นราธิวาส-เกษตรกรนราฯ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พลิกฟื้นผืนดินรกร้าง ทำการเกษตรผสมผสาน ต่อลมหายใจให้ชาวบ้านในยุค New Normal
จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายใหญ่รายย่อย รวมทั้งภาคเกษตรกรรม ซึ่งขณะนี้เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ทยอยหลั่งไหลสู่ผู้บริโภค แต่เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ รายล้อม ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ถอดใจ
แต่ ณ ผืนดินที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี ในพื้นที่ จ.นราธิวาส เกษตรกรรายหนึ่งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ฟื้นฟูจนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำสวนผสม จนเป็นต้นแบบ Smart Farmer
นายมะซากี มะแซ คือเกษตรกรผู้ที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ร่วมกับนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อฟื้นฟูดินโดยไม่ใช้สารเคมี จนสามารถกลับมาทำการเกษตรแบบผสมผสานได้อย่างครบวงจร ทั้งการเลี้ยงปลา, เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่, ปลูกมะนาว และปลูกผลไม้เศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดให้เป็นต้นแบบของการเกษตรผสมผสาน Smart Farmer ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้พื้นที่เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้ถ่ายทอดความรู้ ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ ได้นำไปปรับใช้ เพื่อสร้างอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
นายมะซากี มะแซ เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer จังหวัดนราธิวาส เล่าที่มาที่ไปให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เดิมทีไร่นาตรงนี้เป็นไร่นาสวนผสม จะทำฟาร์มล่วงเวลา โดยเอาเวลาว่างจากงานประจำมาทำการเกษตร โดยที่นี่เป็นหน้าร้านประมาณ 10 กว่าปี ตนเองได้เริ่มเข้ามาทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยเปลี่ยนที่ดินนาร้างแห่งนี้เป็นไร่นาสวนผสม ทำมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้มาแนะนำส่งเสริมและพัฒนาการทำสวนยุคใหม่ ให้คำแนะนำในส่วนของที่ดิน ซึ่งที่ดินตรงนี้เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมตลอดทั้งปี พอฝนตกหนัก น้ำก็จะท่วม เกษตรอำเภอระแงะได้ให้คำแนะนำในการปลูกผักยกแคร่ ซึ่งสามารถปลูกผักได้ตลอดทั้งปี ถึงแม้ว่าน้ำจะท่วมก็ตามผักก็จะไม่เกิดความเสียหาย สามารถปลูกผักไว้กินไว้ขายได้ตลอดทั้งปี
“การทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่
พลิกฟื้นผืนดินที่ถูกทิ้งร้างจากการทำนากว่า 10 ปี ซึ่งอยู่ในสภาพที่ผู้คนรอบข้างเห็นว่าไม่สามารถกลับมาทำการเกษตรได้ จึงได้มีการจัดการฟื้นฟูผืนนาร้างให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากการลองผิดลองถูก ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ปรับปรุงบำรุงดิน และทดลองปลูกหญ้าเนเปียร์ พืชอาหารเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้เลี้ยงโคแทนจากการปล่อยกินตามธรรมชาติ พบว่าได้ปริมาณและผลผลิตเพิ่มขึ้น มีการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่โดยไม่มีการใช้สารเคมี ทำให้ดินมีสภาพดีขึ้น จึงได้ปรับเปลี่ยน พื้นที่ยกร่องทดลองปลูกมะนาวโดยไม่มีการตัดแต่งกิ่ง แต่จะเพาะและขยายพันธุ์มะนาว ในส่วนของไม้ผลเศรษฐกิจได้มีการ ปลูกลองกองผสมผสานด้วยมะพร้าว สะตอ และกล้วยหอมทอง มีการปลูกไผ่กิมซุง ไผ่หวาน และพืชอีกหลากหลายชนิด มีการเลี้ยงปลาดุก ปลากินพืช และเลี้ยงเป็ด ไก่ เพื่อเสริมรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีการทำบัญชีรับจ่ายในครัวเรือน และนำไปปรับใช้ในการจัดการในสวนอีกด้วย”
นอกจากนี้นายมะซากียังกล่าวอีกว่า ตนเองใช้หลัก 3 พ. คือ พอมีพอกิน พอมี พอใช้ และพอมี พอประมาณ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นนาร้าง จึงเริ่มโดยการขุดยกร่องสวน และในส่วนของแปลงทำให้เป็นคลองไส้ไก่ ซึ่งตลอดทั้งปีแทบจะไม่ต้องรดน้ำเลยโดยจะมีน้ำซึมในส่วนจากใต้ดินซึมไปสู่ต้นมะนาวที่ปลูกไว้ ซึ่งจะไม่มีปัญหาในเรื่องของระบบน้ำเลย ใช้องค์ความรู้เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่หรือระบบเกษตรผสมผสาน (Integrated Farming System)
ซึ่งเป็นระบบการเกษตรที่มีการเพาะปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ หลายชนิดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ภายใต้การเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยหลักการอยู่ร่วมกันระหว่างพืช สัตว์และสิ่งแวดล้อม
ผลสำเร็จที่ได้จากการเป็น Smart Farmer คือสามารถสร้างรายได้ในสวนแห่งนี้ ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลง โดยเก็บผลผลิต อาทิ มะนาวเก็บทุกวัน วันละ 20 กิโลกรัม ใน 1 เดือนก็จะได้ประมาณ 500 กิโลกรัม อีกทั้งเก็บไข่ไก่ ไข่เป็ด นำไปจำหน่าย
อีกทั้งยังมีการขยายผลความสำเร็จของตนเองไปสู่ชุมชน เป็นเกษตรกรต้นแบบและจัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนเพื่อให้เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โรงเรียนในชุมชน และชุมชนใกล้เคียงมาศึกษาดูงาน เป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ด้านการทำการเกษตร แบบผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจได้นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในแปลงของตนเอง โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ไข่เป็ด ไข่ไก่ราคาสูงมาก สวนแห่งนี้จึงถือเป็นท่อน้ำเลี้ยงอย่างดีในการต่อลมหายใจให้ชาวบ้านในยุค New Normal
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: