นนทบุรี – กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย 2 เดือน พบติดโอมิครอน เกือบทั้งประเทศ 5,397 คน มีเพียง 6 จังหวัดยังไม่มีรายงาน ยืนยัน ATK ตรวจหาเชื้อโอมิครอนได้ ชี้ ‘เดลตาครอน’ อาจเป็นสิ่งปนเปื้อนเชื้อ ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่
วันที่ 10 มกราคม 2565 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มาเกือบ 2 เดือน ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว 5,397 คน กระจายไปใน 71 จังหวัด ซึ่งตั้งแต่เดือน พ.ย.2564 จนถึง 9 ม.ค.2565 พบว่ามีสัดส่วนเป็นเชื้อเดลตา 64.71% เป็นโอมิครอน 35.17% ส่วนที่เหลือเป็นสายพันธุ์เบตาและอัลฟา
เมื่อพิจารณาเป็นรายสัปดาห์ ช่วงวันที่ 2-8 ม.ค.65 ที่ผ่านมา พบว่าเป็นสัดส่วนโอมิครอน ถึง 70.3% ที่เหลือเป็นเดลตา 29.7% ซึ่งการแพร่กระจายของโอมิครอนเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ และสัปดาห์ล่าสุด พบโอมิครอนถึง 91.3% เป็นการสุ่มตรวจที่พบในคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ขณะที่ในประเทศพบ 57.9% เป็นการตรวจในกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ซึ่งอาจสูงเกินจริง จึงมอบหมายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ ปรับการตรวจด้วยการสุ่มตรวจสายพันธุ์ สัปดาห์ละ 140 ตัวอย่าง เพื่อให้ได้สัดส่วนสถานการณ์โอมิครอนจริง
ทั้งนี้ มีเพียง 6 จังหวัดที่ไม่มีรายงานการพบเชื้อ คือ จ.น่าน ตาก ชัยนาท อ่างทอง พังงา และนราธิวาส
สำหรับ 10 จังหวัดที่พบโอมิครอนเกิน 100 คน มีดังนี้
กรุงเทพมหานคร 1,820 คน ติดในประเทศ 270 คน
ชลบุรี 521 คน ติดในประเทศ 295 คน
ภูเก็ต 288 คน ติดในประเทศ 17 คน
กาฬสินธุ์ 249 คน ติดในประเทศ 247 คน
ร้อยเอ็ด 237 คน ติดในประเทศ 237 คน
สมุทรปราการ 222 คน ติดในประเทศ 27 คน
สุราษฎร์ธานี 199 คน ติดในประเทศ 19 คน
มหาสารคาม 163 คน ติดในประเทศ 163 คน
อุดรธานี 149 คน ติดในประเทศ 149 คน
ขอนแก่น 136 คน ติดในประเทศ 136 คน
นายแพทย์ศุภกิจ ย้ำว่า อาจไม่จำเป็นต้องตรวจเพื่อให้รู้ว่าสายพันธุ์ไหนทุกคน เพราะไม่ว่าพันธุ์ไหนก็รักษาเหมือนกัน แต่การตรวจสายพันธุ์เพื่อให้รู้สถานการณ์ และเมื่อสายพันธุ์โอมิครอนครอบคลุม 80-90 % อาจจะลดการตรวจหาสายพันธุ์ลง นอกจากนี้ กรมฯได้สุ่มทดสอบความใช้ได้ของชุดตรวจ ATK สำหรับตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอน พบว่าทั้งหมดสามารถตรวจจับเชื้อโอมิครอนได้ ขณะเดียวกัน ไม่มีชุดตรวจ ATK ที่สามารถตรวจโอมิครอนได้เป็นการเฉพาะ ถ้ามีการโฆษณาว่าตรวจโอมิครอนได้ ถือเป็นของเก๊
ข่าวน่าสนใจ:
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
- นนทบุรี ผัวหึงโหด ใช้ปืนจ่อยิงหัวเมียเสียชีวิตหลังนำส่งโรงพยาบาล
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
- พะเยา สมัคร สจ.วันแรกคึกคักแดงทั้งทีม นักการเมืองระดับชาติ ส่งชิงเก้าอี้
ส่วนการรายงานเรื่องการพบเชื้อลูกผสม ‘เดลตาครอน’ นั้น ธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำความเข้าใจว่า กรมได้หารือกับจีเสด (GSAID) มีรายงานโดยผู้เชี่ยวชาญที่ไซปรัส ส่งข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวไปที่จีเสส พบว่าใน 24 ตัวอย่าง มีการกลายพันธุ์ทั้งในส่วนที่เป็นเดลตา และโอมิครอน อยู่ด้วยกัน แต่จากการตรวจเพิ่มพบส่วนที่เป็นโอมิครอนมีความเหมือนกันหมด แต่ส่วนที่เป็นเดลตามีความแตกต่างกันไป ตรงนี้สำคัญมาก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ใหม่จริง ๆ จะต้องตรวจทั้ง 2 ฟากเหมือนกัน ไม่ใช่มีฟากเดียวที่มีความแตกต่าง เพราะตอนนี้เชื้อเดลตามีสายพันธุ์ย่อยถึง 120 สายพันธุ์ เพราะฉะนั้นที่ไซปรัส สรุปว่าจีเสส ยังจัดชั้นการค้นพบ 24 รายนี้เป็นสายพันธุ์เดลตา ไม่ใช่เป็นสายพันธุ์ใหม่
“โอกาสที่จะเกิดได้มากที่สุด คือ เป็นเรื่องของการปนเปื้อนในสิ่งส่งตรวจ คือ ติดเชื้อเดลตา แต่ไปปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโอมิครอน ทำให้พบ 2 สายพันธุ์ในตัวอย่างเดียวกัน อีกหนึ่งอย่างที่อาจจะเป็นไปได้แต่ไม่มาก คือ การติด 2 สายพันธุ์ในคนเดียวซึ่งมีโอกาสน้อยมาก เพราะ 24 ตัวอย่างที่มาพร้อมกัน จะเป็นการติดต่อ 2 สายพันธุ์นั้น เป็นไปได้น้อย แทบจะไม่มีโอกาสได้เลย ถ้าซื้อหวยก็ฟันธงได้เลยว่าที่บอกว่าเป็นตัวใหม่ เป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือเป็นลูกผสมเป็น Hybrid นั้น โอกาสน่าจะเป็นศูนย์เลยจากคาแรคเตอร์ที่เจอ แต่กรมวิทยฯ ก็จะติดตามข้อมูลต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: