ตรัง ผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่า ที่นักท่องเที่ยวมาเยือนบ่อหินแล้วต้องซื้อกลับไป ได้นำความโดดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนมาพัฒนาเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ที่นี่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อำเภอสิเกา บ่อหินฟาร์มสเตย์ วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด จะมีผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก มีลวดลายสีสันบนผืนผ้าของท้องทะเล ได้แก่ กุ้ง หอย ปู ปลา เติมสีสันเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์ปลาเค็มกางมุ้ง ซึ่งการทำปลาเค็มไว้กินก็เป็นภูมิปัญญาทางด้านการถนอมอาหารที่มีมาช้านาน จึงนำไปสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ปลาเค็มกางมุ้งเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จักสานเตยปาหนัน บ่อหิน เป็นเครื่องจักสานอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนชายฝั่ง นำเสนอแนวคิดการย้อมสีที่สะท้อนความงดงามของทะเลตรังผ่านฝีมืองานสานเตยในรูปแบบกระเป๋าสมัยใหม่โดดเด่นที่การนำวัสดุผ้าทอมาตัดเย็บผสมผสานกับงานจักสานเตยปาหนัน เพิ่มคุณประโยชน์กับความทนทานให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น
แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อำเภอสิเกา บ่อหินฟาร์มสเตย์ วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด เมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือนสิ่งที่พลาดไม่ได้จะต้องเยี่ยมชมวิถีชุมชนของบ้านพรุจูด ต. บ่อหิน อ. สิเกา จ. ตรัง ที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเลือกสรรซื้อเป็นของฝากกลับไป โดยที่นี่จะมี กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลปลาเค็มกางมุ้ง กลุ่มจักสานเตยปาหนัน และ กลุ่มผ้าบาติก
สำหรับกลุ่มสตรีบาติกบ้านพรุจูด ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 15 คน ได้พัฒนาลายผ้าบาติกให้นักท่องเที่ยวได้มาทดลองเขียนเทียน มาเรียนรู้การลงสีผ้าบาติก ด้วยลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน นั่นคือ ลายครอบครัวพะยูน ซึ่งเชื่อมโยงนำเอาธรรมชาติใกล้ตัวมาเป็นลวดลายสีสันบนผืนผ้าของท้องทะเล ได้แก่ กุ้ง หอย ปู ปลา เติมสีสันเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน ที่นักท่องเที่ยวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะนำไปตัดเป็นเสื้อ ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าเช็ดหน้า และนักท่องเที่ยวสามารถสรรสร้างผ้าบาติกของตนเอง ลงสีตามใจ ตามแบบของตัวเอง
ขั้นตอนการเพ้นท์บาติก
1.ร่างลวดลายด้วยดินสอ บนผ้าขาวที่ได้จัดเตรียมไว้
2.นำผ้าที่ร่างลวดลายแล้วไปขึงไว้กับเฟรมบาติก ที่ทาเทียนไขไว้หรือทาขี้ผึ้งไว้
3.ใช้จันติ้งตักเทียนไขที่ต้มจนร้อน เขียนลงบนลวดลายที่ร่างไว้
4.ลงสีด้วยการชุบน้ำ แล้วลงลายตามที่ต้องการ
เมื่อเยี่ยมชมผ้าบาติกแล้วนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปดูผลิตภัณฑ์ปลาเค็มกางมุ้ง ซึ่งการทำปลาเค็มไว้กินก็เป็นภูมิปัญญาทางด้านการถนอมอาหารที่มีมาช้านาน จึงนำไปสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ปลาเค็มกางมุ้งเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยปลาที่ใช้แปรรูปจะมีหลายชนิด ทั้งปลาสีเสียด ปลาหลังเขียว ปลาทราย ปลาเม็ดขนุน ปลาตาโต
ขั้นตอนการทำปลาเค็มกางมุ้ง
1.นำปลาที่ได้จากชาวประมงในท้องถิ่น
2.นำปลามาแล่ทำความสะอาด
3.โรยเกลือทั้งตัว แล้วนำไปหมักทิ้งไว้เป็นเวลา 1 คืน
4.นำปลาที่หมักเกลือแล้วมาล้างน้ำให้สะอาด
5.แล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้งในโรงเรือนที่กางด้วยมุ้งเพื่อป้องกันแมลงวัน
6.นำปลาที่ตากแดดให้แห้งตามมาตรฐานของชุมชน ออกจำหน่าย
และในส่วนของผลิตภัณฑ์จักสานเตยปาหนัน บ่อหิน จะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นชายฝั่งซึ่งเป็นดินทราย ซึ่งมีไม้ที่ขึ้นอยู่ริมทะเล ซึ่งชาวบ้านพื้นถิ่น เรียกว่า “ต้นเตยปาหนัน” ชื่อวงศ์ (ภาษากลาง ลำเจียก , การะเกด) (ภาษามลายู ปาแนะ) โดยลักษณะเป็นไม้ทรงพุ่ม มีใบเป็นกาบรอบลำต้น แผ่นใบเป็นรูปใบดาบ ขอบใบสองข้างขนานกัน ปลายใบเรียวแหลมโค้งรูปแส้ มีหนามอยู่ที่ข้างใบและท้องใบทั้งสองด้าน
ชาวบ้านนิยมนำเส้นใยจากส่วนของใบมาทำเป็นเครื่องจักสานอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนชายฝั่ง ซึ่งนำเอาทรัพยากรในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ อดีตมักจะนำมาทอเป็นเสื่อปูนั่งในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น เป็นเสื่อรองละหมาด และนำมาขึ้นรูปเป็นเฌอใส่ข้าวสาร เป็นต้น โดยมีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ซึ่งมีการสืบทอดกันมายาวนาน เช่น ลายลูกแก้ว ลายดอกมะลิ ลายเจมาสิเละ
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือการย้อมสีแบบไล่น้ำหนักในคอลเลกชั่นใหม่ๆ นำเสนอแนวคิดการย้อมสีที่สะท้อนความงดงามของทะเลตรังผ่านฝีมืองานสานเตยในรูปแบบกระเป๋าสมัยใหม่โดดเด่นที่การนำวัสดุผ้าทอมาตัดเย็บผสมผสานกับงานจักสานเตยปาหนัน เพิ่มคุณประโยชน์กับความทนทานให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น
ขั้นตอนการเตรียมเส้นใยปาหนัน
1.ใบเตยปาหนันสด จะมีหนามสามด้าน
2.ใช้มีดบาง ๆกรีดหนามสันกลางใบ
3.ลนไฟให้ใบเตยปาหนันมีความนิ่มและไล่ความชื้น
4.ใช้อุปกรณ์ ยาหาด(เล็บแมว) ดึงให้เป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการ
5.ใช้ไม้หรือใบเหล็กบาง ๆ ขูดเบา ๆ ปรับสภาพเส้นให้มีความนิ่มไม่ห่อตัวแล้วมัดรวมกันเป็นก้อน
6.แช่หมัก 2 คืน จากสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน
7.ตากแดดให้แห้งสนิท
8.เส้นใยธรรมชาติ เตยปาหนันสีขาวครีม
ปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นรูปเป็นงานหัตถกรรมจักสานเตยปาหนัน ได้แก่ กระเป๋าใบใหญ่ กระเป๋าใบเล็ก หมวก กล่องใส่ทิชชู่
ด้านนายบรรจง นฤพรเมธี ประธานวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด บอกว่า ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว ของชุมชนบ่อหินฟาร์มสเตย์ ของเราจะมีหลากหลายเช่น ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมาร่วมทำผ้าบาติก ในชุมชนได้ด้วยซึ่งที่นี่ก็จะมี ทั้งผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม ผลิตภัณฑ์ตัวที่สองก็คือปลาเค็มกางมุ้ง ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP 5 ดาว เป็นการแปรรูปอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์จักสานเตยปาหนัน เป็นเครื่องจักสานที่มีคุณภาพดีและมีลวดลายสวยงาม
ทั้งนี้ทางด้าน นายวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ได้เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอำเภอสิเกา บ่อหินฟาร์มสเตย์ วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด พร้อมชิมอาหาร วัตถุดิบจากชุมชนชายฝั่ง ทั้งปลาสีเสียด ปลากะพง ปลาเก๋า หมึก ปูม้าสดๆ จากทะเล ที่ผ่านการรังสรรค์เมนูจากฝีมือเชฟชุมชน หลากหลายเมนู อาทิ เมนูแกงส้มปลากะพง ปลาเค็มกางมุ้ง ปลาเก๋านึ่งบ๊วย ปูผัดผงกะหรี่ ฯลฯ เป็นการกระจายสร้างรายได้สู่ชุมชน
นายวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง กล่าวว่า สำนักงานเกษตรมีบทบาทในเรื่องของการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เราเป็นนายทะเบียนส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนซึ่งในจังหวัดตรังมีวิสาหกิจชุมชนประมาณเกือบ 700 วิสาหกิจชุมชนเพราะฉะนั้นแต่ละวิสาหกิจชุมชนมีของดีมากมายโดยเฉพาะที่จะเชื่อมต่อกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย และประกอบกับเวลาในห้วงที่ผ่านมา นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง มีนโยบายที่จะกระตุ้นฟื้นฟู เศรษฐกิจทำให้ทางเกษตร ได้นำเสนอโครงการที่จะเติมเต็ม ให้กับวิสาหกิจชุมชนที่ทำเรื่องท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งในรอบนี้เราได้ทำ 4 ชุมชนซึ่ง 1 ใน 4 ก็คือที่บ้านพรุจูด ต.บ่อหิน ในเรื่องของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจุดเช็คอินตู้วางสินค้าชั้นวางของ เราทำคลิปประชาสัมพันธ์ลงในช่องทางต่าง ๆ เราทำรีวิวเส้นทางการท่องเที่ยวเราทำข้อมูลข่าว เพื่อที่จะให้นักท่องเที่ยวที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ได้รู้จักการท่องเที่ยวของที่นี่ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาทำความรู้จัก ชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน สำหรับชุมชนบ่อหินฟาร์มสเตย์นับเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่เหมาะจะเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: