ครป. วิพากษ์ความล้มเหลวรัฐบาลส่งท้ายปี 2564 ชี้ 10 จุดบอดจาก พล.อ. ประยุทธ์ ส่งผลให้ประเทศล้มเหลว ขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อ ชี้การเมืองไทยปี 2565 มีระเบิดเวลารอหลายลูก
วันนี้ (26 ธันวาคม 2564) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดแถลงข่าวสาธารณะ “สรุปวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา มองอนาคตการเมืองไทยไปอย่างไรต่อปีหน้า” ที่โรงแรมมณเทียรริเวอร์ไซด์ ถ.พระราม 3
นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงว่า 10 จุดบอด ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นเหตุผลสำคัญว่าไม่สามารถบริหารประเทศต่อได้ ประกอบด้วย
1. ล้มเหลวในการปฏิรูปตำรวจ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (2557 – รัฐธรรมนูญ 2560 – ปัจจุบัน) กรณีบอส กระทิงแดง ผกก.โจ้ เสี่ยโจ้ ร่างกฎหมายไปไม่ถึงไหน ฯลฯ
2. ล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เปิดกว้าง ประชาชนทุกข์ยากลำบากมากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ได้เอ่ยอ้างไว้
3.ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ คอรัปชั่น ระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก (กรณี นักการเมืองในสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล) ทั้งยังขาดธรรมาภิบาล จริยธรรมทางการเมือง แม้ว่าจะอวดอ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็น “ฉบับปราบโกง” ก็ตาม
4. ล้มเหลวในการยึดหลักการสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติหน้าที่ ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วาระแห่งชาติ ที่เคยประกาศ – แต่ไม่มีผลในความคืบหน้าใดๆ ไม่ยึดหลัก Non-refoulement อันเป็นสาระสำคัญของหลักมนุษยธรรมสากล ด้วยการผลักดันกลับผู้อพยพ ผู้แสวงหาที่พักพิงชั่วคราว ลี้ภัยทางการเมือง อย่างไม่ใยดี
5. ล้มเหลวในกิจการต่างประเทศ ภารกิจในทางสากล – เห็นได้จากท่าทีคบคิดกับเผด็จการทหารของพม่า ท่าทีต่อการประชุม COP26 ท่าทีต่อการร่วมประชุมผู้นำทางการเมืองระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน (HLPF@SDG 2030 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564) และต่อที่ประชุม UPR คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council เมื่อเดือนตุลาคม 2564)
6. ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน สิทธิของผู้บริโภค – เอื้ออำนวยให้บรรษัททุนขนาดใหญ่มีการควบรวมกิจการ ทั้งด้านโทรคมนาคม ด้านการอุปโภคบริโภค ฯลฯ และจะนำมาซึ่งการผูกขาด ถือเป็นการคุกคามสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง ท่าทีที่เพิกเฉยในการจัดการปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็เอื้ออำนวยให้ทุนใหญ่ได้เติบโตมากยิ่งขึ้น จึงเป็นการขัดกับหลัก “ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ” ที่รัฐพึงยึดถือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ
7. ล้มเหลวในการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม – การผลักดัน ร่างกฎหมายเพื่อควบคุมองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ถือเป็นการ “ถอยหลังเข้าคลอง-จมดิ่งสู่ก้นเหว” ทั้งที่ในทางสากล ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติรับรองการปฏิบัติหน้าที่ และคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ซึ่งประเทศไทยก็ได้ให้ความเห็นชอบด้วย นอกเหนือจากนี้วาระการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ก็จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและแรงหนุน และการเป็นหุ้นส่วนทางสังคมจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งรวมทั้งองค์การพัฒนาเอกชน องค์การสาธารณประโยชน์ องค์การไม่แสวงหาผลกำไร การผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวถูกติติงจาประชาคมระหว่างแประเทศแล้วว่า เป็นการสวนทางกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยแท้
8. ล้มเหลวในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ – รัฐบาลที่จริงใจ และชาญฉลาดย่อมไม่ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวรุนแรงในการจัดการปัญหาที่ละเอียดอ่อน สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม รัฐบาลเพิกเฉยในการสร้างความเข้าใจแต่กลับใช้มาตรการที่รุนแรง และมาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องร้องคดี ปิดปากเยาวชนประชาชนผู้เห็นต่าง ที่ตกเป็นจำเลยในคดีความอาญาต่างๆ จำนวนมาก จนถูกประชาคมระหว่างประเทศตั้งคำถาม
9. ล้มเหลวในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ ทั้งที่รัฐสามารถใช้มาตรการที่สร้างสรรค์ ถ้อยที ถ้อยอาศัย ปรึกษาหารือให้เกิดความเข้าใจ นำไปสู่การปรองดอง และความยุติธรรม – การปราบปราม การสลายการชุมนุมโดยไม่ยึดถือแนวทางที่เป็นที่ยอมรับในทางสากล จับกุมคุมขัง ใช้มาตรกาทางกฎหมาย กับเด็กเยาวชน ทั้งบางรายอายุยังไม่ถึง 18 ปีด้วยซ้ำ จนทำให้ถูกติเตียนโดยประชาคมระหว่างประเทศ เสียภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของชาติอย่างรุนแรง น่าเป็นห่วงว่าหากความโกรธ เกลียดชังระหว่างกลุ่มชนขยายตัวไปเกิดความรุนแรงมากกว่านี้ อาจเกิดโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกับ กรณี 6 ตุลาคม 2519 ก็อาจเป็นไปได้ จึงขอเตือนไว้มา ณ ที่นี้
10. ล้มเหลวในการสร้างธรรมาภิบาล และยึดถือหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ – ด้วยการตรากฎหมาย ร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองคนหายและต่อต้านการซ้อมทรมาน ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ, ร่าง พ.ร.บ.องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่รัฐมีอคติต่อภาคประชาชน จึงต้องการตรวจสอบกลุ่มองค์กรเหล่านี้ที่อาจมีความเห็นต่างจากรัฐบาล ในข้อหาฟอกเงิน กระทบต่อความมั่นคง ฯลฯ ถือเป็นการต่อต้านการมีส่วนร่วมของสังคม ขาดจริยธรรมทางการเมืองและสังคม โดยแจ้งชัด
“10 ประการ ดังที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติ ขาดวิสัยทัศน์ ขาดจริยธรรม ขาดเจตจำนงทางการเมือง ขาดความสามารถ และขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อไป” นายบุญแทน กล่าว
ทางด้านนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวสรุปการแถลงข่าวว่า ปีหน้าจะเกิดวิกฤตการณ์ในหลายด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และมีระเบิดเวลาอีกหลายลูกที่ถูกจุดโดยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ที่กลายมาเป็นคู่ความขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นระเบิดเวลาที่รัฐสภาจะร่วมหาทางออกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือกฎหมายงบประมาณต่างๆ รวมถึงระเบิดเวลาโดยรัฐธรรมนูญ และการลุกขึ้นต่อต้านของประชาชนเพื่อบอกว่าพอกันที
“ครป. ขอสวัสดีปีใหม่ประชาชนไทยและเป็นกำลังใจให้คนไทยต่อสู้ต่อไป แม้เราไม่อาจคาดหวังอะไรจากรัฐบาลได้แล้ว แต่เราคาดหวังว่าประชาชนจะไม่เสื่อมศรัทธาในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม” นายเมธา กล่าวปิดท้าย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: