X

เกษตรกรชาวนาหว้าปรับแนวคิด จากพื้นที่ไม่เหมาะสมทำนาหันมาปลูกพืชผสมผสานให้เกิดประโยชน์

นครพนม – เกษตรกรชาวนาหว้าปรับแนวคิด จากพื้นที่ไม่เหมาะสมทำนาหันมาปลูกพืชผสมผสานให้เกิดประโยชน์ พร้อมสร้างรายได้ให้ครอบครัวตลอดปี

ในปัจจุบันนั้นการทำเกษตรผสมผสาน เป็นการทำเกษตรอีกรูปแบบหนึ่งของเกษตรยั่งยืน ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องนั่งรอรายได้จากพืชหลักเพียงอย่างเดียวและจากพื้นที่ทำนาเดิมที่ไม่มีความเหมาะสม จึงทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตไม่เต็มที่อย่างที่หวังไว้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาทำการเกษตรที่หลากหลาย สอดคล้องกับพื้นที่และชนิดพื้น จะยิ่งช่วยให้เกษตรกรสมารถผลิตพืชที่เหมาะสมและได้ผลผลิตที่คุ้มค่า จากพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการทำนา ประกอบกับการทำเกษตรแบบเดิมๆ ส่งผลให้ดินมีความเสื่อมโทรม ผลผลิตตกต่ำ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอนาหว้า และในพื้นที่จังหวัดนครพนมผันตัวเองจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวทำนาอย่างเดียว แบ่งพื้นที่มาทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชหลากหลาย และเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ที่มีตลอดทั้งปี

นายสังเวียน ก้อนกั้น อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า เปิดเผยว่า จากเดิมตนเองทำการเกษตรในพื้นที่นี้มานาน และมองเห็นปัญหาในการทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวในพื้นที่นี้ได้ผลผลิตที่ต่ำ อีกทั้งในบางปียังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควรประกอบกับราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน ตนจึงตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดหาพืชชนิดอื่นมาปลูกที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองมาปลูก เพื่อสร้างรายได้ จากโครงการส่งเสริมการปลูกไผ่เพื่อการค้า ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอนาหว้า ได้เชิญชวนให้เกษตรกรที่สนใจจะปรับเปลี่ยนพื้นที่หันมาปลูกไผ่กิมซุง เพื่อเสริมรายได้ ตนจึงเข้าร่วมการอบรมและได้รับต้นพันธุ์ไผ่มาปลูก ซึ่งเริ่มปลูกมาแล้ว 3 ปี เนื่องจากเห็นว่า เป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย มีความทนทาน ให้ผลผลิตได้เกือบตลอดทั้งปี ปลูกครั้งเดียวหากบำรุงรักษาดีสามารถเก็บผลผลิตได้นานหลายปี ให้ผลผลิตต่ำสุด 20 กก./ ไร่/วัน และสูงสุดมากกว่า 100 กก./ไร่/วัน โดยจะบังคับให้ผลผลิตออกนอกฤดู โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีหน่อไม้ตามธรรมชาติน้อย ทำให้มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 60 – 70 บาท จากนั้นในเดือนกันยายน ราคาก็จะเริ่มถูกลง ก็จะเริ่มพักต้น ในช่วงที่ไผ่แทงหน่อจะมีการเก็บหน่อทุกวัน โดยสลับแปลงในการเก็บหน่อ ในแต่ละวันจะเก็บได้ประมาณ 40 – 60 กก. / ไร่ หากผลผลิตออกมาก ขายหน่อสดไม่หมด ก็จะนำกลับมาแปรรูปเป็นหน่อไม้พร้อมปรุง หรือหน่อไม้ดอง แล้วนำกลับไปขาย หรือเก็บไว้ขายในช่วงที่หน่อไม้ขาดตลาด นอกจากขายหน่อแล้วยังสามารถขายลำต้น ตามขนาด 2 – 3 บาทต่อต้น และขายต้นพันธุ์ 20 – 30 บาท/ต้น สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เพิ่มขึ้น


ด้านนายผ่านณรงค์ ชัยปัญหา อีกหนึ่งเกษตรกรที่เปลี่ยนแนวคิด หันมาปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาที่ทำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีลักษณะเป็นดินลูกรังเป็นส่วนใหญ่ และถึงแม้จะสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตดี แต่ตนเองมองว่าในพื้นที่ที่ตนมีอยู่จะต้องไม่ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เลยลองปรับพื้นที่ทำการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่เป็นที่นิยม เช่น ทุเรียน ลิ้นจี่ นพ.1 มะม่วง มังคุด ขนุน เป็นต้น เน้นเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสานในพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงและช่วยสร้างรายได้เสริมจากการทำนาข้าว ซึ่งตนเองมองว่า ในปัจจุบันเกษตรกรจะต้องมีการปรับตัวและกล้าที่จะเปลี่ยนแนวคิดในการปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง เพื่อที่จะได้ผลผลิตที่คุ้มค่าและช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตร เป็นทางเลือก และทางรอดที่ของเกษตรกรในยุคปัจจุบัน


นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้ดำเนินงานโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตไม่เหมาะสม ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตลาดและตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหน่วยงานต่างๆภายในกระทรวงเกษตรฯบูรณาการร่วมกัน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมให้การสนับสนุนและส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการรับสมัครเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อถ่ายทอดความรู้การทำการเกษตรให้กับเกษตร เช่น การปลูกพืชที่เหมาะสม การสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชชนิดใหม่ที่เหมาะสม หรือเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งหากเกษตรกรปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำการเกษตร และปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่เหมาะสมในพื้นที่ของตนเองก็จะยิ่งช่วยให้เกษตรเกิดการลดต้นทุนการผลิต ได้รับผลผลิตตอบแทนที่คุ้มค่า และมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรที่สนใจจะปรับเปลี่ยนพื้นที่และเข้าร่วมโครงการฯ สามารถเข้าไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านได้แล้ววันนี้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน