X

ตรัง  ผ้าบาติกลายขอพระราชทานความภูมิใจของชาวชุมชนโต๊ะเมือง อ.กันตัง

ตรัง ผ้าบาติกลายขอพระราชทานความภูมิใจของชาวชุมชนโต๊ะเมืองบาติก อ.กันตัง เป็นที่นิยมของข้าราชการและประชาชน

ที่กลุ่มโต๊ะเมืองบาติก ต.บางหมาก อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตผ้าบาติก สินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว ที่มีชื่อเสียงที่สุดใน จ.ตรัง ขณะนี้ทางกลุ่มได้น้อมนำลายขอพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงออกแบบลายมัดหมี่พระราชทานช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ”  ที่ทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย  นำมาประทับลงบนผ้าบาติกของกลุ่ม ต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากบรรดาข้าราชการทุกระดับในจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก เพราะสามารถนำไปตัดเสื้อ หรือตัดชุดได้อย่างสวยงาม  ถือเป็นการอนุรักษ์ เป็นแบบอย่างในการส่งเสริมผ้าไทยในหมู่ประชาชนต่อไป สร้างอาชีพรายได้สู่ชุมชน  ทั้งนี้ การทำผ้าบาติกลายขอของกลุ่มโต๊ะเมืองบาติก อ.กันตัง ขณะนี้ต้องเร่งมือทำอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีคนสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก แต่ละผืนจะใช้เวลานาน  เพราะต้องวัด ตีเส้นแถว และประทับลายลงบนผ้าทีละแถว ๆ เพื่อทำชายผ้าเป็นอันดับแรก เฉพาะขั้นตอนการประทับแม่พิมพ์ลายลงบนผ้าใช้เวลาแต่ละผืนนานประมาณ 2.30 ชม.จากนั้นจึงจะนำไปขึง ทำการเคลือบน้ำยา ทาสีเข้มทับผืนผ้าทิ้งไว้ประมาณ 8-10 ชม.จึงจะล้างออกและต้มได้  เพื่อทำให้ลวดลายของผ้ามีความโดดเด่น สวยงามมากยิ่งขึ้น และนำไปตากให้แห้ง  ก็จะได้ชิ้นผ้าลายขอสีสวยหลายหลายสี  แต่ละผืนจะมีขนาด 2 หลา ในราคาจำหน่ายผืนละ 500 บาทเท่านั้น

นางสุภร พรมจิตร์ ประธานกลุ่มโต๊ะเมืองบาติก  กล่าวว่า  เริ่มก่อตั้งกลุ่มและผลิตผ้าบาติกมาตั้งแต่ปี  2546  ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดมาโดยตลอด โดยเริ่มจากการเขียนลายลงบนผ้าก่อน จากนั้นพัฒนาต่อยอดมาเป็นผ้าพิมพ์ลายลวดลายต่าง ๆ โดยเฉพาะพิมพ์ลายที่แสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น จังหวัดตรัง เช่น ผ้าพิมพ์ลายปะการัง ปลาดาว  ผ้าพิมพ์ลายพะยูน ผ้าพิมพ์ลายต้นและใบยางพารา  เป็นต้น  จนได้รับรางวัลเป็นสินค้า OTOP สุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยระดับ 5 ดาว ตั้งแต่ปี 2562  และได้ไปออกบูทส่งเสริมสินค้ากับหน่วยงานราชการในหลายจังหวัด จนเป็นที่รู้จัก ยอดสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก แต่ระยะหลังประสบปัญหาเรื่องของสถานการณ์โควิด จนไม่สามารถไปออกบูทจำหน่ายสินค้า เพื่อส่งเสริมการขายได้ และยอดการสั่งซื้อทั่วไปก็ซบเซาลงอย่างมาก  จนกระทั่งในปี 2564 นี้ ได้รับลายขอพระราชทานมาจัดทำ ทำให้ยอดการขายดีขึ้นอย่างมาก ผลกระทบยังมีอยู่คือ ไม่สามารถเดินทางไปออกบูทแสดงสินค้าส่งเสริมการขายได้ แต่สามารถขายออนไลน์ และขายในพื้นที่จังหวัดตรังได้  ซึ่งเมื่อทางกลุ่มผลิตผ้าได้สำเร็จ ปรากฏว่าได้รับความใจจากบรรดาข้าราชการ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ และพ่อค้า ประชาชน เป็นจำนวนมาก ที่สั่งซื้อนำไปตัดเสื้อ  ตัดชุดสวมใส่  ผืนละ 500 บาท ต่อผืนมี 2 หลา (หลาละ 250 บาท ) มีหลายสีให้เลือก  ใช้เวลาพิมพ์ลายตัวละประมาณ 2.30 ชม. แต่หากเสร็จทุกขั้นตอนต้องใช้เวลาประมาณ 2 วันต่อผืน  ทั้งนี้  นอกจากนั้นทางกลุ่มยังผลิตภัณฑ์จากผ้าบาติกที่หลากหลาย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าคลุมไหล่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าชิ้น กระเป๋า และอื่น ๆ  ทั้งนี้ พบว่าในจังหวัดตรังบรรดาข้าราชการ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการ จะซื้อผ้าไทย รวมทั้งผ้าลายขอมาสวมใส่เป็นจำนวนมาก และสวยงาม

โดยนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง   กล่าวว่า จังหวัดตรังกำหนดให้ข้าราชการสวมใส่ผ้าไทยสัปดาห์ละ 2 วัน คือ วันอังคาร และวันศุกร์ เพื่อร่วมสืบสานอนุรักษ์ความเป็นไทย  และเป็นแบบอย่างให้แก่ประชาชนสนใจใช้ผ้าไทยกันให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมกลุ่มอาชีพและช่วยยกระดับผ้าไทย โดยเฉพาะในจ.ตรังมีกลุ่มผลิตผ้าไทยหลากหลายกลุ่ม ทั้งบาติก ผ้าทอ ผ้าเพ้นท์   จึงขอเชิญชวนชาวจังหวัดตรัง หันมาสวมใส่ผ้าไทย เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าลายขอ ซึ่งเป็นลายผ้าพระราชทาน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านด้วย

อย่างไรก็ตาม  สำหรับผู้ในสนใจสิ่งซื้อผ้าลายขอพระราชทาน และสินค้าอื่นๆของกลุ่มโต๊ะเมืองบาติก  ติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์  089 – 3905925

สำหรับลายขอพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงออกแบบลายมัดหมี่พระราชทานช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ”  ที่ทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย อาทิ  ลาย S หมายถึง  Sirivannavari ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 10 ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผ้า  และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน