X

เรื่องของคนเฝ้าเกาะ

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่อยู่ไกลๆ อย่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันนั้น ในหนึ่งปี จะมีช่วงปิดเกาะในฤดูมรสุมระหว่าง ๑๖ พฤษภาคม-๑๕ ตุลาคม หรือในหนึ่งปี เปิดให้ท่องเที่ยวได้ราว 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งในฤดูมรสุม การเดินทางจะมีอุปสรรค อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่อยู่ห่างไกลเหล่านี้ เลยถือโอกาสปิดเกาะ แต่สงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า ใน ช่วงเวลาที่ปิดเกาะกันเกินครึ่งปีนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั้งหลาย เขาทำงานอะไรกันบ้าง จะยกอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์มาเป็นตัวอย่าง

หินเต่า หินแม่ไก่
หินเต่า หินแม่ไก่

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีที่ทำการอุทยานแห่งชาติอยู่บนฝั่งที่ท่าเรือคุระบุรี ด้วยเนื้อที่ไม่มาก สำหรับเป็นพื้นที่ประสานงานติดต่อราชการ แต่เนื้อที่รับผิดชอบส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่กลางทะเล ห่างออกไปราว 60 กิโลเมตร บริเวณเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ และทะเลรอบๆเกาะทั้งสอง เนื้อที่รวมประมาณ 141.25 ตารางกิโลเมตร หรือ 88,282 ไร่ คิดเป็นพื้นที่น้ำประมาณ 67,688 ไร่ หรือประมาณ 108.30 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นพื้นที่น้ำประมาณ 76.67 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ และเนื้อที่บนพื้นดินประมาณ 20,594 ไร่ หรือประมาณ 32.95 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นพื้นดินประมาณ 23.33 เปอร์เซ็นของพื้นที่ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ปกครองของตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ประกอบไปด้วยเกาะต่างๆ 5 เกาะ ได้แก่ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรินลา หรือเกาะราบ) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา หรือเกาะมังกร) และเกาะรี (เกาะสต๊อร์ค หรือเกาะไฟแว๊บ)
อุทยานแห่งนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 30 ของประเทศ และเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลลำดับที่ 6 ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์โดยผนวกพื้นที่กองหินริเชลิว ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะสุรินทร์ไปทางตะวันออกประมาณ 15 กิโลเมตร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1245 ตอน 31 ก ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2550
การออกลาดตระเวนทางทะเล
การออกลาดตระเวนทางทะเล

สรรพคุณความสวยงามของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์นั้นคงไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นที่ลือเลื่องกันไปแล้วว่าเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่น้ำใสสะอาด หาดทรายขาวบริสุทธิ์ ทัศนียภาพที่สวยงามลงตัว และมีโลกใต้ทะเลที่สมบูรณ์เหมาะกับการดำน้ำตื้นดูปะการังใต้ทะเลเป็นที่สุด ทั้งยังมีชนเผ่ามอแกน (Moken) อาศัยอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อีกด้วย ซึ่งมอแกนอยู่ที่นี่มาก่อนการประกาศจัดตั้งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ด้วยซ้ำไป แต่แน่ใจว่ามีการมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในช่วงเวลาใด ในอดีตชาวมอแกนมีการตั้งบ้านเรือนโดยรอบหมู่เกาะสุรินทร์ มีการย้ายไปย้ายมาระหว่างอ่าวต่างๆ ตามความเหมาะสม ต่อมาเมื่อเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 บ้านเรือนของชาวมอแกนโดยรอบเกาะสุรินทร์ถูกคลื่นยักษ์ทำลายลง หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความช่วยเหลือโดยมีการสร้างบ้านให้และรวบรวมชาวมอแกนที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ทั้งหมดให้มาอยู่ในบริเวณเดียวกัน ณ อ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้ (วราพร อินต๊ะแสน,2551:38)
การออกสมาร์ทพาโทร ในป่าบนเกาะ
การออกสมาร์ทพาโทร ในป่าบนเกาะ

เหล่านี้เมื่อรวมกันจึงเป็นเสน่ห์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในแต่ละปีเป็นจำนวนมากมายและเป็นอุทยานแห่งชาติที่ให้มีการพักแรมบนเกาะได้ด้วย จึงได้รับความนิยมอย่างมาก ในช่วงที่เป็นฤดูท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่อุทยานฯก็จะวุ่นกับการดูแลนักท่องเที่ยว แต่พอกระทั่งถึงฤดูกาลปิดเกาะ นั่นเองจึงเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ได้มีเวลาทำงานในส่วนอื่นๆ กันบ้าง
งานปรับปรุงสถานที่ต้องมาก่อน การสร้าง ซ่อม สะพานทางเดินที่เคยชำรุด ห้องน้ำที่เคยได้รับแจ้งว่าอะไรเสียอะไรชำรุด ก็จะได้ซ่อมกันคราวนี้ หลังคาที่กิ่งไม้ตกใส่จนมีรอยรั่วก็ถึงคราวได้ปรับปรุง เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่มีบนเกาะเพียงเส้นเดียว จากช่องขาดไปยังอ่าวไม้งาม ที่อาจมีการชำรุด ก็จะได้มาติดป้ายบอกชื่อพันธุ์ไม้ สถานีศึกษาต่างๆ ตามเส้นทาง การปรับภูมิทัศน์บนเกาะ ทั้งย่านบ้านพักและบริเวณลานกางเต็นท์ การสแกนพื้นที่เพื่อเก็บขยะที่อาจถูกซุกซ่อน เหล่านี้จะได้รับการดูแลทั้งหมด
การซ่อมแซมบ้านพัก
การซ่อมแซมบ้านพัก

ปรับปรุงห้องน้
ปรับปรุงห้องน้

สแกนเก็บขยะบนเกาะ
สแกนเก็บขยะบนเกาะ

ส่วนเจ้าหน้าที่สาวตรวจ ก็ยังคงออกตรวจตราพื้นที่ป่าบนเกาะต่างๆ แม้กระทั่งการลาดตระเวนทางทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่บกพร่อง มีการเดินป่าสำรวจพืชพรรณมีค่าบนเกาะอย่างสม่ำเสมอ ในวันที่ฟ้าใสๆ คลื่นลมไม่มากก็จะมีการดำน้ำลึกเก็บขยะใต้ทะเล อย่างเช่นอวน ที่ขาดและคลุมปะการัง ก็จะถูกเก็บขึ้นมา
นอกจากนั้น ยังมีการฝึกอบรม เพิ่มความรู้ความสามารถในการทำงานทั้งการฝึกฝนการกู้ภัย การปฐมพยาบาล ก็จะต้องมีการทบทวนอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เวลาทำงานจริงเกดความผิดพลาดขึ้นได้
ลงตัดเศษอวนอ่าวเรือปู
ลงตัดเศษอวนอ่าวเรือปู

อบรมการปฐมพยาบาล
อบรมการปฐมพยาบาล

ในช่วงเวลาปกติ เคยมีเจ้าหน้าที่อยู่บนเกาะราว 40 คน ช่วงเวลาที่ปิดเกาะ เจ้าหน้าที่บนเกาะก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ทุกคนยังคงทำหน้าที่อย่าเข้มข้น รอการมาเยือนของนักท่องเที่ยวที่จะมาในวันเปิดท่องเที่ยวบนเกาะอีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม เป็นเช่นนี้ทุกปีไป
แม่ในยามที่ปีการปิดเกาะ หยุดการท่องเที่ยวในพื้นที่ แต่เจ้าหน้าที่อุทยาน ไม่ได้ว่างงานหรือหยุดพักแต่อย่างใด ยังคงทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรทางทะเลไว้อย่างเต็มกำลังความสามารถเช่นเดิม……

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน