กรุงเทพฯ – กลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ยื่นหนังสือประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ตั้งกรรมาธิการ ตรวจสอบการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ผู้ต้องโทษจำคุกคดีทุจริตคอร์รัปชัน
วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน พร้อมคณะ ยื่นหนังสือต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ พร้อมทั้งยังยื่นหนังสือต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา โดยมี นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อขอให้ตั้งกรรมาธิการตรวจสอบการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ผู้ต้องโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน
โดยระบุว่า ตามที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ.2564 ให้ไว้ ณ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2564 ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้มีมติทูลเกล้าฯ เสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ในหมู่นักโทษที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ได้รับการพระราชทานอภัยโทษลดโทษในครั้งนี้ มีผู้ต้องโทษจำคุกในคดีทุจริตคอร์รัปชัน ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลฎีกา พิพากษาลงโทษจำคุกรายละ 36-50 ปี และเพิ่งรับโทษจำคุกมาเพียง 2-4 ปี กลับได้รับการพระราชทานอภัยโทษลดโทษ
หนังสือยังระบุอ้างถึง พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 4 ฉบับ ในโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563-2564 มีผลให้ผู้ที่ถูกพิพากษาจำคุก 36-48 ปี เหลือวันต้องโทษ 6-10 ปี จะพ้นโทษ พ.ศ.2566-2571 บางรายในคดีโครงการรับจำนำข้าว หลุดพ้นโทษไปแล้วพ้นโทษจำคุกไปแล้วก็มี
ข่าวน่าสนใจ:
- ตร.กมลารวบ ผจก.เกสเฮ้าส์สาวติดพนันออนไลน์ ฉกเครื่องเพชร-นาฬิกาหรูนายจ้างสาวลูกครึ่ง ขาย-แพ็คส่งให้แฟนหนุ่มเก็บ
- สมเด็จพระสังฆราช โปรดประทานผ้าพระกฐินทอดถวาย ณ วัดเขาไกรลาศ หัวหิน
- นราธิวาส-กรรมกำลังทำงาน - ปมสังหาร "นายกอาร์ม"
- นบ.ยส.24 บูรณาการร่วมกับกลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติด สสจ.นครพนม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือตรวจพื้นที่อาคารหลังศูนย์ฟื้นฟู…
การที่ผู้ต้องโทษจำคุกถึงที่สุดในคดีทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อประเทศชาตินับหลายแสนล้านบาท กว่าจะรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาล กว่าจะพิพากษาลงโทษได้ก็มีความยากลำบากและใช้เวลานาน แต่ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม กลับฉวยโอกาสวาระอันเป็นมหามงคลของชาติ ดำเนินการ
ทั้งนี้ คดีทุจริตคอร์รัปชัน สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างรุนแรงมาเป็นเวลานาน เมื่อเทียบกันแล้ว ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ มากกว่าคดีค้ายาเสพติดรายใหญ่เสียด้วยซ้ำ จึงมีความพยายามที่จะดำเนินการป้องกัน ปราบปราม และดำเนินคดีอย่างเฉียบขาดต่อผู้กระทำความผิด เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลานาน ตามความร้ายแรงแห่งคดี แต่ผู้ต้องโทษเหล่านี้กลับได้รับการพิจารณาให้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม และถูกจัดให้เข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ขัดต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรมขัดต่อหลักการในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน
จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร โปรดดำเนินการให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกขั้นตอนในการดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ผู้ต้องโทษจำคุกในคดีทุจริตคอร์รัปชัน
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ เปิดเผยว่า จะนำกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อโปรดทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐนิติธรรมต่อไป
ด้านนายสมชาย แสวงการ ระบุว่า จะนำเรื่องเข้าหารือในชั้น กมธ.ว่า กระบวนการในการเลื่อนชั้นนักโทษเป็นไปในลักษณะใดและเป็นอภิสิทธิ์ชนหรือไม่ เหตุใดคนไม่กี่คนใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนลดโทษเหลือเพียงไม่กี่ปี รวมถึงเห็นด้วยในการเสนอการแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ในมาตรา 8 เรื่องคณะกรรมการราชทัณฑ์เดิม ที่มาจากการแต่งตั้งเพียง 7 คน จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งควรมีภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทมากกว่านี้
ส่วนมาตรา 52 ควรเพิ่มวรรคท้ายเข้าไปว่า คดีทุจริตโกงชาติ และอาชญากรรมร้ายแรงเป็นภัยต่อสังคม ต้องได้รับโทษ 1 ใน 3 ก่อน จึงจะเข้าสู่กระบวนการขอรับพระราชทานอภัยโทษ และทั้งหมดต้องรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของคำตัดสินที่ศาลได้พิพากษาไปแล้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: