับฟังปัญหาและข้อเรียกร้อง ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัดนายพูลศักดิ์ กล่าวว่า เดิมผู้เช่าทุกรายดังกล่าว ไม่มีพื้นที่ทำการค้าขาย และต้องการขยายเขตเศรษฐกิจของ จ.อุตรดิตถ์ให้เติบโตขึ้น จึงทำสัญญาเช่าที่ดินว่างเปล่าของ ร.ฟ.ท.ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมาบริเวณถนนสำราญรื่น ถนนสุขเกษม เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ โดยที่ทางผู้เช่าทำการออกเงินค่าวัสดุและก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.เอง หลังสร้างเสร็จก็ทำสัญญาเช่าอาคารที่ผู้เช่าก่อสร้างให้กับทาง ร.ฟ.ท.เมื่อครบกำหนด 10 ปี ผู้เช่าต้องโอนอาคารให้เป็นกรรมสิทธิ์ให้กับ ร.ฟ.ท. โดยที่ค่าเช่าตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา นั้นก็มีการสัญญาเช่ากันมาตลอดขณะเดียวกันค่าเช่าก็แพงขึ้นในอัตราก้างหน้าเช่นเดียวกันจนปัจจุบัน ร.ฟ.ท.คิดค่าเช่าสูงถึงห้องละ 3,200-4,022 บาท ทำให้บางรายเดือดร้อนแทบจะอยู่กันไม่ได้ ในสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันนี้ ซึ่งต่างจากการเช่าที่ดินราชพัสดุเพียงเดือน ละ 800-900 บาทเท่านั้น “ก่อนหน้านี้ทางผู้เช่าทั้งหมด ได้ทำหนังสือเพื่ออุทธรณ์ไปยัง ร.ฟ.ท.เพื่อขออุทธรณ์การส่งมอบอาคารให้กับ ร.ฟ.ท.ในรายที่ ร.ฟ.ท.ไม่ต่อสัญญาเช่าให้ และ ขอให้ ร.ฟ.ท.คิดค่าเช่าในอัตราเหมือนเดิมคือตั้งแต่หลังปี 2553 ที่คิดในอัตราค่าเช่าเดือนละ 937 บาท แต่ทาง ร.ฟ.ท.กลับไม่มีการตอบรับหรือรับรู้เรื่องของผู้เช่า จ.อุตรดิตถ์แต่อย่างใด ซึ่งทางผู้เช่าเองก็มีความเดือดร้อนใจอย่างมาก เพราะเกรงว่าผู้เช่าทั้งหมดจะถูกบอกเลิกสัญญา ถูกขับไล่ออกจากที่ดินของ ร.ฟ.ท.จนไม่มีที่ค้าขายอีกต่อไปในอนาคต จึงต้องมาร้องของให้ สว.ช่วยเหลือซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้เช่าทั้ง 142 รายแล้ว” นายพูลศักดิ์ กล่าว
ด้านนายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้เช่าเคยมาปรึกษาครั้งหนึ่งแล้ว ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนก็นำเรื่องนี้ไปหารือพูดคุยกับผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ซึ่งอดีตเป็นอัยการรุ่นน้อง ทางผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เองก็ตอบรับและรับทราบปัญหานี้แล้ว พร้อมเห็นใจผู้เช่าอาคารของ ร.ฟ.ท. อย่างไรก็ตามจะเชิญผู้ว่า ร.ฟ.ท.ลงมา จ.อุตรดิตถ์ เพื่อหาทางออกร่วมกับผู้เช่า จ.อุตรดิตถ์ ขณะเดียวกันเบื้อต้นก็จะนำเรื่องนี้ไปประสานกับทางกรรมาธิการคมนาคม สว.เพื่อหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือผู้เช่า จ.อุตรดิตถ์ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: