พังงา-เคยกินไหมลูกกอเกาลัดปักษ์ใต้ เกษตรกรอนุรักษ์ต้นไว้ให้ลูกหลานได้เห็นและเก็บเมล็ดขายเป็นรายได้เสริม
ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี จะเป็นช่วงหน้าฝนและเป็นฤดูกาลผลไม้ของชาวจังหวัดพังงา ซึ่งจะมีทั้งทุเรียนพื้นบ้าน ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ มังคุด และเงาะ ออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก และจะมีไม้ป่าชนิดหนึ่งออกผลหล่นลงมาบนพื้นใต้ต้นให้ชาวบ้านไปเก็บเอาเมล็ด นำมาคั่วให้สุกแล้วแกะกินเนื้อข้างในที่มีรสชาติมันหวานและอร่อย จึงเป็นที่ชื่นชอบของคนในพื้นที่ นั่นคือ ลูกกอ หรือเกาลัดปักษ์ใต้ หรือเกาลัดป่า ซึ่งบางคนก็เคยเห็นหรือเคยกินแต่ลูกกอ แต่ไม่เคยเห็นว่าต้นและผลของลูกกอเป็นแบบไหน
นายสถิต ผลแก้ว อายุ 65 ปี ชาวเกษตรกรในพื้นที่ ม.6 บ้านโตนดินนอก ต.ถ้ำ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ได้นำผู้สื่อข่าวไปชมต้นลูกกอพร้อมกับเก็บลูกกอที่หล่นอยู่บนพื้นใต้ต้น ซึ่งพบว่าเมล็ดลูกกอถูกหุ้มด้วยเปลือกสีเขียวที่เป็นหนามแหลม เวลาเก็บจึงต้องใช้ความระมัดระวังจากหนามแหลมบนเปลือกที่ตำมือ โดยนายสถิตฯได้อนุรักษ์ต้นลูกกอไว้กว่า 10 ต้นอยู่ภายในสวนทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งพบว่าผลลูกกอสุกหล่นลงมาเกือบหมดแล้ว เหลือให้เห็นอยู่บนกิ่งเพียงเล็กน้อย ซึ่งในปีนี้ในช่วงเดือนมิถุนายนนายสถิตฯได้เก็บเมล็ดลูกกอสดไปขายได้กิโลกรัมละ 50-60 บาท ล่าสุดเหลือกิโลกรัมละ 30 บาท ทำให้สามารถสร้างรายได้เสริมเข้าสู่ครอบครัวได้เป็นอย่างดี ประกอบกับต้องการอนุรักษ์ต้นกอไว้ให้ลูกหลานหรือคนรุ่นใหม่ได้เห็นกันต่อไป ขณะที่ชาวบ้านบางคนได้อาศัยช่วงที่กรีดยางไม่ได้ออกไปเก็บลูกกอในป่า นำออกมาขายเป็นรายได้เข้าสู่ครอบครัวเช่นเดียว ซึ่งลูกกอจะให้ผลปีละ 1 ครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปี
นางสายใจ พุกบุญมี อายุ39 ปี ลูกสาวนายสถิตฯ ได้บอกถึงวิธีการคั่วลูกกอว่า เมื่อเก็บมาแล้ว จะนำมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วตากให้แห้ง ก่อนจะนำมาคั่วในกระทะด้วยไฟปานกลาง แล้วใช้ฝาครอบไว้ประมาณ 5 นาที จากนั้นก็เปิดฝาแล้วคั่วต่ออีกเล็กน้อย จากนั้นก็ตักออกจากกระทะมาวางไว้ให้หายร้อน แล้วใช้ของแข็ง มาทุบเปลือกให้แตกแล้วแกะเนื้อในมากิน บางคนที่มีฟันแข็งแรงก็ใช้ฟันขบได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อทุกคนได้กินจะบอกว่ารสชาติหวานมัน หรอยจังฮู้ ขณะที่บางคนบอกว่าลูกกอนั้น มีรสชาติอร่อยกว่าเกาลัดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเสียอีก
สำหรับต้นลูกกอ หรือเกาลัดปักษ์ใต้ มักจะขึ้นตามธรรมชาติ ตามป่าริมภูเขาทางภาคใต้ เป็นไม้ป่าที่ลำต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30 เมตร เป็นไม้หวงห้าม ตามพระราชกฤษฎีกา ไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 เนื่องจากเป็นไม้ผลที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางปกป้องสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เพราะส่วนใหญ่ชอบขึ้นตามป่าดิบเขา ตามที่ลาดชันสูง จึงเป็นกลุ่มพืชที่สำคัญที่ช่วยปกป้องการพังทลายของดิน รักษาอุณหภูมิและดูดซับความชุ่มชื้นเก็บไว้ในดินได้ดี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: