ฉะเชิงเทรา – เปิดแผนรับมือ สกัดน้ำเค็มรุกเร็วกว่าคาดการณ์ถึงเกือบ 2 สัปดาห์ ชลประทานภาคตะวันออกเตรียมปรับใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกงเป็นปราการด่านหน้า เลื่อนบานขึ้นลงยื้อตามจังหวะน้ำทะเลหนุน ก่อนทยอยปล่อยน้ำดิบต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำตอนบนเสริมยันไว้จนถึงปลายฤดูกาล เชื่อส่งผลกระทบไม่มากแต่การบริหารจัดการอยู่บนความละเอียดอ่อนจากความหลากหลายด้านอาชีพ
วันที่ 11 ธ.ค.64 เวลา 14.30 น. นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9 เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก บริเวณลุ่มน้ำบางปะกง หลังจากน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงเกือบ 2 สัปดาห์ จากเดิมนั้นได้มีการประเมินสถานการณ์ไว้ว่า น้ำเค็มจะรุกเข้ามาสู่ในลำน้ำบางปะกง ประมาณวันที่ 15 ธ.ค.64
ข่าวน่าสนใจ:
แต่เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.64 นั้นน้ำเค็มได้รุกเข้ามาจนถึงในเขตพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ลึกจากปากอ่าวเข้ามาประมาณ 35 กม. ซึ่งสามารถตรวจวัดได้ที่ 4.66 กรัมต่อลิตร เมื่อเวลา 08.00 น. ซึ่งถือว่าเร็วกว่ากำหนดตามที่มีการคาดการณ์ไว้ถึง 2 สัปดาห์ ส่วนการตรวจวัดความเค็มของน้ำในแม่น้ำบางปะกงเมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ที่ อ.บ้านโพธิ์ สามารถตรวจวัดได้ 7.9 กรัมต่อลิตร และตรวจวัดที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา ได้ 0.26 กรัมต่อลิตร
สำหรับการควบคุมน้ำเค็มหากตรวจวัดได้เกินกว่า 1 กรัมต่อลิตร ทางชลประทานจะใช้วิธีการควบคุมโดยการเลื่อนบานประตูของเขื่อนทดน้ำบางปะกงลงทั้ง 5 บาน เพื่อปิดกั้นน้ำจืดในแม่น้ำไว้ในช่วงที่น้ำทะเลลง และจะยกขึ้นเปิดบานสุดในขณะที่น้ำทะเลหนุนขึ้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา เพื่อพยายามรักษาน้ำจืดไว้ไม่ให้ไหลลงทะเลเร็วเกินไป จากนั้นจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำลงมาควบคุม
โดยขณะนี้น้ำเค็มยังรุกเข้ามาไม่ถึงในเขตตัวเมืองฉะเชิงเทรา ที่อยู่ลึกเข้ามาประมาณ 50 กม. จากปากอ่าว ส่วนการใช้น้ำจืดจากทางตอนบนจะเริ่มจากการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำคลองระบม ซึ่งมีความจุ 420 ล้าน ลบม. และ 55 ล้าน ลบม. หากทั้ง 2 อ่างมีน้ำเต็มอ่างจะใช้น้ำในการผลักดันน้ำเค็มจำนวน 60 ล้าน ลบม. แต่ในปีนี้น้ำในอ่างสียัดมีน้ำอยู่เพียงประมาณร้อยละ 65 หรือประมาณ 260 ล้าน ลบม. จึงมีน้ำต้นทุนจากทั้ง 2 อ่างสำหรับไว้ใช้ผลักดันน้ำเค็มจำนวนเพียง 40 ล้าน ลบม.
โดยจะทยอยละบายลงมาวันละ 2 ล้าน ลบม. สามารถใช้ได้เป็นเวลา 20 วัน หลังจากความเค็มรุกเข้ามาในเขตตัวเมืองฉะเชิงเทรา แต่ได้มีการระบายน้ำลงมาก่อนหน้าแล้วในวันที่ 2-4 ธ.ค.64 เพื่อควบคุมความเค็มไว้ให้อยู่ที่ อ.บ้านโพธิ์ และจะระบายลงมาอีกครั้งในวันที่ 12-28 ธ.ค. เพื่อให้น้ำลงมาถึงยังแม่น้ำบางปะกงในวันที่ 14-15 ธ.ค.64 ซึ่งจะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอีกช่วงหนึ่ง โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกงยันน้ำเค็มเอาไว้ได้ไปจนถึงวันที่ 10 ม.ค.65
จากนั้นน้ำในลำน้ำบางปะกงที่บริเวณเขื่อนทดน้ำบางปะกงจะเริ่มเค็มหรือมีค่าความเค็มเกินกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยในวันที่ 15 ม.ค.65 จึงจะขยับไปควบคุมการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ประตูระบายน้ำบางขนาก ใน อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และจะขยับไปสกัดกั้นน้ำเค็มที่ประตูระบายน้ำหน้าวัดบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ในวันที่ 10 ก.พ.65 ตามลำดับ ทั้งนี้จะใช้น้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ซึ่งจะสามารถปล่อยระบายน้ำลงมาผลักดันน้ำเค็มได้วันละ 1 ล้าน ลบม.รวมระยะเวลา 30 วัน
ต่อจากนั้นจะไปใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ซึ่งจะมีการปล่อยน้ำลงมาได้วันละ 1.5 ล้าน ลบม. เพื่อรวมกับอ่างเก็บน้ำพระปรง อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง ใน จ.สระแก้ว โดยที่ทั้ง 2 อ่างจะปล่อยน้ำลงมาได้วันละ 4.5 แสน ลบม. และจะขยับไปควบคุมน้ำเค็มที่ตัวเมือง จ.ปราจีนบุรี เพื่อรักษาระดับน้ำจืดไว้ใช้เพื่อการผลิตประปาในตัวเมือง จ.ปราจีนบุรี ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.65 ต่อไป
สำหรับในปีนี้ครั้งแรกเชื่อว่าสถานการณ์น้ำควรจะดี เนื่องจากในช่วงหน้าฝนมีน้ำค่อนข้างมากจนเกิดภาวะน้ำท่วม แต่เมื่อฝนหมดฤดูกาลแล้วได้หายไปในทันที จึงทำให้เชื่อว่าในปีนี้จะแล้งเร็ว แต่ยังมีความโชคดีอยู่บ้างที่เกษตรกรในลุ่มน้ำได้มีการสูบกักเก็บน้ำไว้ใช้เองในพื้นที่ระหว่างช่วงเกิดภาวะน้ำท่วม และระบายน้ำที่เกินออกมาเพียงบางส่วน จึงทำให้มีน้ำที่เก็บไว้เตรียมแปลงได้ในทันทีโดยที่ไม่ได้มีการสูบดึงน้ำจากแม่น้ำเข้าไปอีก จึงช่วยลดการใช้น้ำที่มีการระบายลงมาจากทางตอนบนได้อย่างมาก
สำหรับพื้นที่ทางการเกษตรในลุ่มน้ำบางปะกงทางด้านฝั่งขวาใน อ.องครักษ์ จ.นครนายก อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี อ.บางน้ำเปรี้ยว อ.เมือง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา มีจำนวนมากถึง 4 แสนไร่ ฝั่งซ้ายของลำน้ำมี อ.ศรีมหาโพธิ์ อ.เมืองปราจีนบุรี อ.บ้าสร้าง (ทุ่งบางพลวง) มีจำนวน 2 แสนไร่ รวมพื้นที่นาปรังนอกฤดูกาล 6 แสนไร่ หากนา 1 ไร่ใช้น้ำ 1 พัน ลบม. จะคิดเป็นปริมาณน้ำที่จะต้องใช้ในการทำนามากถึง 600 ล้าน ลบม.
น้ำที่ปล่อยลงมาจึงถูกเกษตรการสูบไปใช้เป็นจำนวนมากในทุกๆ ปี การควบคุมความเค็มจึงเป็นการรักษาสมดุลของน้ำเข้าออกจากแม่น้ำบางปะกง ขณะเดียวกันตลอดลุ่มน้ำบางปะกงนั้น ไม่ได้มีเกษตรกรประกอบอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งด้วย จึงมีผู้ที่ไม่ได้ต้องการเพียงน้ำจืดเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีผู้ที่ต้องการน้ำเค็มด้วย จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
–เปิดแผนรับมือน้ำเค็มรุกเร็ว ชลประทานภาคตะวันออกแจงละเอียดยิบ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: