นายศร ธีปฏิมากร ปศุสัตว์จังหวัดลำปาง เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ว่า ล่าสุดมีแนวโน้มการป่วยและตายลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในระหว่างวันที่ 16 – 22 สิงหาคม 2564 พบโคเนื้อป่วยจำนวน 143 ตัว โคนมป่วย 39 ตัว รวม 182 ตัว และโคเนื้อตาย 24 ตัว โคนมตาย 1 ตัว รวม 25 ตัว ขณะที่อัตราการหายป่วยของโคเนื้อและโคนมอยู่ที่ 176 ตัว โดยพบการระบาดในพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ พื้นที่อำเภอห้างฉัตร อำเภอเถิน อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเสริมงาม อำเภอแม่ทะ อำเภอเมืองปาน อำเภอเกาะคา อำเภอแจ้ห่ม อำเภอแม่พริก อำเภอแม่เมาะ อำเภองาว และอำเภอวังเหนือ
ทั้งนี้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปางได้ดำเนินการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น โดยประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เกษตรกร ในการเฝ้าระวังโรคลัมปี สกิน พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปิดตลาด งดการซื้อขาย และชะลอการเคลื่อนย้ายโค-กระบือ เข้า-ออกพื้นที่จังหวัดลำปาง ยกเว้นกรณีเคลื่อนย้ายเข้าโรงฆ่าสัตว์ภายในจังหวัด จนกว่าสถานการณ์ลัมปี สกิน ในพื้นที่จังหวัดลำปางจะลดลง นอกจากนี้ยังดำเนินการป้องกันและควบคุมแมลงพาหะดูดเลือด โดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบพ่นที่ตัวสัตว์และแบบราดหลังสัตว์ รวมทั้งประสานกับท้องถิ่นเพื่อพ่นยากำจัดแมลงในบริเวณพื้นที่ขนาดใหญ่ ตลอดจนชี้แจงและทำความเข้าใจเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างถูกต้อง เน้นย้ำให้ผู้บริโภคซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งขายที่น่าเชื่อถือ สะอาด และมีกระบวนการปรุงอาหารอย่างถูกสุขลักษณะโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค-กระบือ และไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน อัตราการป่วยมากกว่า 5% โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย โดยในโคนมอาจพบน้ำนมลดลง 25-65เปอร์เซ็นต์ โรคนี้มีแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ แมลงวันดูดเลือด และยุงเป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง ผ่านทางน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่เป็นโรค หรือผ่านทางรกได้
ข่าวน่าสนใจ:
- ขอนแก่น เอาจริงลุยปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด ในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น ได้ผู้ต้องหา 4 ราย หลังชาวบ้านแจ้งเบาะแส
- สุด! ใช้เกาะพิพาทไทย เมียนมาขนยาบ้าหวิดแสน และไอซ์ ไม่รอดมือทหารราชมนู
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- บุรีรัมย์ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ชี้ควรเพิ่มหลีกแข่งขันในไทยเชื่อเศรษฐกิจพุ่งแน่นอน (มีคลิป)
สำหรับการป้องกันโรคทำได้โดยการกำจัดแมลงพาหะนำโรค ด้วยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่นสำหรับสัตว์ทุกตัวในฝูง ปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่ง ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำหรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่ ตลอดจนกางมุ้งให้แก่สัตว์เพื่อป้องกันแมลงดูดเลือดหากเกษตรกรพบโค-กระบือ ป่วยและแสดงอาการผิดปกติ หรือสงสัยว่าเป็นโรคลัมปี สกิน ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ หรือกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ทันที เพื่อดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคเร็วที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: