X

วิทยาลัยเทคนิคตรังต่อยอดทำกรวยน้ำยางสดขาย กยท.

ตรัง การยางแห่งประเทศไทย จ.ตรัง จับมือกับวิทยาลัยเทคนิคตรัง และสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว  ต่อยอดผลงานการวิจัย ผลิตกรวยยางจากน้ำยางพารา  ซึ่งมีคุณภาพ ยืดหยุ่นสูงส่งขายให้กับสถาบันเกษตรกรและการยางแห่งประเทศไทย  ช่วยเหลือเกษตรกรสนองนโยบายส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ ลดพึ่งพาการส่งออก เชื่อจะช่วยกระตุ้นการใช้ยางและกระตุ้นราคายางพาราภายในประเทศให้ดีขึ้นได้

ที่แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง  นายสุรศักดิ์ เทพทอง  วิทยะฐานะครูเชี่ยวชาญ  แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ และนักศึกษาแผนกวิชาเทคโนโลยีการยาง ได้ร่วมกันผลิตกรวยยางพารา ตามโครงการส่งเสริมการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง และสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำนวน  500 ชิ้น  เพื่อส่งมอบให้กับการยางแห่งประเทศไทย โดยเกิดจากฝีมือของนักศึกษาที่ลงมือทำเองทุกขั้น ตามรูปแบบผลงานการวิจัยของวิทยาลัยที่คิดค้นสูตรจนประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้  และได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ สามารถใช้งานได้จริง ทั้งการนำไปเป็นเสาหลักนำทางบนถนน  หรือใช้ในองค์กรหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ที่ต้องการนำไปวาง เพื่อแสดงพื้นที่  โดยล่าสุด ทางวิทยาลัยและน้องๆศึกษา ได้ต่อยอดร่วมกันผลิต เพื่อส่งขายให้กับสถาบันเกษตรกรและการยางแห่งประเทศไทย  โดยอาจารย์และน้องๆ ได้ร่วมกันสาธิตขั้นตอนการทำ ทั้งนี้ สามารถทำได้ทั้ง 2 รูปแบบ คือ ระบบอบลมร้อน และระบบอบไอน้ำ  เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการนำน้ำยางสด มาผลิตเป็นน้ำยางคอมพาว ผสมกับสารเคมี และสีตามสูตรที่คิดค้น จากนั้นนำเทใส่แม่พิมพ์ นำไปอบในตู้อบไอน้ำที่อุณหภูมิ 100 องศา  เป็นเวลา 40 นาที  ก่อนจะนำออกมาแกะออกจากแม่พิมพ์ และล้างด้วยน้ำสะอาด เพื่อชำระสารเคมีที่ติดอยู่กับกรวย จากนั้นนำมาตัดตกแต่ง และทำการทาสี   โดยกรวยยางพารามีคุณสมบัติพิเศษกว่ากรวยยาง และกรวยพลาสติกทั่วไป คือ มีความยืดหยุ่นสูง มีอายุการใช้งานนาน  เหยียบไม่แตก ไม่กรอบแตกง่าย เมื่อโดนแดดหรืออากาศที่ร้อน

โดยนายสุรศักดิ์ เทพทอง  วิทยะฐานะครูเชี่ยวชาญ  แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง  กล่าวว่า  วิทยาลัยเทคนิคตรังเป็นหน่วยงานผลิต หลังจากประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัยผลงานนำน้ำยางสดมาผลิตเป็นนวัตกรรมกรวยยางพาราได้สำเร็จ  และมีคุณภาพ และสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง   และสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด เป็นเจ้าภาพให้วิทยาลัยผลิต  ทำให้สามารถต่อยอดผลงานวิจัยมาผลิตเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ให้แก่สถาบันเกษตรกรและการยางแห่งประเทศไทยได้สำเร็จ  ทั้งนี้ กรวยยางพาราที่ได้ ซึ่งได้มาตรฐาน ไม่เฉพาะใช้เป็นเสาหลักนำทางหรืองานด้านการจราจรเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้ได้ในหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ  ทั้งนี้ เพื่อนำน้ำยางสดของเกษตรกรมาใช้ตั้งแต่ต้นน้ำ ลดปริมาณน้ำยางสด ช่วยเหลือราคายาง ช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง  ขณะเดียวกันนักศึกษาซึ่งเป็นบุตรหลานของเกษตรกรชาวสวนยาง สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต  นอกจากนั้นทางวิทยาลัยกำลังศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นตามมา เช่น การผลิตถุงมือแม่บ้าน  เป็นต้น นายสมยศ น้ำแก้ว ผช.ผอ.ข.ด้านแผนและวิชาการ

นายสมยศ น้ำแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต ด้านแผนและวิชาการ การยางแห่งประเทศไทย (ภาคใต้ตอนกลาง) กล่าวว่า  ปี 2564 การยางแห่งประเทศไทย .มีนโยบายที่จะต่อยอดนำยางพาราไปใช้ประโยชน์และสร้างการรับรู้แก่ชุมชน สร้างภาพลักษณ์ให้เป็นรูปธรรม โดยกยท.เขตภาคใต้ตอนกลาง มีจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 6 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต ทั้งนี้ กยท.ได้สนับสนุนประมาณจังหวัดละ 800,000 บาท  เพื่อนำไปต่อยอด นำยางพาราไปใช้   เดิมชาวสวนยางพาราจะเก็บน้ำยางและขายในรูปน้ำยางสด จำนวน 54 เปอร์เซ็นต์  ในอดีตเกษตรกรจะผลิตเป็นยางแผ่นดิบแขวนเก็บไว้ เมื่อราคายางดีจะนำยางแผ่นที่เก็บไว้ออกมาขาย  แต่การเก็บน้ำยางสดขาย ส่งผลให้การควบคุมราคามีปัญหา  ดังนั้น กทย.ต้องเข้ามาแก้ปัญหาราคาน้ำยางสด ทั้งนี้ กยท.มีหน้าที่แก้ปัญหายางพาราครบวงจร ทั้งแต่ปลูก สถาบันเกษตรกร ตลอดจนถึงเรื่องผลิตภัณฑ์ยาง  เพราะผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยมีการส่งออกเป็นอันดับสาม  รองจากชิ้นส่วนรถยนต์ และ ด้านคอมพิวเตอร์ ฉะนั้นกยท.จึงต้องทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้เห็นรูปแบบและสามารถนำไปต่อยอดได้  ซึ่งสหกรณ์ย่านตาขาวเห็นด้วยกับโครงการนี้ หากโครงการนี้สำเร็จและสามารถเดินต่อไปได้ สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาวจะเดินต่อด้วยตัวเอง และสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว มีความสนใจจะตั้งโรงงานผลิตยางรัด ยางยืด และได้ปรึกษาเรื่องความเป็นไปได้ และงบประมาณกับอาจารย์แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง เบื้องต้นแล้ว ดังนั้น ตนคิดว่ากยท.มาถูกทางแล้วที่จะต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำยางพารามาแปรรูป

นายภิรมย์ หนูรอด ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดตรัง กล่าวว่า กยท.ตรัง ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคตรัง เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายของกทย.ในการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ  ด้วยการแปรรูปเป็นกรวยยางพารา โดยการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง อนุมัติงบประมาณจำนวน 800,000 บาท ให้สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว นำไปใช้ในการนำร่องแปรรูปน้ำยางสดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในอนาคตในส่วนของสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว  ก็จะต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ของตนเองด้วย     เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยเหลือผลักดันด้านราคาให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

ทางด้านนายนิด จันทร์พุ่ม ประธานสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด  กล่าวว่า ต้องขอบคุณกยท.และวิทยาลัยเทคนิคตรัง ที่ให้สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด ดำเนินโครงการนี้ เพราะจะเกิดประโยชน์กับชุมชนต่างๆจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ โดยดึงน้ำยางสดจากในตลาดมาทำ ทำให้ใช้ยางในประเทศมากขึ้น และหน่วยงานต่างๆก็ได้กรวยยางจากน้ำยางสดที่มีคุณภาพ ส่งเสริมเกษตรกร หลังจากนี้จะนำไปเสนอต่อหน่วยงานต่างๆในจ.ตรัง  ในอนาคตจะขอมติสหกรณ์ในการต่อยอดสนับสนุนให้วิทยาลัยเทคนิคผลิตกรวยยางให้แก่สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาวต่อไป ให้เป็นสินค้าของสหกรณ์ แต่ที่ต้องผลิตที่วิทยาลัยเทคนิค เพราะเครื่องมือพร้อม และนักศึกษาก็ได้เรียนรู้ด้วย  นอกจากนั้นทางสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาวเตรียมผลักดันให้มีการต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ตัวอื่นต่อไป เช่น ยางเส้น ซึ่งใช้กันทั่วไป เพื่อเป็นช่องทางในการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน