X

เกษตรนครพนมถ่ายทอดความรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี เสริมการใช้สารชีวภัณฑ์

นครพนม – เกษตรนครพนมถ่ายทอดความรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี เสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพและได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีตามมาตรฐานของกรมการข้าวให้กับศูนย์ข้าวชุมชนต่างๆ ในกระบวนการผลิตตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม ณ ศูนย์สารสนเทศยางพารานครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม

โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 3 รุ่นๆละ 40 ราย ซึ่งในครั้งนี้มีเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วม จำนวน 120 ราย เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปทำการพัฒนาและยกระดับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ โดยการใช้สารชีวภัณฑ์ในการเพิ่มผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ด้านนางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี จะทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากใช้ในปริมาณน้อยกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ลดต้นทุนการผลิต เพราะผ่านการคัดเลือกรวงที่สมบูรณ์แล้ว จึงลดเชื้อโรคและการใช้สารเคมีกำจัดโรค ผลผลิตสูง และทำให้กำไรต่อพื้นที่มากกว่า เกษตรกรต้องเข้าใจ “ชั้นเมล็ดพันธุ์” เพื่อรู้ที่มาและการเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ ซึ่งชั้นเมล็ดพันธุ์ประกอบด้วย 1. เมล็ดพันธุ์คัด (breeder seed) เป็นชั้นเมล็ดพันธุ์สำหรับนักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งชาวนาสามารถเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ได้ โดยเฉพาะในภาคใต้ซึ่งใช้ “แกระ” เป็นเครื่องมือเก็บเกี่ยวที่สามารถคัดเลือกรวงสมบูรณ์ ถูกต้องตามพันธุ์ 2. เมล็ดพันธุ์หลัก (foundation seed) หลังจากคัดเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการแล้ว ได้เป็นเมล็ดพันธุ์หลักสำหรับปลูกขยาย 3. เมล็ดพันธุ์ขยาย (stock seed or registered seed) เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์หลัก สำหรับเกษตรกรที่จะปลูกเป็นแปลงขยายพันธุ์ และ 4. เมล็ดพันธุ์จำหน่าย (certified seed) เป็นชั้นเมล็ดพันธุ์เพื่อผลิตจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไป
การยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว

เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรมีหรือซื้อมานั้น ส่วนมากจะเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นขยายหรือชั้นจำหน่าย อาจมีคุณภาพไม่ดีพอ จึงจำเป็นต้องนำเมล็ดพันธุ์นั้นมาปรับปรุงและเก็บเมล็ดพันธุ์ต่อด้วยการปลูกแบบปักดำกล้าต้นเดียว และดูแลด้วยการตัดพันธุ์ปนตามระยะการเจริญเติบโต จะได้เมล็ดพันธุ์ชั้นขยายที่ดีกว่าเดิม การเพาะกล้าแบบวางรวงและปักดำแบบรวงต่อแถว โดยปักดำกล้าต้นเดียวร่วมกับการตรวจตัดพันธุ์ปนอย่างสม่ำเสมอทั้ง 5 ระยะ และปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ (ทำความสะอาดและลดความชื้น) สามารถยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในแต่ละชั้นเมล็ดพันธุ์ให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำเมล็ดพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้นด้วยการเลือกรวงที่สวย แข็งแรง มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ แล้วเก็บรวง 1,000 รวง ทำเป็นมัดๆ ละ 100 รวง นำไปเพาะกล้าแบบวางรวงและปักดำแบบรวงต่อแถว โดยปักดำ กล้าต้นเดียว ดูแลด้วยการตัดพันธุ์ปนจำนวน 5 ครั้ง ตามระยะการเจริญเติบโต เก็บเกี่ยวเป็นรวง จะได้เมล็ดพันธุ์หลัก“ตัดพันธุ์ปน” หัวใจการผลิตเมล็ดพันธุ์

การผลิตเมล็ดพันธุ์คัดซึ่งเป็นชั้นเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญสำหรับการได้ “เมล็ดพันธุ์ที่ดี” หัวใจสำคัญที่เกษตรกรต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอคือ การตัดพันธุ์ปนใน 5 ระยะ โดยพิจารณาจากลักษณะสำคัญเพื่อจำแนกพันธุ์ ได้แก่ ระยะกล้า ความแตกต่างของสีใบ ความสูง หรือเป็นโรค ระยะแตกกอ ความสูง สีของต้น ข้าวแดง ระยะออกดอก สีของรวง ความสูง ทรงกอ ระยะโน้มรวง สีของเมล็ด หาง ลักษณะของเมล็ดและรวงข้าว ระยะก่อนเก็บเกี่ยว (สุกแก่) สีของเมล็ด หาง ลักษณะของเมล็ดและรวงข้าว

สำหรับกิจกรรมในวันนี้นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีและได้มาตรฐานแล้ว ยังมีการถ่ายทอดความรู้การผลิตสารชีวภัณฑ์ที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีให้ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งฝึกปฏิบัติการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวเบื้องต้น และมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จากระบบตรวจสอบ GAP seed ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการกระบวนการผลิต และผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้กลุ่มเกษตรกรสามารถยกระดับคุณภาพการผลิตที่เป็นมาตรฐานและปลอดภัยในระบบเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนได้ในอนาคต

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน