สนข. เปิดเวทีระนอง เดินหน้าโครงการ Land Bridge เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เดินหน้าพัฒนาโครงการ Land Bridge ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคอาเซียน
วันที่ 8 ธันวาคม 2564 นายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ณ ห้องราชาวดี เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดระนอง เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ และขอบเขตการดำเนินงาน
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้า ทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) จึงทำให้เส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง จากข้อมูลปี 2561ช่องแคบมะละกามีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 85,000 ลำ/ปี และในอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นกว่า 128,000 ลำ ซึ่งเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกาที่รองรับได้ ก่อให้เกิดปัญหาการติดขัดและเสียเวลาในการเดินทาง กระทรวงคมนาคม จึงมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน Land bridge โดยมีขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การสังคม ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เช่น ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน
ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมโยง การขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันตามัน วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน (Business Development Mode) ของโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เช่น ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และ สร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านตลอดระยะเวลาดำเนินงาน โดยมีระยะเวลาศึกษา โครงการ 30 เดือน ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยแนวคิดการพัฒนาสร้างท่าเรือชุมพร กำหนดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย โดยนำระบบออโตเมชั่นมาใช้เพื่อยกระดับท่าเรือสู่ Smart Port ส่วนแนวคิดการพัฒนาท่าเรือระนอง กำหนดให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือกลุ่มประเทศแถมเอเชียใต้
นอกจากนี้ จากการศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาท่าเรือเชื่อมอ่าวไทย-อันดามันแล้ว ยังได้ศึกษาความเหมาะสมเพื่อบูรณาการการขนส่งทางท่อ ทางบก และทางราง เพื่อให้เชื่อมต่อกับ 2 ท่าเรืออย่างไร้รอยต่อ โดยศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และรถไฟทางคู่ และการขนส่งทางท่อโดยจะก่อสร้างคู่ขนานบนเส้นทางเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน
นายพรศักดิ์ แก้วถาวร ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จากกรณีที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เดินหน้าพัฒนาโครงการ Land Bridge ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคอาเซียน หอการค้าระนองและภาคเอกชนพร้อมให้การสนับสนุนและเห็นด้วย ส่วนประเด็นที่เป็นห่วง คือปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่จังหวัดระนอง และการที่พื้นที่โครงการก่อสร้างอาจติดเขตป่าหงวนและอุทยานแห่งชาติ รวมถึงใกล้กับโครงการมรดกโลก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: