กรมทางหลวงจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนระดับจังหวัด งานสำรวจและออกแบบปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 37 สายเลี่ยงเมืองชะอำ ขยายจาก4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร คาดใช้งบ 7,000 ล้านบาท เสร็จสมบูรณ์ปี 2569
วันนี้ (วันที่ 18 ตุลาคม 2564) ที่โรงแรม จี หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ มอลล์ ห้องเสลา อําเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายน้ำเพชร กิ่มสร้าง รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงประจวบคีรีขันธ์(หัวหิน) เป็นประธานเปิดจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนระดับจังหวัด งานสำรวจและออกแบบปรับปรุงปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 37 สายเลี่ยงเมืองชะอำ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ผู้แทนจากประชาชน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อสรุปผลการศึกษารวมทั้งรูปแบบการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร เพื่อพัฒนาเส้นทางให้มีความสะดวก ปลอดภัยส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว และการขนส่ง
นายน้ำเพชร กิ่มสร้าง รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงประจวบคีรีขันธ์(หัวหิน) กล่าวว่า ปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 37 เป็นทางเลี่ยงเมืองชะอําที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภาคกลางและภาคใต้ มีสถานที่สําคัญหลายแห่ง ทั้งพื้นที่ธุรกิจ และแหล่งท่องเที่ยวที่สําคัญ ทําให้เป็นเส้นทางที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น เกิดความไม่สะดวก และความล่าช้าในการเดินทาง เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ,ปีใหม่ จึงจําเป็นต้องมีการสํารวจ และออกแบบปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 37 ช่วงดังกล่าว และโครงข่ายทางหลวงใกล้เคียง ทําให้สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น
โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.0+000 บริเวณทางแยกต่างระดับชะอำ และสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.47+000 บริเวณทางแยกต่างระดับปราณบุรี-หัวหิน ระยะทาง 47 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และปริมารการจราจรในอนาคต เพ่อให้สามารถอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดผลกระทบต่อชุมชน และสภาแวดล้อมในแนวเส้นทาง
ทางหลวงหมายเลข 37 มีสภาพภูมิประเทศที่เส้นทางตัดผ่านเป็นพื้นที่ราบ เส้นทางส่วนใหญ่เป็นแบบนอกเมือง บางช่วงจะมีชุมชน สถานประกอบการและสถานที่ราชการ อยู่บริเวณริมเขตทาง ปัจจุบันทางหลวงโครงการเป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับทิศทางละ 2 ช่องจราจร) เกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) ความกว้าง 17.60 เมตร ผิวทางทั่วไปเป็นผิวประเภทแอสฟิลท์ติกคอนกรีต ยกเว้นบริเวณทางแยกเป็นผิวคอนกรีตเสริมเหล็ก กรมทางหลวงมีแผนงานที่จะพัฒนาปรับปรุงและแก้ไข จากทางหลวง 4 ช่องจราจร เป็นทางหลวง 6 ช่องจราจร (ไป-กลับทิศทางละ 3 ช่องจราจร)
โดยมีรูปแบบของการออกแบบทางแยกต่างระดับในจุดต่างๆ เป็นทางลอดและวงเวียนพร้อมทางกลับรถใต้สะพาน การออกแบบจัดการจราจรท้องถิ่นและการกลับรถ ประกอบด้วย รูปแบบที่ 1 รูปแบบจุดกลับรถแบบสะพานบก,รูปแบบที่ 2 รูปแบบจุดกลับรถใต้สะพานข้ามคลอง และรูปแบบที่ 3 รูปแบบจุดกลับรถแบบท่อลอดเหลี่ยม รวมทั้งการออกแบบระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า ปรับภูมิทัศน์ และส่วนประกอบทางหลวงอื่น มีค่าก่อสร้างประมาณ 7,000 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้า 3 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 แล้วเสร็จประมาณปี 2569
ขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษา และออกแบบรายละเอียดโครงการ รวมทั้งรูปแบบทางหลวง การออกแบบจัดการจราจรท้องถิ่น ออกแบบสะพานทางลอด รูปแบบจุดกลับรถ และระบบระบายน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นการรับทราบข้อมูลอย่างเนื่องจึงได้กำหนดให้มีการประชุมสัมมนาครั้ง 3 เพื่อสรุปผลของการศึกษาทั้งหมดให้ผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบผลการศึกษา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประกอบการออกแบบให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: