กรุงเทพฯ – ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘อานนท์-ไมค์-รุ้ง’ ล้มล้างการปกครอง พร้อมให้ทั้งสามและเครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวในอนาคต แต่รุ้ง ยืนยัน การผลักดันยกเลิกมาตรา 112 ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ขอเดินหน้าต่อ
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 หลังศาลรัฐธรรมมนูญ อ่านคำนิจฉัยคดีที่ นายณฐพร โตประยูร ยื่นร้องกลุ่มราษฎร ได้แก่ นายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 และ น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 กรณีการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง และมีการกระทำอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ ปลุกระดมใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ บ่อนทำลาย ใช้สิทธิไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ยุยง ปลุกปั่น มีเจตนาซ่อนเร้นการล้มล้างการปกครอง ไม่ใช่การปฏิรูป
ศาลจึงสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสาม กลุ่มองค์กร และเครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 2
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยแล้วเสร็จ น.ส.ปนัสยา ได้อ่านแถลงการณ์ต่อหน้ากลุ่มผู้ชุมนุม ที่ปักหลักฟังคำวินิจฉัยภายนอกอาคารศูนย์ราชการ โดยสรุปว่า ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้ง 10 ข้อ ล้วนเป็นการเสนอด้วยเจตนาสุจริต ที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีความชอบธรรมและสามารถดำเนินอยู่ได้อย่างสง่างามตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ขอยืนยันว่า การผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ด้วยเหตุว่าประชาชนอันเป็นแหล่งที่มาของประชาธิปไตย ย่อมเป็นผู้ทรงอำนาจในการสถาปนาและแก้กฎหมายทั้งปวง ตามมาตรา 133 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอยืนยันในข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ข้อ รวมถึงให้ยกเลิกมาตรา 112 ต่อไป จนกว่าข้อเรียกร้องจะสำเร็จ
‘ทนายผิดหวัง’ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทนายฝ่ายผู้ถูกร้อง ระบุว่า ผิดหวังต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อวินิจฉัยนี้สังคมควรจะตรวจสอบ นานาชาติควรจะตรวจสอบ และควรมีคำตัดสินจากศาลใดศาลหนึ่งว่า มีผลบังคับไม่ได้ ขอส่งสัญญาณไปยังนักกฎหมายระดับชาติ ตุลาการทุกศาลว่า เห็นอย่างไรต่อคำสั่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ขอย้ำว่ามาตรา 49 สั่งให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามผู้ถูกร้องไปดำเนินการใด ๆ ที่ถูกกล่าวหา ไม่ใช่สั่งห้ามให้กระทำการแบบนี้อีกครั้งต่อไปในข้างหน้า และรวมทั้งไม่ได้ห้ามผู้ที่ไม่ถูกกล่าวหาในคดีด้วย และยอมรับว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้การทำงานตามกระบวนการทางกฎหมายของกลุ่มผู้ถูกกล่าวหายากลำบากมากขึ้น แต่จะขอศึกษารายละเอียดในคำวินิจฉัยต่อไป
ขอบคุณภาพประกอบจาก : iLaw
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา 15.00 น. วันนี้ (10 พ.ย. 64) ศาล รธน. วินิจฉัยม็อบ 10 ส.ค. 63 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่?
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: