ฉะเชิงเทรา – ปลดล็อก รง.ขนาดใหญ่แล้ว หลังผู้ประกอบการยอมเดินตามแผนเผชิญเหตุ 4 มาตรการเข้มงวดตามคำสั่ง ศบค.จังหวัด ขณะประธานสภาอุดสาหกรรมรับลูก เตรียมผลักดันให้ทุกโรงงานในพื้นที่กว่า 2 พันแห่งเร่งเรียนรู้และปฏิบัติตาม หวั่นถูกคณะกรรมการโรคติดต่อมีคำสั่งปิดซ้ำรอยในหลายโรงงาน เหตุละเลยต่อมาตรการเข้มงวดของทางราชการ ในการป้องกันการระบาดของโควิด 19 จนกลายเป็นคลัสเตอร์โรงงาน
วันที่ 5 ส.ค.64 เวลา 16.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 48/2564 โดยมีนายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นประธานได้มีมติเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมที่เคยถูกคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา สั่งให้ปิดทำการเป็นเวลา 14 วันนั้น ในวันนี้ได้มีมติ เห็นชอบให้โรงงาน บริษัทไทยแอโรว์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 79 ม.4 ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
ข่าวน่าสนใจ:
ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าภายในรถยนต์ขนาดใหญ่ มีพนักงานจำนวนมากถึง 4,200 คน สามารถเปิดทำการได้แล้วหลังจากถูกสั่งปิดมานาน 17 วัน โดยทางบริษัทได้มีการเสนอแผนการปฏิบัติทั้ง 4 แผน ตามมาตรการของทาง ศบค.ฉะเชิงเทรา ที่กำหนดให้ทางโรงงานซึ่งเป็นคลัสเตอร์โควิด 19 ขนาดใหญ่ จะต้องมีมาตรการหรือแนวทางในการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุมาเสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อพิจารณาทั้ง 4 แผนก่อนจึงจะสามารถเปิดทำการได้
ซึ่งทางโรงงานแห่งนี้ได้เสนอแผนมาให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา พิจารณาแล้วดังนี้ คือ ทางโรงงานจะให้พนักงานที่มีความเสี่ยงต่ำจำนวน 1,050 คนเข้ามาทำงาน และจะให้ทำงานและพักอยู่แต่ภายในโรงงานเท่านั้น ในส่วนของพนักงานที่เหลือ ทั้งผู้ป่วย ผู้ที่ยังรักษาตัว และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น ให้กักตัวในสถานที่เหมาะสมและมีความรัดกุม ซึ่งทาง ศบค.ฉะเชิงเทรา ได้มีคำสั่งมอบหมายให้นายอำเภอบางคล้า เป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปตามแผนเผชิญเหตุในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19
ตามที่ทางโรงงานเสนอไว้ นับตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.64 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้โรงงานซีเอชโอโต้อินดัสตรี่ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 99 ม.1 ต.วังเย็น อ.แปลงยาว ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เช่นเดียวกัน เปิดทำการได้ตามที่ทางโรงงานเสนอแผนให้พนักงานจำนวน 234 คน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำเข้ามาทำงานและพักอยู่แต่ภายในสถานที่ที่ทางโรงงานจัดไว้ให้ จากพนักงานทั้งหมด 1,200 คน ส่วนพนักงานที่ยังป่วยและรักษาตัวอยู่ รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น ยังให้กักตัวอยู่ภายในสถานที่กักกันอย่างรัดกุม
โดยที่ประชุมมีการมอบหมายให้นายอำเภอแปลงยาว เป็นผู้กำกับดูแล เพื่อให้เป็นไปตามแผนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ตามที่ทางโรงงานเสนอมา นับตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.64 เป็นต้นไป ขณะเดียวกันคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา ยังมีมติในที่ประชุมให้การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ที่เป็นยี่ห้อตามที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองนั้น มีผลและนับจำนวนเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาด้วย และยังมีคำสั่งให้ปิดตลาดวัดท่าเกวียน ใน อ.พนมสารคาม เป็นเวลา 14 วัน
ระหว่างวันที่ 6–19 ส.ค. 64 หลังจากมีการตรวจพบการระบาดของโรคโควิด 19 ภายในตลาดแห่งดังกล่าว และในที่ประชุมยังได้มีการอนุมัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกจำนวน 3 แห่ง จากเดิม 10 แห่งจัดหาวัคซีนทางเลือก (ซิโนฟาร์ม) มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ได้อีกจำนวน 1.8 หมื่นโดสจากก่อนหน้า 1.6 แสนโดส รวม 178,000 โดส โดยในเดือน ส.ค.64 ศบค.กลางได้จัดวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 1 แสนโดสมาให้ยัง สสจ.ฉะเชิงเทรา
ซึ่งในจำนวนนี้มีวัคซีนไฟเซอร์มาด้วยจำนวน 4 พันกว่าโดส สำหรับฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล โดยวัคซีนหลัก 1 แสนโดสจะนำมาทำการฉีดให้แก่ประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมจำนวน 8 หมื่นโดส ส่วนอีก 2 หมื่นโดสจะเปิดให้ประชาชนวอร์คอินเข้ามาฉีดได้ ตามสถานที่ที่จะมีการกำหนดต่อไป
นอกจากนี้ยังได้มีการอนุมัติให้มีแผนตำบลเข้มแข็งซึ่งมีการจัดตั้งแล้ว 93 แห่ง โดยให้นายอำเภอท้องที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงหมู่บ้านจัดสรร จัดตั้งคณะทำงานประจำท้องที่โดยให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเข้ามาเป็นคณะทำงาน โดยมีเป้าหมายในการเอ็กซ์เรย์พื้นที่เพื่อให้ครอบคลุมทุกตำบลว่ามีผู้ติดเชื้อหรือไม่ หากมีต้องรีบให้การรักษา รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องมีสถานที่กักตัวที่เหมาะสมด้วย
ขณะเดียวกัน นายจิรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หลังจากทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีมติออกมาดังกล่าว จากนี้ไปจะได้เตรียมประสานงานไปยังสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา สำนักงานสาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อขอให้มีการจัดอบรมผู้แทนของโรงงานใน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้ได้รับทราบถึงการจัดทำแผนเผชิญเหตุ และแผนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
เมื่อมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในสถานประกอบการ เนื่องจาก จ.ฉะเชิงเทรา มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากถึงกว่า 2 พันแห่ง และเพื่อให้ทุกโรงงานจะได้เรียนรู้ และมีการวางมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะได้ไม่เกิดปัญหาจนถึงขั้นถูกสั่งปิดโรงงาน และส่งผลกระทบต่อด้านการผลิตต่อไป นายจิรทัศน์ กล่าว
–ล็อคพื้นที่แปดริ้ว ต่อเนื่องยาวนับเดือน ขณะ อบจ.ถอดใจวัคซีนซิโนฟาร์มทำวุ่น
–ล็อคพื้นที่แปดริ้ว กระทบนิคมฯ 4 แห่ง จ่อยื่นทบทวน ขณะผู้ว่ายืนตามเดิม
–สายด่วนแปดริ้วไม่ทิ้งกันได้ผล หลังลูกจ้างรง.โทรปูดนายจ้างเมินร่วมมือสกัดโควิด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: