นครพนม – ดร.พรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา รก.อธิการบดี ม.นครพนม ให้สัมภาษณ์สื่อเร่งแก้ไข 3 ปัญหา ว.การบิน พร้อมเดินหน้าพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับ ย้ำไม่ยุบวิทยาลัยการบินแน่นอน
สืบเนื่อง ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม เปิดประชุมสภาฯครั้งแรก หลังมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ พร้อมกรรมการสภาฯผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 13 ราย โดยหลังโปรดเกล้าฯ ได้เปิดประชุมสภาฯครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมฯ โดยกรรมการสภาฯ มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก ดร.พรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา กรรมการฯผู้ทรงคุณวุฒิ ขึ้นดำรงตำแหน่ง รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม (รก.อธก.ฯ) แทน ผศ.ดร.ทัศนา ประสานตรี ที่ครบวาระในวันที่ 7 ตุลาคม 2564
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อขอเข้าพบ ดร.พรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา รก.อธก.ฯ เพื่อสัมภาษณ์ในการตอบรับตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับความกรุณาเปิดประตูสำนักงานอธิการบดีฯต้อนรับเป็นอย่างดี หลังจากห่างหายไปช่วง รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีฯ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
ข่าวน่าสนใจ:
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
ดร.พรหมสวัสดิ์ฯ เปิดเผยว่าปี 2558 เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยนครพนมมาแล้วครั้งหนึ่ง การกลับมามหาวิทยาลัยฯแห่งนี้เหมือนกลับมาบ้านที่เคยอยู่อู่ที่เคยนอน ซึ่งการที่ ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ นายกสภาฯ เลือกให้มาดำรงตำแหน่ง รก.อธก.ม.นครพนม ก็ไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน แต่เมื่อท่านไว้วางใจก็จะขอทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด โดยระหว่างรอการสรรหาอธิการบดีตัวจริงนั้น ตนมีวาระรักษาการตามระเบียบ 180 วันหรือ 6 เดือน จะไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น
ปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขคือจ่ายเงินเดือนแก่ บุคลากร เจ้าหน้าที่ พนักงานวิทยาลัยการบินนานาชาติ (ว.การบิน) ที่ค้างจ่ายมานานถึง 9 เดือน โดยจะแบ่งแยกเป็น 3 งวด และโรงเรียนสาธิตฯอีก 4 เดือน ปัญหาที่พบตอนนี้คือตัวเลขกับตัวเงินยังไม่ตรงกัน และมีคำถามว่า ม.นครพนมมีเงินจ่ายไหม ขอตอบเลยมีเงินแต่ถูกแบ่งไปคณะต่างๆหมดแล้ว จึงต้องให้ทาง ว.การบินมีหนังสือขอยืมเงินจากคณะเหล่านั้นมาบรรเทาความเดือดร้อน อีกอย่างเราต้องทำตามระเบียบด้วยส่วนหนึ่ง กล่าวคือ การจ่ายเงินค่าตอบแทนแก่บุคลากร เจ้าหน้า พนักงาน ว.การบินฯ เงื่อนไขในการก่อตั้งระบุไว้ว่าต้องเป็นเงินรายได้ของ ว.การบิน เพราะ ว.การบินถูกตั้งขึ้นมาจากมติสภามหาวิทยาลัยนครพนม จึงไม่เหมือนกับคณะอื่นๆ โดยหลังตั้งรัฐบาลมีเงินอุดหนุนจนถึงปี 2564
“ระบบมีระเบียบแบบแผนชัดเจน ปัญหาคือใช้เงินไม่มีแบบแผน ถ้าหากจะนอกแผนเราต้องมาหารือกันในสภาฯ วันที่ 31 ตุลาคมนี้จึงมีประชุมสภาฯ เพื่อตรวจสอบสถานะการเงิน การบัญชี และการจัดซื้อจัดจ้างฯ” รก.อธก.ม.นครพนม กล่าว
ขณะเดียวกันก็ขอยืนยันว่า จะไม่มีการยุบ ว.การบิน และจะไม่มีการโอนศิษย์การบินไปเรียนสถาบันอื่น ทุกคนต้องจบที่ ว.การบินแห่งนี้ หลังจากแก้ไขปัญหาด้านการเงินและศิษย์การบินเข้าที่เข้าทางแล้ว ก็ต้องเร่งฟื้นฟูให้ ว.การบินกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งผู้สื่อข่าวถาม รก.อธก.ม.นครพนม ว่า มีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหนที่มีคนพูดว่า ว.การบินเป็นสถาบันศึกษาด้านการบินที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ดร.พรหมสวัสดิ์ฯตอบอย่างไม่ลังเลว่าเป็นเรื่องจริง
ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า ที่ผ่านมามีผู้บริหารหลายชุดไม่ยอมแก้ไขปัญหาของ ว.การบิน เช่น การจ่ายเงินเดือน หรือการนำเงินออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เป็นต้น ซึ่ง รก.อธก.มนพ. ไม่ขอตอบคำถามนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ นายกสภาฯ ได้ให้นโยบายจงเดินไปข้างหน้าพัฒนา ม.นครพนมให้เป็นที่ยอมรับ ส่วนข้างหลังมีกระบวนการตรวจสอบหลายหน่วยงานอยู่แล้ว การหาตัวผู้กระทำผิดจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายตรวจสอบ
นอกจากนี้ ดร.พรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การเลือกรองอธิการบดีฯ จำนวน 5 คน ในวันที่ 31 ตุลาคมฯ ยอมรับว่าใน ม.นครพนมมีคนเก่งอยู่หลายท่าน จึงคัดเลือกคนภายในไว้ 3 คน และได้เชิญบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ จำนวน 2 คน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ เนื่องจากต้องขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยก่อน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: