X

“วิถีนา” ชาวนาแห่งเกาะสุกร ทะเลตรัง ชีวิตผูกพันธ์กับธรรมชาติ ในน้ำมีสัตว์ทะเลอุดมสมบูรณ์ ในนามีข้าว 

 

ตรัง – เกาะสุกร สวรรค์ท้องนาแห่งทะเลอันดามัน ที่สวยงามแปลกตาแวดล้อมไปวัว ควาย และท้องทุ่งนาที่ต้นข้าวกำลังออกรวงสีเหลืองอร่าม เกาะสวรรค์ที่อุดมสมบูรณ์ ให้ชาวบ้านได้พึ่งพาตนเอง   เชิญชวนนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมวิถีชุมชนที่มีเพียงหนึ่งเดียวในไทย

พาไปเที่ยวชมความสวยงาม สวรรค์บนดิน วัว ควาย แพะ และท้องทุ่งนา พื้นที่ที่ชาวบ้านพึ่งพาตนเอง โดยเกาะสุกร เกาะเล็กที่สุดของทะเลอันดามัน ตั้งอยู่ ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง มีประชากรประมาณ 2,700 คน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 หมู่บ้านเท่านั้น ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวบ้านประกอบอาชีพ ทำประมง ชายฝั่ง  ทำสวน การเกษตร  รับจ้าง   โดยประชาชนอยู่อาศัยแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สามารถพึ่งพาตนเองได้เต็มที่ ในน้ำมีสัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ในนามีข้าว  โดยพี่น้องชาวเกาะส่วนหนึ่งมีพื้นที่นาเป็นของตนเองและยังคงอนุรักษ์สืบสานยึดอาชีพกระดูกสันหลังของชาติเอาไว้ ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์  เพื่อหล่อเลี้ยงพี่น้องชาวเกาะ  ขณะที่ภาพมุมสูง เผยให้เห็นภาพบนเกาะที่สวยงามจากท้องทุ่งนาสีเขียวขจี สลับสีเหลืองอร่าม และการเร่งเก็บเกี่ยวข้าวของชาวบ้าน โดยทุกปีชาวบ้านจะทำนาปลูกข้าวเลี้ยงประชากรบนเกาะ และนักท่องเที่ยว โดยไม่ต้องพึ่งพาซื้อข้าวสารจากบนฝั่งแต่อย่างใด  โดยขณะนี้ทุ่งนาบนเกาะสุกร กำลังทยอยสุก รวงข้าวใหญ่สมบูรณ์เหลืองอร่าม ทำให้ชาวบ้านเจ้าของนาที่สุกแล้ว เร่งรีบที่จะเก็บเกี่ยวข้าว โดยการว่าจ้างแรงงานคนบนเกาะ มาช่วยในการเกี่ยวข้าว จากนั้นก็นวดข้าวด้วยเครื่องจักร ก่อนที่ใครก็สามารถเก็บฟางไปเลี้ยงวัว เลี้ยงควายได้  ส่วนเมล็ดข้าวก็เก็บใส่กระสอบปุ๋ย เพื่อนำไปเตรียมตากแดดเก็บไว้ทำเมล็ดพันธุ์ปีต่อไป และนำไปสีข้าวเก็บไว้กิน เหลือก็เอาไว้ขายให้พี่น้องในเกาะด้วยกันในราคาถูกเพียงกิโลกรัมละ 40 -50 บาทขึ้นอยู่สายพันธุ์  โดยในชุมชนก็จะมีโรงสีข้าวชุมชน ไว้สำหรับสีข้าวของชาวบ้านบนเกาะ  หรือหากจะจำหน่ายนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวบ้าง ก็จำกัดเพียงคนละไม่เกิน 5 กิโลกรัมเท่านั้น เพราะไม่ได้ต้องการขายออกนอกเกาะ ทั้งนี้ ชาวบ้านปลูกข้าวบนเกาะทั้งหมดประมาณ 6 สายพันธุ์ ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ ทั้ง วัว ควาย เป็ด ไก่ แพะ เป็นต้น  ซึ่งข้าวสารของเกาะสุกรได้ชื่อว่า  หอม นุ่ม อร่อยมาก  โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ทั้งข้าวหอมมะลิขาว  และข้าวหอมมะลิแดง

ด้านคุณยายขลิบ หลงหลำ  อายุ 89  ปี  (นั่งหน้าบ้าน) ชาวบ้านหมู่ 2 ซึ่งทำนามาโดยตลอด บอกว่า ยายทำนาปลูกข้าวไว้ทั้งหมด 3 ไร่ เอาไว้กินเอง เหลือก็ขายด้วย  ที่ผ่านมาไม่ต้องซื้อข้าวสารเลย เพราะทำกินทุกปี มีแค่เพียง 3 ไร่ แต่ก็พอกินไม่ต้องซื้อเพิ่มแต่อย่างใด

 

นางพรทิพา  จิตรหลัง อายุ  48 ปี  ( คนยืน เสื้อลายสก๊อตน้ำเงินแดง) กล่าวว่า  ตนเองมีที่นาทั้งหมด 3 ไร่  ปลูกข้าวทั้งหมด 3 ชนิด คือ ข้าวหอมมะลิขาว ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวไรเบอร์รี่ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิแดง จะมีสีแดงเข้ม จะหอมนุ่มอร่อย  แต่ละปีได้ข้าวสารประมาณ 30  กระสอบ โดยทำเอาไว้กินเองในครอบครัว เหลือก็แบ่งขาย แต่ละปีขายได้ประมาณ 10,000 – 20,000 บาท  ไม่ต้องซื้อข้าวกิน  ส่วนที่นาข้าวอุดมสมบูรณ์ โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยบำรุง เนื่องจากว่าพอชาวบ้านเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็จะมีการปล่อยวัว ควาย รวมทั้งแพะ ให้หากินเองตามธรรมชาติเป็นเวลานานตามท้องทุ่ง จนกว่าจะถึงฤดูทำนาใหม่ เจ้าของจึงจะมาจับวัว ควาย กลับไปผูกไว้ ระหว่างนั้นทำให้วัว ควาย กินไปถ่ายไป เป็นปุ๋ยให้ดิน ทำให้ดินปรับสภาพเองตามธรรมชาติ ดินจึงอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการทำนา รวงข้าวใหญ่ มีน้ำหนัก  เมล็ดเสียน้อย ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วยทุกรวงชาวบ้านที่มีนา จึงยังอนุรักษ์พื้นที่นาไว้ เพื่อทำนาปลูกข้าวไว้กินเอง

นายประศาสตร์  ศรีวุ่น  อายุ 57 ปี หมู่ 2  ชาวบ้าน ซึ่งทำนาด้วย ทั้งของตัวเอง และเช่าของคนอื่นทำ และเลี้ยงควายขายด้วย  โดยนาทำไว้รวม 3 ไร่ 2 งาน ปลูกข้าวหอมปทุม และข้าวหอมมะลิ แต่ละปีได้ข้าวสารประมาณ 120 ถังหรือประมาณ  800 – 900 กิโลกรัม  เอาไว้กิน และไว้แจกจ่ายญาติพี่น้อง โดยชาวบ้านเกาะสุกรที่มีพื้นที่นา จะพยายามเก็บรักษาไว้ทำนา ปลูกข้าว ไว้กิน ไว้ขายกินกันในเกาะ ไม่ต้องซื้อข้าวสารจากฝั่งมากิน  โดยชาวบ้านบนเกาะที่ทำนา จะควบคู่กับการเลี้ยง วัว ควาย ไว้ขาย  ของตนเองมีวัวทั้งหมด 11 ตัว  ซึ่งวัวควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ทั้งเกาะมีนับพันตัว  ส่วนใหญ่ไว้ขาย เพื่อมีรายได้เสริม  โดยวัว ควาย ราคาขายค่อนข้างแพงตัวละ 10,000 – 40,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด โดยควายชาวบ้านเกาะจะมีการอนุรักษ์ไว้

ทางด้านนางสาวชลนา  ปากบารา อายุ 49 ปี ชาวบ้าน หมู่ 2  ซึ่งกำลังรับจ้างเกี่ยวข้าว พร้อมกับเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ซึ่งเป็นแม่บ้าน ส่วนผู้ชายจะไปออกทะเลหาปลา  กล่าวว่า  พอถึงช่วงเกี่ยวข้าวของทุกปี แม่บ้านส่วนใหญ่ก็จะวางมืองานอื่น ออกมารับจ้างเกี่ยวข้าว  ซึ่งแต่ละคนก็เกี่ยวได้ประมาณ 3 – 4  รอบต่อวัน  โดยเจ้าของนาจะจ้างเป็นรอบๆ รอบละ 3 ชม. จำนวน 100 บาท/รอบ   เช่น รอบ 06.00 – 09.00 น. แต่ละคนทำได้ประมาณวันละ 3-4 รอบ ได้ค่าจ้างวันละประมาณ 300 – 400 บาท ซึ่งจะต้องรับจ้างเก็บจนกว่าจะหมดนาข้าว หลังจากนั้นทุกคนก็จะกลับไปปลูกแตงโมต่อในพื้นที่นาข้าวเดิม ทำให้ช่วงหน้าเกี่ยวข้าวก็จะมีรายได้เสริมช่วยครอบครัว จากการออกทะเลหาปลา

ทางด้านนายธวัชชัย  ไข่มุสิก อายุ 50 ปี  ประธานกลุ่มวิสาหกิจแตงโมเกาะสุกรปลอดสารพิษ ( เสื้อสีขาว)   กล่าวว่า  พื้นที่ทำนา กับพื้นที่ปลูกแตงโมบนเกาะสุกร คือ พื้นที่เดียวกันมีประมาณ  270 ไร่  หรือประมาณ 80 ครัวเรือน ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 3 โดยชาวบ้านพยายามจะรักษาพื้นที่นา และการทำนาไว้ เพื่อไว้ปลูกข้าวไว้กินกันเองบนเกาะ  ไม่ต้องซื้อข้าวสารจากบนฝั่ง เพราะกว่าจะเดินทางมาเกาะจะแพงกว่าบนฝั่ง เนื่องจากการขนส่งเดินทางที่ยากลำบาก   ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันอนุรักษ์พื้นที่นาไว้ปลูกข้าวไว้กินเอง และเหลือขายในเกาะ โดยข้าวที่ปลูกหลายสายพันธุ์ ทั้งพื้นที่ดอนก็จะปลูกข้าวเบา ส่วนพื้นที่ลุ่มก็ปลูกข้าวหนักมีทั้งหมดประมาณ 6 สายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมมะลิ 105  ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมสุพรรณบุรี ข้าวหอมพันธุ์เฉี้ยง  ข้าวหอมราชินี  ข้าวไร้เบอร์รี่ ข้าวสังข์หยด  เป็นต้น  ซึ่งข้าวแต่ละสายพันธุ์ก็พยายามรักษาสืบทอดไว้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน