กระบี่-“สุพัฒนพงษ์” ลงกระบี่ ตรวจโครงการงบกองทุนอนุรักษ์พลังงาน “เกาะฮั่ง-บ้านไหนหนัง”
วันที่ 16 พ.ย.64 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน นำคณะผู้บริหาร จนท.กระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ จ.กระบี่ ตรวจติดตามความสำเร็จ 2 โครงการด้านพลังงาน คือ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนเกาะฮั่ง พื้นที่ หมู่ 4 ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง และโครงการเพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการและจัดการพลังงานชุมชนครบวงจร วิสาหกิจชุมชนบ้านไหนหนัง ต.เขาคราม อ.เมืองกระบี่ เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก
ข่าวน่าสนใจ:
- ชวนร่วมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ "อ่าวมะขามป้อมเคาท์ดาวน์ 2025" ชมพลุสายรุ้งตระการตายาว 15 นาที
- ศึกชิงเก้าอี้ "นายก อบจ." เดือดแน่..ลุ้นใครล้มช้าง 5 สมัย?
- บุรีรัมย์ ชวนเที่ยว งานช้างเคาท์ดาวน์ 2025 และงานกาชาดบุรีรัมย์เริ่มแล้ว รางวัล กิจกรรมเพียบ
- เพชรบูรณ์ปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ระดมกวาดล้างอาชญากรรม ช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่ 2568
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.กระบี่ ครั้งนี้ มีภารกิจตรวจราชการก่อนการเข้าร่วมประชุม ครม.สัญจรที่ จ.กระบี่ คือติดตามการดำเนินโครงการด้านพลังงาน 2 โครงการ คือ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับที่พักอาศัย ณ เกาะฮั่ง ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณกว่า 9 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2564 ติดตั้งระบบ Solar home ขนาด 600 วัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ ให้กับชาวบ้านจำนวน 161 ครัวเรือน ที่ประสบปัญหาไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยมั่นใจว่าหลังการดำเนินการโครงการแล้วเสร็จประชาชนในพื้นที่จะมีพลังงานเพียงพอในการดำเนินชีวิตประจำวัน สร้างประโยชน์ด้านการศึกษาของเยาวชน การประกอบอาชีพ และการต่อยอดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างงาน สร้างรายได้นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
ส่วนอีกโครงการคือโครงการเพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการ และจัดการพลังงานชุมชนครบวงจรในวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านไหนหนัง ต.เขาคราม อ.เมืองกระบี่ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม จากงบแผ่นดินปี 2562 วงเงินประมาณ 100,000 บาท จากการใช้เทคโนโลยี โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ อาทิ ปลาแดดเดียว กะปิ ปลาเค็ม และชาใบขลู่ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์สามารถออกสู่ตลาดได้ในวงกว้าง เช่น ปลาทูสด จากเดิมจำหน่ายได้เพียง กก.ละ 20 บาท แต่หลังจากนำมาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวสามารถจำหน่ายได้ในราคา 130-150 บาทต่อ กก. ปัจจุบันทางกลุ่มมีรายได้จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์นี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 12,000-13,000 บาทต่อเดือน
“นโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงพลังงาน จึงได้ขับเคลื่อนภาคพลังงานให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว ด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูป และการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มรายได้ของชุมชน โดยทั้ง 2 โครงการ ถือเป็นการขับเคลื่อนที่คู่ขนานกัน ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเพิ่มศักยภาพทางด้านอาชีพ และยกระดับรายได้ครัวเรือนของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนให้เข้าถึงชุมชนในพื้นที่เกาะฮั่ง ด้วยการมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ชุมชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และมีความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ขณะเดียวกันการพัฒนาดังกล่าวก็ยังคงไว้ซึ่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดั้งเดิมของชุมชนด้วยเช่นกัน” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: