X

‘ส่องนวัตกรรมกู้วิกฤตโลกรวน’

“ภาวะโลกรวน” ถือเป็นวิกฤตของโลกที่ส่งสัญญาณอันทรงพลังต่อมวลมนุษยชาติถึงความไม่จริงจังต่อการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีปริมาณสูงขึ้น จนนำมาสู่ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่สูญเสียสมดุล ทำให้หลายประเทศหันกลับมาตระหนักว่า เราไม่สามารถปล่อยให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปมากกว่านี้จนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ และนำมาสู่ความพยายามเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำในเวทีโลก

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงจัดเวทีเสวนาร่วมกับกูรูสิ่งแวดล้อมในสาขาต่าง ๆ เพื่อร่วมแบ่งปันทิศทางการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและแนวคิดนวัตกรรมสีเขียวที่จะมาช่วยกู้วิกฤตโลกรวนให้ดีขึ้น ในหัวข้อ “นวัตกรรมช่วยลดโลกรวน #รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต”

ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของไทย เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการตรวจวัดคุณภาพอากาศในโครงการ Sensor for All ที่ดำเนินโครงการโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่าย ชี้ให้เห็นว่านอกจากเรื่องของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 แล้ว ยังควรเดินหน้าต่อยอดในเรื่องของมลพิษที่เป็นแก๊สซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยการนำข้อมูลสิ่งแวดล้อมที่เก็บรวบรวมผ่านเซนเซอร์เป็น Big Data มาวิเคราะห์ประมวลผล เพื่อช่วยในการตัดสินใจและเลือกว่าคนไทยจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร รวมไปถึงการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างความยั่งยืนตามแนวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า เราคือเจ้าของปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน

หัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศและและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศคือ การเชื่อมโยงข้อมูลและบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ควบคู่กับการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกรวนใน 4 ด้านคือ

♦ การพัฒนาคน ต้องสร้างพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Pro-environmental behavior : PEBS) และส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดความตระหนักและการกระทำเพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

♦ เครื่องมือ การจัดทำแผนที่ความเสี่ยง (Risk map) ในการกำหนดพื้นที่เสี่ยงด้านคุณภาพอากาศ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำลังดำเนินการ หรือการนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เข้ามาใช้ในกระบวนต่าง ๆ

♦ โครงสร้าง ต้องพัฒนาแพลตฟอร์มในการจัดเก็บข้อมูลจากเซนเซอร์อย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลด้านคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมตลาดซื้อขายคาร์บอน (Carbon Market) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

♦ โครงการ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการต่าง ๆ กิจกรรม CSR ที่มุ่งเน้นในการสร้างพื้นที่สีเขียว รวมถึงการพัฒนาเกษตรตามแนวคิดโคก หนอง นาโมเดล

ด้าน ดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวถึงการดำเนินโครงการ “ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ซึ่งได้นำเทคโนโลยี IoT เซนเซอร์ และ Big Data เข้ามาตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วประเทศกว่า 8,000 จุด ทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก การตรวจวัดอุณหภูมิ ความกดอากาศ ความเร็วลม โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งผ่านด้วยเทคโนโลยี IoT ในรูปแบบเรียลไทม์และจัดเก็บข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลด้านคุณภาพอากาศของหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อบูรณาการข้อมูลและสามารถนำมาวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศ และนำข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์สามารถนำไปใช้เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในการปฏิบัติตนเมื่อมีปัญหามลภาวะทางอากาศ ใช้สำหรับการคาดการณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า รวมถึงเป็นข้อมูลสนับสนุนในการตัดสินใจเพื่อกำหนดนโยบายด้านคุณภาพอากาศของประเทศในอนาคต

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะอนุกรรมาธิการสภาฯ ด้านแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้ทัศนะว่า คนไทยไม่จำเป็นต้องเสียสละสุขภาพและอากาศที่ดีเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต เพราะทั้งสองสิ่งนี้สามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ โดยหยิบยกกรณีตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกาถึงความสำเร็จในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศด้วยกฎหมายสะอาด (Clean Air Act) ทั้งการใช้อำนาจตามกฎหมายและการนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับประเทศไทยก็ได้พัฒนานวัตกรรมเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กฝีมือคนไทยที่ชื่อว่า “Dust Boy” โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีความแม่นยำถึง 85% สามารถช่วยแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบและวางแผนจัดการความเสี่ยงกับฝุ่น

ส่วน ดร.นณธภัทร ธีระวรรธนะสิริ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จต้นแบบ “ระบบเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงฝุ่นควันอัตโนมัติ” ของเขตสุขภาพที่ 1 ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายที่จะช่วยกันเฝ้าระวังและส่งเสริมให้ประชาชนป้องกันฝุ่นควันด้วยตัวเอง โดยแบ่งเป็น 3 ระบบ คือ

1. Smoke Alert สำหรับแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นควันอัตโนมัติและแนะนำวิธีปฏิบัติตัว

2. ระบบผ่อดีดีโรงเรียน ซึ่งเป็นระบบสำหรับโรงเรียนหรือสถานศึกษาในแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นควันเพื่อการเฝ้าระวัง งดกิจกรรมนอกห้องเรียน และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวแก่นักเรียน

3. ระบบผ่อดีดีตำบล ซึ่งเป็นระบบสำหรับตำบลในการแก้ไขปัญหา ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการป้องกันหรือลดผลกระทบจากฝุ่นควัน ซึ่งหากสถานการณ์มีความรุนแรงก็จะแจ้งเตือนไปยังอำเภอหรือจังหวัดด้วย

ปัจจุบันเขตสุขภาพที่ 1 ของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกับมหาวิยาลัยเชียงใหม่พัฒนาแพลตฟอร์มไฮบริดข้อมูล PM 2.5 จากหน่วยงานต่าง ๆ มาใช้สำหรับการบริหารจัดการเชิงสุขภาพระดับพื้นที่ในอนาคตด้วย

ด้าน ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกรวนว่า กฟผ. สนับสนุนการเดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนตามนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศ มุ่งเน้นส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เพิ่มมากขึ้น โดย กฟผ. ได้นำร่องโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี และยังมีแผนขยายไปตามเขตเขื่อนทั่วประเทศรวม 2,725 เมกะวัตต์ รวมถึงการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Grid Modernization) การพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน สามารถจ่ายไฟได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV)  ที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนและปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

กฟผ. ยังมีนโยบาย EGAT Air Time ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายพัฒนาแพลตฟอร์มและรูปแบบการดำเนินการเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยขับเคลื่อนกลยุทธ์ T-I-M-E คือ

T : Tree & Tourism การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่ออากาศบริสุทธิ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย กฟผ. ตั้งเป้าปลูกป่า 1 ล้านไร่ในอีก 10 ปีข้างหน้า

I : Innovation พัฒนานวัตกรรมเพื่อดูแล ลดปัญหา และจัดการคุณภาพอากาศ

M : Monitoring ตรวจวัดและแสดงผลคุณภาพอากาศ เพื่อวางแผนป้องกัน ลดการปล่อย PM2.5 ให้มากขึ้น

E: Education & Engagement กฟผ. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสื่อสารองค์ความรู้ในการดูแลคุณภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และสร้างการมีส่วนร่วม

กฟผ. ยินดีและภูมิใจในการดูแลสภาพอากาศให้ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมต่าง ๆ ตลอดจนความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการติดตามและดูแลคุณภาพอากาศอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ คนไทยทุกคนก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกู้วิกฤตภาวะโลกรวนได้ด้วยการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ รอบตัวเรา  อาทิ การเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ปลูกต้นไม้ให้เพิ่มขึ้น สนับสนุนการใช้พลังงานหมุเวียน เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ร่วมสร้างอากาศบริสุทธิ์ เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"