กรุงเทพฯ – ศบค. เร่งฉีดวัคซีนชายแดนภาคอีสาน หลังพบฉีดค่อนข้างน้อย แนะผู้ประกอบการสำรวจความต้องการของแรงงานต่างด้าว ส่วนภาคการศึกษา เปิดเทอมไม่ต้องตรวจ ATK แบบปูพรม และไม่ต้องปิดยกชั้น ถ้าพบเชื้อให้สอบสวนโรคทันที
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า ศบค.ชุดเล็ก หารือถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน โดยเฉพาะติดขอบชายแดนในภาคอีสาน ที่เทียบกับในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ มีการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อย รวมทั้งพื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัดรับนักท่องเที่ยว เป้าหมาย 70% ซึ่งในตลาดเดือน พ.ย. เป้าหมายวัคซีนทั่วประเทศต้องครอบคลุม ประชากร 70% ขอให้จังหวัดพื้นที่สีฟ้าเร่งฉีดวัคซีนให้ทัน เพราะช่วงนี้วัคซีนมีปริมาณเพียงพอ
นอกจากนี้ ยังหารือแนวทางบริหารจัดการวัคซีนในแรงงานต่างด้าว เมื่อวัคซีนเพียงพอแต่ละจังหวัด จะประกาศให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวในการดูแล มารับการฉีดวัคซีน รวมถึงแรงงานประมง ขอให้ผู้ประกอบการทุกด้านสำรวจความต้องการ หากมีแรงงานที่ยังตกหล่น ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดสรรวัคซีนให้ครอบคลุมต่อไป โดยเฉพาะในเดือน พ.ย.นี้ ที่จะมีวัคซีนทั้งสิ้น 24 ล้านโดส เข้ามาในประเทศ เมื่อวัคซีนเพียงพอ ครอบคลุมประชากรไทย จะเริ่มฉีดให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในภาคธุรกิจ หากเขาปลอดภัย ก็เท่ากับสังคมไทยปลอดภัยด้วย
สำหรับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม เพื่อตอบโต้สายพันธุ์เฉพาะ ที่แพร่ระบาดในพื้นที่
ศบค. พบคลัสเตอร์ใหม่ข้ามพื้นที่ ห่วงงานกฐิน-แรงงานข้ามชาติ
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวต่อว่า ศบค.เป็นห่วง ช่วง พ.ย.นี้ เป็นเดือนที่มีงานบุญทอดกฐิน ที่ผ่านมา เทศกาลบั้งไฟ จ.หนองคาย มีรายงานผู้ติดเชื้อ ทั้งในจังหวัดและข้ามพื้นที่ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ จ.อุดรธานี ไปด้วย
ที่อุดรธานี ยังมีการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งตอนนี้หลาย ๆ จังหวัดอนุญาตให้แข่งขันกีฬาได้ จึงขอเน้นย้ำให้ทางจังหวัด ผู้จัด รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ แม้ให้จัดงานทางวัฒนธรรมได้ แต่คงเน้นย้ำมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ทั้งการคัดกรอง การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
คลัสเตอร์ที่รายงานวันนี้ นอกจากงานศพแล้ว ยังมีงานแต่งงานที่มีผู้ติดเชื้อที่ จ.เชียงใหม่ แคมป์คนงาน ที่พักคนงาน ที่ จ.ชลบุรี นครนายก และเชียงใหม่ รวมทั้งประจวบคีรีขันธ์ ที่เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ยังมีคลัสเตอร์ โรงเรียนและวิทยาลัยด้วย
เปิดเทอมไม่ต้องตรวจ ATK แบบปูพรม หากพบเชื้อให้สอบสวนโรคทันที
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงการเปิดเทอม 1 พ.ย.ว่า ตามข้อกำหนดฉบับที่ 34 กระทรวงศึกษาธิการประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียน ระบุเรื่องการคัดกรองและตรวจหาเชื้อโควิดในโรงเรียน คือ ต้องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.กำหนดได้ตามความเหมาะสมของการระบาดในพื้นที่ แยกระดับอำเภอและจังหวัด รวมถึงความถี่ในการตรวจ ATK ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
เน้นย้ำว่าไม่ใช่การตรวจนักเรียนทุกคน ไม่จำเป็นต้องตรวจแบบปูพรม ไม่จำเป็นต้องตรวจสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่จะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่นั้น ๆ แนะนำให้ตรวจในนักเรียนกลุ่มเสี่ยง เช่น มีประวัติที่คนในบ้านติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โรงเรียนก็อาจจะใช้มาตรการขอให้นักเรียนหยุดเรียน อาจจะต้องสื่อสารกับผู้ปกครอง และหากมีการติดเชื้อในครอบครัว เด็กอาจต้องอยู่บ้านกักตัวให้ครบ 14 วัน
ส่วนครูและบุคลากรในสถานศึกษา จะต้องประเมินตนเองด้วย ‘ไทยเซฟไทย’ ของกรมอนามัย ว่ามีไข้ มีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจหรือไม่ รวมไปถึงประวัติผู้ใกล้ชิดหรือสัมผัสบุคคลเสี่ยง และขอให้ผู้ปกครองประเมินตนเองทุกวันเช่นกัน
เมื่อมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดแล้ว หากเกิดการติดเชื้อในโรงเรียน ขอให้ผู้บริหารโรงเรียน หรือคณะกรรมการโรคติดต่อ พิจารณาอย่างรอบคอบว่า การปิดโรงเรียนอาจจะไม่ใช่คำตอบ แต่จะต้องสอบสวนโรคทันที เพื่อมาตรการจัดการที่ชั้นเรียนที่มีความเสี่ยง หรือกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยง ก็จะเลือกปิดเฉพาะชั้นเรียน หรือเฉพาะครูที่มีความเสี่ยงในการสัมผัส ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: