กรุงเทพฯ – นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ชี้แจงครั้งแรก หลังสลายม็อบจะนะรักษ์ถิ่น แฉ มีกลุ่มนักเลงหัวไม้ ใช้อภิสิทธิ์ยึดที่ดินสวนกง ชายหาดจะนะ ปักหลักสร้างบ้านเรือนผิดกฎหมาย อ้างแต่ประชาธิปไตย ค้านจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมนำความเจริญสู่ 4 จังหวัดภาคใต้ ท้า ร่วมทำประชาพิจารณ์
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ในฐานะบริษัทที่เข้ามาร่วมดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว Prachai Leophairatana ถึงการคัดค้านการจัดตั้ง ‘สวนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต’ ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ของกลุ่มเครือข่าย ‘จะนะรักษ์ถิ่น’ เป็นครั้งแรก หลังกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการ ที่ปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล ถูกสลาย โดยระบุว่า
“ผมขออธิบายเหตุการณ์การคัดค้านการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่จะนะ สงขลา ของกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่อ้างตัวเป็นคนจะนะ เจ้าทะเลจะนะ รักทะเลจะนะ ที่มาตั้งแคมป์อยู่หน้าทำเนียบ และหน้ายูเอ็น ให้สื่อมวลชนและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมทุกฝ่ายที่รักประชาธิปไตย ได้ทราบความจริง ขอเริ่มต้นจาก เกาะกงสงขลา ซึ่งเป็นที่ชายหาดสวยงามติดทะเล ซึ่งรัฐบาลจัดให้ประชาชนเข้าไปใช้เป็นแหล่งสันทนาการ สำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศเล่นน้ำทะเลกัน แต่ว่ามีกลุ่มนักเลงหัวไม้ อ้างตัวเป็น เจ้าพ่อทะเล เข้าไปยึดทำการสร้างบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านที่อยู่อาศัย อย่างผิดกฎหมาย โดยที่รัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะยึดที่คืน
ซึ่งเราก็เห็นใจเขาเพราะเขาไม่มีรายได้ที่แน่นอน บางวันก็จับปลามาได้หลายร้อยบาทต่อวัน บางวันก็ไม่ได้ปลา เพราะฉะนั้น ใครที่เขารู้จัก จะจ้างคนพวกนี้ให้ทำอะไรก็ได้ พวกเขาถือว่าเขามีสิทธิอยู่เหนือประชาชนพลเมือง กลุ่มอื่น ชาวบ้านทั่วไปไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปใช้สถานที่นี้ นอกจากได้รับอนุญาตจากพวกเขาก่อนเท่านั้น ทำให้เขาเลยเข้าใจว่าเขามีอภิสิทธิ์เหนือคนทั้งประเทศ อย่างน้อยก็ชาวจะนะคนอื่นหมดทุกคน คิดอยากจะให้คนอื่นทำอะไรก็ได้ หรือคิดห้ามไม่ให้คนอื่นทำอะไรในที่ของคนอื่นซึ่งมีสิทธิ์ในที่ของตนเอง 100% ก็ได้ โดยไม่เคารพสิทธิ์ของคนอื่นเลยแม้แต่นิดเดียว แล้วก็อ้างประชาธิปไตยตลอดเวลา
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้ง ๆ ที่ขณะนี้ ในวันที่ 13 ธันวาคม จะมีการทำประชาพิจารณ์ ฟังความเห็นของประชาชนชาวจะนะ ตามวิถีทางของประชาธิปไตยว่า ประชาชนชาวจะนะส่วนใหญ่ จะเห็นด้วยกับการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต และท่าเรือน้ำลึกที่จะนะ ในพื้นที่ที่ดินของเจ้าของโครงการ โดยไม่ได้ไปยึดเอาสวนกงมาเป็นท่าเรือน้ำลึกอย่างที่กลุ่มนี้กล่าวหา แต่เขาก็เลือกที่จะไม่ไปทำประชาพิจารณ์ แต่เลือกที่จะมารวมกลุ่มตั้งแคมป์ที่หน้าทำเนียบ และที่หน้ายูเอ็น โดยยึดพื้นที่สาธารณะเป็นที่อยู่อาศัยโดยไม่เคารพตัวบทกฎหมายและสิทธิของคนอื่น คัดค้านการทำสวนอุตสาหกรรมในที่ดินของเจ้าของโครงการ เพราะเขาถือว่าเขาเป็นอภิสิทธิ์ชน แล้วจะให้คนอื่นต้องเคารพคำสั่งของเขาเท่านั้น
แม้แต่รัฐบาลซึ่งได้รับเลือกตั้งมาโดยเสียงข้างมากของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ให้รับฟังคำสั่งคัดค้านการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมในที่ส่วนตัว เพื่อสร้างงานและนำความเจริญมาสู่ดินแดน 4 จังหวัดภาคใต้ เพื่อความมั่นคงของด้ามขวานทอง อันเป็นที่รักของเรา
“การกระทำของอันธพาลกลุ่มนี้ ไม่ใช่วิถีของประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องของอนาธิปไตยหรืออันธพาลธิปไตย ทั้งยังมีเจตนาบ่อนทำลายความสงบสุขของชาวบ้าน และความมั่นคงของประเทศอันเป็นที่รักของพวกเรา ถ้าเขายังอ้างประชาธิปไตยประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ก็ต้องขอให้เขากลับไปจะนะใช้สิทธิของเขา ในกระบวนการประชาพิจารณ์ ที่มีตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่มาทำตัวเป็นอันธพาลใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย” นายประชัย กล่าวปิดท้าย
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบที่มาของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2559 สมัยรัฐบาล คสช. มีแผนจะทำ ‘โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ใน 3 พื้นที่ คือ อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ให้กลายเป็น ‘เขตพัฒนาพิเศษ’ เพื่อขยายรายได้ให้คนในท้องถิ่น
ต่อมา ปี 2562 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นพื้นที่ที่ 4 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจแห่งนี้ โดยมีเอกชนเข้าร่วมดำเนินการ คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC มีพื้นที่เป้าหมาย 10,800 ไร่ บริเวณ ต.นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม อ.จะนะ ประเมินงบประมาณลงทุน 600,000 ล้านบาท
รัฐบาลมอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นแม่งาน โดยใช้อำนาจภายใต้ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หลังจาก ศอ.บต. เปิดรับฟังความเห็นประชาชนแล้ว จะต้องนำเสนอข้อมูลต่อ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และจัดประชุม เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ให้ความเห็นสนับสนุนผลักดันไปที่คณะกรรมการผังเมือง ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา
ทั้งนี้ TPIPP ต้องการขยายโครงการเมืองต้นแบบฯ ดังกล่าวเป็น เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต มูลค่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งจะประกอบไปด้วย สวนอุตสาหกรรม เมืองอัจฉริยะ ท่าเรือน้ำลึกและศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า และศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด แต่ถูกสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตีกลับ เมื่อต้นปี 2563 เนื่องจากพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้าง 7,000 ไร่ เป็นพื้นที่สีเขียวที่ไม่สามารถทำโครงการอุตสาหกรรมได้ ซึ่ง ศอ.บต.จะต้องดำเนินการต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: