ศาลสมุทรปราการ อ่านคำพิพากษาคดีลักลอบขนนอแรดมูลค่ากว่า 49 ล้านบาท แล้วถูกจับได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ สั่งจำคุกผู้ต้องหาทั้ง 3 คน คนละ 4 ปี
จากกรณีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่ศุลกากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ. สมุทรปราการ ได้ตรวจยึดนอแรด จำนวน 21 นอ น้ำหนักรวม 49.4 กิโลกรัม มูลค่า 49 ล้านบาท ที่ลักลอบนำเข้าจากสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกหมายจับ ผู้ต้องหา จำนวน 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายวรภาส บุญศรี รองอัยการจังหวัดฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสระบุรี ซึ่งถูกเชื่อมโยงเข้ามาพัวพันถึงในกระบวนการ นับเป็นคดีสำคัญ เนื่องจากเป็นการลักลอบลำเลียงนอแรดจำนวนมากและมีมูลค่าสูงเข้ามาในประเทศ จึงกลายเป็นคดีน่าสนใจของประชาชน ตามที่ได้เสนอข่าวไปนั้น
ข่าวน่าสนใจ:
- พร้อมรับสมัครเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ.พังงา เชิญชวนคนดีมีความสามารถมาสมัคร 23-27 ธันวาคมนี้
- สองแม่ลูกปีนหน้าต่างชั้น 2 หนีตายไฟไหม้บ้านกลางดึก คาดไฟฟ้าลัดวงจร
- กกต.ตรัง พร้อมเปิดสนาม จัดเลือกตั้งอบจ. เปิดยิม 4,000 ที่นั่งรับสมัคร พื้นที่กว้างขวางรองรับกองเชียร์ผอ.กกต.ตรัง เผยการข่าวพบ 3…
- ตรัง ชาวบ้านสืบสานอนุรักษ์การปลูกข้าวไร่ไว้กินเองครอบครัวเหลือขาย
ล่าสุดเมื่อเวลา 09.30 น. ของวันนี้ที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ที่บัลลังก์ 11 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ได้นัดอ่านคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นางฐิติรัตน์ อาราอิ จำเลยที่ 1 นางสาวกานต์สินี อนุตรานุศาสตร์ จำเลยที่ 2 และ นายวรภาส บุญศรี จำเลยที่ 3 ข้อหา ร่วมกันนำพานำเข้านอแรด 19 ชิ้น นอแรดดำ 2 ชิ้น รวม 21 ชิ้น น้ำหนัก 49.4 กิโลกรัม ราคารวม 49,400,000 บาท เข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีและเป็นของที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศ ยังไม่ได้เสียภาษี ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร และโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้นำเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นการร่วมกันเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใดๆอันเกี่ยวแก่การนำของเข้าโดยเจตนาร่วมกันจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 2, 27 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 6, 23, 47 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 4, 31, 68, 78 โดยจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ซึ่งจำเลยทั้ง 3 คนเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมทนายความ และญาติ
โดยพฤติการณ์จำเลยที่ 1 เดินทางมากับเที่ยวบิน TG581 จากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จะต้องรับกระเป๋าเดินทางที่สายพานหมายเลข 15 แต่ไม่ได้ไปรับสัมภาระของตนเอง กลับไปนั่งรอบริเวณสายพานหมายเลข 9 แล้วยกกระเป๋าของกลางขึ้นใส่รถเข็นไป ขณะกำลังจะผ่านบริเวณที่ตรวจเอกซเรย์ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรบริเวณช่องตรวจ สังเกตเห็น จำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ส่อพิรุธ จึงเรียกขอตรวจสอบกระเป๋าของกลาง ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 กลับเดินหลบหนีออกไป เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ แทนที่จะสนใจติดตามไปรอรับกระเป๋าเดินทางของตนเอง แต่กลับไปให้ความสำคัญกับกระเป๋าเดินทางของกลางที่สายพานหมายเลข 9 มากกว่ากระเป๋าของตนเอง และเมื่อจำเลยที่ 1 รับกระเป๋าเดินทางของกลางมาแล้ว ก็เข็นกระเป๋าเดินทางของกลางออกไปบริเวณจุดสีเขียว C ซึ่งเป็นจุดที่ผู้โดยสารไม่มีสิ่งของจะต้องสำแดง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองหรือมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งขณะใดในสิ่งของที่บรรจุอยู่ในกระเป๋าเดินทางของกลางนับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้รับมอบไปโดยถูกต้องพ้นจากความอารักขาของพนักงานศุลกากร จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้นำของเข้าตามคำนิยามในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และมีความผิดฐานนำนอแรดของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใดๆอันเกี่ยวแก่การนำของเข้าโดยมีเจตนาร่วมกันจะฉ้อค่าภาษี และฐานนำนอแรดซึ่งเป็นซากของสัตว์ป่าและเป็นซากสัตว์ป่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อศาลพิเคราะห์พฤติการณ์ ตามภาพเคลื่อนไหวที่พนักงานอัยการเปิดดู วินาทีที่ 01.02 เห็นจำเลยที่ 2 แตะแขนจำเลยที่ 1 แล้วเดินออกไปพร้อมกัน ขณะที่กระเป๋าเดินทางของกลาง ถูกนำขึ้นเอกซเรย์ ส่อเป็นพิรุธแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระเป๋าของกลาง เพราะหากจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องมาช่วยเหลือจำเลยที่ 3 ในการชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรและต้องช่วยติดตามจำเลยที่ 1 มาแสดงความรับผิดชอบ
สำหรับจำเลยที่ 3 ที่อ้างว่าไม่ทราบของกลางคืออะไร และไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรฯ บริเวณช่องตรวจ สอบถามว่า ของข้างในกระเป๋าเป็นอะไรครับ จำเลยที่ 3 กลับตอบว่า เป็นไวน์ อีกทั้ง ยังบอกว่า กระเป๋าใบนี้ไม่ต้องตรวจนะ อันเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่กระเป๋าของกลางไม่ใช่ของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย และเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตรวจเอกซเรย์กระเป๋าของกลาง เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรฯ อีก 1 คนเข็นกระเป๋าของกลางไปห้องทำงานฝ่ายบริการผู้โดยสาร จำเลยที่ 3 ก็พูดอีกว่า ไม่ต้องเปิดตรวจได้มั้ย ออกไปเลยได้หรือไม่ และจำเลยที่ 3 ยังเสนอแนะว่า ถ้ามันยุ่งยากก็เอากระเป๋าไปทิ้งไว้ที่สายพาน เป็นกระเป๋าไม่มีเจ้าของได้มั้ย ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรฯ ตอบไปว่าไม่ได้ กรณีเช่นนี้เป็นข้อยืนยันได้ว่า จำเลยที่ 3 รู้ดีว่าภายในกระเป๋าของกลางมีสิ่งของผิดกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 พบเจ้าหน้าที่ศุลกากรฯ อีก 1 คนก็พูดในทำนอง ขอให้ช่วยเหลือและยังมีการเสนอที่จะให้สินบนด้วย เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ศุลกากรฯรายนั้น อายุ 58 ปี ใกล้เกษียณอายุราชการย่อมต้องระมัดระวังในการปฏิบัติการตามหน้าที่ หากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกลงโทษทางวินัยและถูกดำเนินคดีอาญาอันอาจจะมีผลกระทบต่อการได้รับบำเหน็จบำนาญ และเมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรฯ อายุ 58 ปี มาเบิกความ จำเลยที่ 3 ก็มิได้ถามค้านในประเด็นที่อ้างว่าเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือและเรียกรับผลประโยชน์ตามที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้าง อีกทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 รับราชการเป็นพนักงานอัยการย่อมรู้ว่า การที่เจ้าพนักงานของรัฐกระทำความผิดฐานเรียกรับสินบนจะเป็นความผิดที่มีอัตราโทษสูง หากจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและถูกเรียกร้องผลประโยชน์จริง ย่อมต้องรีบไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานเพื่อหยุดยั้งการกระทำมิให้เกิดเป็นผลร้ายแก่ตนเอง แต่จำเลยที่ 3 หาดำเนินการแต่อย่างใดไม่ กลับพยายามที่จะหาวิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดกระเป๋าของกลาง และยังบอกกับนายธนิตว่า สามารถที่จะนำกระเป๋าของกลางไปไว้ที่สายพานแล้วทำทีว่า เป็นกระเป๋าไม่มีเจ้าของแล้วให้เจ้าพนักงานอายัดไว้ได้หรือไม่ แต่นายธนิตตอบว่า ไม่ได้ เพราะกล้องวงจรปิดได้บันทึกภาพไว้หมดแล้ว ยิ่งเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 3 ย่อมจะต้องรู้ว่าในกระเป๋าของกลางมีสิ่งของผิดกฎหมาย
ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าการสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวนที่มีพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยไม่ชอบด้วยกฎหมายและจำเลยที่ 3 ถูกกลั่นแกล้ง ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 ได้ดำเนินการอย่างไรเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง ประกอบกับศาลได้ตรวจสำนวนการสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวนโดยละเอียดแล้ว เห็นว่า คณะพนักงานสอบสวนได้สอบสวนไปตามขั้นตอน แม้จะมีการตั้งเรื่องการสอบสวนแบบคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดที่เกิดขึ้นภายในราชอาณาจักรก็ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีไปตามนั้น ทั้งเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อพิรุธหรือเป็นการกระทำเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบโดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมและรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง
ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, 47 พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 31,68 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันนำ หรือพาของต้องจำกัด หรือของเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 4 ปี ริบของกลาง ซึ่งภายหลังศาลตัดสินแล้วจำเลยทั้ง 3 คนก็ได้ให้ทนายความไปดำเนินการขอประกันตัวและยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: