นครพนม – ศิษย์การบินฯ ยื่นหนังสือค้านตั้ง รก.คณบดี ว.การบิน ม.นครพนม ชี้ขัดข้อกำหนด TPM ขาดประสบการณ์ ยื่น 4 รายชื่อผู้เชี่ยวชาญให้คณะบุคคลพิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมานพ ชื่นชมบุญ อายุ 43 ปี บุคลาการวิทยาลัยการบินนานาชาติ(ว.การบินฯ) มหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) ตำแหน่งศิษย์การบิน ในฐานะผู้ได้รับฉันทามติให้เป็นตัวแทนนักศึกษา และพนักงาน ว.การบินฯ จำนวน 90 คน เดินทางมาพร้อมกับนายณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ์ ทนายความ เข้าพบ ร.ต.ท.(หญิง)มนัสนันท์ บุรีภักดี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม เพื่อแจ้งความลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน จากกรณีคณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภาฯและกรรมการสภา มนพ. ที่มีมติแต่งตั้ง ดร.ทัศนา ประสานตรี ซึ่งปัจจุบันรักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม (รก.อธก.มนพ.) ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดี ว.การบินฯ อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งการแต่งตั้งถือว่าเป็นมติที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะบุคลากรที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องมีคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนครพนม และระเบียบของวิทยาลัยการบินนานาชาติ มนพ. จึงได้ร่วมกันลงลายมือชื่อคัดค้าน เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
หลังลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานแล้ว นายมานพตัวแทนบุคลากร ว.การบินฯ เปิดเผยหนังสือขอคัดค้านและขอถอดถอน มติคณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภาฯและกรรมการสภา มนพ. โดยระบุข้อความว่า หลังจาก พล.อ.ต.นภาพล อาชวาคม รก.คณบดี ว.การบินฯ ครบวาระ 180 วัน ทางคณะบุคคลจึงได้แต่งตั้ง นายธานี ทุมประเสน พนักงานมหาวิทยาลัย ประเภทวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ ว.การบินฯ เป็น รก.คณบดีฯ ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 64 -18 กุมภาพันธ์ 65 แต่นายธานีได้ไปชี้แจงในที่ประชุมสภาฯและขอลาออกจาก รก.คณบดี ว.การบินฯ ในที่ประชุมจึงมีการแต่งตั้ง ดร.ทัศนา ประสานตรี แทนตำแหน่งที่ลาออก มีผลวันที่ 3 กันยายน 64 เป็นต้นมา แต่ทาง ว.การบินฯยังไม่เห็นหนังสือแต่งตั้งฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
ทั้งนี้ ในหนังสือคัดค้านยังระบุด้วยว่า ดร.ทัศนา ประสานตรี ตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่ง รก.อธก.มนพ.เป็นระยะเวลา 6 เดือนผ่านมาแล้ว ไม่มีการให้ความช่วยเหลือใดๆกับบุคลากร ว.การบินฯ ตลอดจนนักศึกษาศิษย์การบินเป็นรูปธรรม ไม่เคยแม้จะตรวจเยี่ยมให้ขวัญกำลังใจ ที่สำคัญ ดร.ทัศนา ประสานตรี ไม่มีคุณวุฒิและประสบการณ์ทางด้านการบิน ตามข้อกำหนดตาม Training Procedure Manual :TPM ของวิทยาลัยการบินนานาชาติ และไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.เดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 ว่าด้วยคณะกรรมการการบินพลเรือน ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการบินให้ปฏิบัติตาม กล่าวคือไม่มีคุณวุฒิด้านการบริหารและประสบการณ์ด้านการบินที่สามารถดำรงตำแหน่ง Accountable Executive :AE ได้
อีกทั้งมีการจัดผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณปี พ.ศ.2564 ประเภทสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยนครพนมได้ลำดับที่ 82 จากทั้งหมดที่มีจำนวน 83 สถาบัน ผลการประเมินไม่ผ่านได้เกรด C
โดยคณะเจ้าหน้าที่บุคลากร ว.การบินฯ ตลอดจนนักศึกษาศิษย์การบิน ต้องการได้ผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านการบินโดยตรง ที่ผ่านมาการแต่งตั้งถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯมาโดยตลอด ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นำบุคคลที่ขาดความเชี่ยวชาญด้านการบินมาบริหาร ถ้าเป็นเช่นนี้การบินจะเดินหน้าไปได้อย่างไร ทางคณะเจ้าหน้าที่บุคลากรฯ จึงได้เสนอรายชื่อบุคคลภายใน ว.การบินฯ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบินอย่างแท้จริง เพื่อให้คณะบุคคลฯพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รก.คณบดีฯ จำนวน 4 คน ได้แก่ 1.พล.อ.อ.อารมย์ ปัถวี 2.พล.อ.ท.สกันต์ สอนหลักทรัพย์ 3.พล.อ.ต.พีระเดช เกิดนาวี 4.พล.อ.ต.นภาพล อาชวาคม เนื่องจากบุคคลทั้งสี่มีความรู้ความสามารถถูกต้องตามข้อกำหนดฯและ พ.ร.บ.เดินอากาศทุกประการ ต่างจาก ดร.ทัศนา ประสานตรี ที่ไม่มีความรู้ความสามารถด้านการบินใดๆทั้งสิ้น จึงถือว่าขาดคุณสมบัติโดยสิ้นเชิง
นายมานพกล่าวต่อว่าหลังจากนี้ตัวแทนบุคลากร พนักงานและนักศึกษา จะยื่นหนังสือคัดค้านต่อคณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนนายก และกรรมการสภา มนพ. พิจารณาตามข้อเรียกร้อง หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะยกระดับไปสู่ชั้นศาลปกครองต่อไป
นอกจากนี้แล้วนายมานพยังกล่าวตอนท้ายว่า บุคลากรตลอดจนพนักงานยันภารโรง ว.การบิน ยังไม่ได้รับเงินเดือนย่างเข้าสู่เดือนที่ 8 ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เพราะทุกคนต้องกินต้องใช้ เคยมีคนระดับผู้บริหารรายหนึ่งเข้ามาพูดคุยใน ว.การบินฯ แทนที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจ หามาตรการเยียวยาช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อน กลับทุบโต๊ะแล้วบอกว่า”จะให้ผมไปขายตึกมาจ่ายเงินเดือนพวกคุณเหรอ?” นายมานพจึงกล่าวว่าในภาพรวมหากผู้บริหารมีสติปัญญาแค่นี้ ไม่ควรมานั่งบริหารงานใน มนพ.ให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
วิทยาลัยการบินนานาชาติ(International Aviation College, Nakhon Phanom University : IAC-NPU) จัดตั้งขั้นตามนโยบายของรัฐบาลปี พ.ศ. 2547 ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค กอรปกับการเปิดเสรีทางการบิน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนนักบินที่มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานสากล ต่อมารัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณจัดตั้งวิทยาลัยการบินนานาชาติขึ้นตามมติสภามหาวิทยาลัยนครพนม โดยออกประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 มีหน้าที่จัดการศึกษา ดำเนินการวิจัย และให้บริการทางวิชาการ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ และวิชาชีพด้านการบิน และอวกาศ วิทยาลัยการบินนานาชาติได้รับการรับรองให้เป็นสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน (Approved Training Organization: ATO) จากกรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2550
โดยเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตร นักบินพาณิชย์ตรี นักบินพาณิชย์ตรี CPL/IR/ME (หลักสูตรนานาชาติ),หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล นักบินส่วนบุคคล PPL (หลักสูตรนานาชาติ),หลักสูตรการบินด้วยเครื่องบินหลายเครื่องยนต์ การบินด้วยเครื่องบินหลายเครื่องยนต์ ME (หลักสูตรนานาชาติ),หลักสูตรการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน การบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน IR (หลักสูตรนานาชาติ),หลักสูตรครูการบิน ครูการบิน IP (หลักสูตรนานาชาติ)
ประกอบด้วย ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หลักสูตรอุตสาหกรรม (ปวส.)สาขาช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน,ระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.)สาขาวิชาการจัดการการบิน,ระดับปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บธ.ม.) สาขาวิชาการบริหารการบิน
นอกจากนี้ วิทยาลัยการบินนานาชาติ(ว.การบินฯ) มหาวิทยาลัยนครพนม ยังได้ชื่อว่าเป็น ว.การบินฯที่มีความพร้อมความสมบูรณ์กว่าวิทยาลัยในประเภทเดียวกัน กล่าวคือ มีทั้งเครื่องบินฝึกบิน ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ฯลฯ และมีสนามบินเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องไปเช่าสนามบินไหนใช้ฝึกบิน แทนที่ผู้บริหารจะนำสิ่งที่เหนือกว่า ว.การบินฯอื่น มาใช้ให้เกิดประโยชน์และเป็นหน้าตาของชาวจังหวัดนครพนม กลับใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องตักตวงผลประโยชน์จาก ว.การบินฯ ที่ในอดีตมีชื่อเสียงระดับต้นๆ มีนักศึกษาสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก ให้หล่นลงมาอยู่ท้ายตารางอย่างน่าเสียดาย จากนั้นก็ชงเรื่องยุบ ว.การบินฯ เพื่อล้างผิดบุคคลที่นำเงินออกไปกว่า 100 ล้านบาท ก่อนจะพลิกลิ้นในภายหลัง แม้จะอ้างว่าไม่มีการยุบก็ไม่ต่างจากถูกยุบ เพราะบุคลากรถูกปล่อยลอยแพ ด้วยการไม่จ่ายเงินเดือนยาวถึง 7 เดือน เข้าข่ายบีบให้ลาออกทางอ้อม
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บุคคลที่ชาว มนพ.ต้องการให้มาเป็นอธิการบดีฯมากที่สุด มีอยู่ 3 คน ได้แก่ 1.รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รศ.ดร.สุวิทย์ฯเป็นอดีตอธิการบดี มนพ. ที่ทำให้ มนพ.เฟื่องฟูสุดขีด แต่ไม่ถูกใจชายชราเพราะอธิการบดีท่านนี้ยอมหักไม่ยอมงอ จึงถูกชายชรากลั่นแกล้งจนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ภายหลัง รศ.ดร.สุวิทย์ฯ เดินหน้าเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากศาลสถิตยุติธรรม กระทั่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้คืนสิทธิทุกอย่างที่ รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ สูญเสียไปกว่า 11 เดือนกลับคืนมาดังเดิม จึงเป็นความหวังของคณาจารย์ บุคลากร มนพ.เป็นอย่างมาก ซึ่งหากคณะบุคคลฯมีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาภายใน มนพ. สมควรเชิญอดีตอธิการบดีท่านนี้มาบริหารงานอีกครั้ง
2.รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(เลขาธิการ ก.ค.ศ.) เป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนมอีกท่าน ที่ถูกแรงกดดันจากชายชราเจ้าเก่า จนประกาศลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีฯ ต่อหน้าคณาจารย์และลูกศิษย์ ในพิธีรดน้ำดำหัวขอพร เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนมเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา
3.ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร ตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิทยามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอีกท่านหนึ่งที่ถูกแต่งตั้งจาก สภา มนพ.(ในขณะนั้น) มารักษาราชการแทนอธิการบดี มนพ. แต่บริหารงานได้เพียง 7 วันก็ต้องยื่นหนังสือลาออก เนื่องจากมีอดีตผู้บริหารบางคน ซึ่งเป็นมือขวาของชายชรา ข่มขู่จะทำร้ายครอบครัวท่าน หากยังขืนอยู่เป็น รก.อธก.มนพ.
ทั้งหมดนี้เป็นรายชื่อที่คณาจารย์ ตลอดจนบุคลากร มนพ. ต้องการมาบริหารเพื่อกู้วิกฤตครั้งนี้มากที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: