X

คน-ช้าง-ป่า…. ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก

๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๔  พลายสีดอแดง ดาวดังแห่งป่าเขาสอยดาว  ล้มคารั้วไฟฟ้าที่ล้อมสวนผลไม้

๑๙  พฤศจิกายน ๒๕๖๔   มีข่าวว่าช้างถูกไฟฟ้าช็อตจนล้ม ๑ ตัว ที่บ้านวังใหม่ หมู่ ๑๗ ต.ท่าวังช้าง อ.กบินทร์บุรี   จ.ปราจีนบุรี

๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔  มีข่าวโขลงช้างป่าจากอุทยานแห่งชาติทับลาน นับสิบตัวบุกลงทำลายสวนมะพร้าวน้ำหอมในเขต อ.ครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ได้รับความเสียหายนับร้อยต้น

ก่อนหน้านี้ช้างบุญช่วยพังบ้านชาวบ้านที่ป่าละอู อ.หัวหิน จ.ประจวบฯจนโด่งดังมาแล้ว และข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการกระทบกระทั่งกันระหว่างช้างและคนจะยังมีมากอีกเรื่อยๆ

ช้างล้นป่า….เรื่องที่ต้องยอมรับกันก่อน

ข้อมูลจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  รายงานสถานการณ์ช้างป่าในประเทศไทยในปี ๒๕๖๔ ว่ามีอาศัยในป่าธรรมชาติ ประมาณ ๓,๑๖๘-๓,๔๔๐ ตัว  ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ จำนวน ๖๙ แห่ง   ที่พบช้างได้ตั้งแต่น้อยกว่า ๑๐ ตัว ไปจนถึง ๒๐๐-๓๐๐ ตัว  มีพื้นที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่ารวมกันทั้งสิ้น ๕๒,๐๐๐  ตารางกิโลเมตร  โดนกลุ่มป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ประชากรช้างป่าคือ  กลุ่มป่าตะวันตก คาดว่ามีช้างป่าประมาณ ๖๔๒-๗๓๔  ตัว  กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว ราว ๔๙๐ ตัว   กลุ่มป่าแก่งกระจานราว ๔๘๗-๕๐๐ ตัว   กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ๕๓๓-๕๘๖ ตัว     และกลุ่มป่าตะวันออก ๔๒๓ ตัว   ซึ่งแต่ละพื้นที่   ช้างอยู่ในสภาพที่   “ล้น”

สมปอง ทองศรีเข้ม  ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า   ให้เหตุผลของการที่ช้างล้นป่าเพราะว่าทั้งช้างที่จะถูกสัตว์ผู้ล่าควบคุมจำนวนตามระบบนิเวศนั้นมีน้อย   อีกทั้งการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ(Smart  Partrol) นั้นทำงานได้ผล ป้องปรามการลักลอบล่าช้างได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ การลดจำนวนของช้างจากการล่าจึงแทบไม่มี ช้างจึงเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่สภาวะช้างล้นป่าดังกล่าว  ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่ช้างที่ล้นพื้นที่   แต่กระทิงก็เริ่มจะเกิดปัญหาล้นพื้นที่แล้วเช่นกัน

ปัญหาในการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า

ช้างที่ออกจากป่านั้นมาจากหลายสาเหตุ    ปัญหาหลักๆ ก็คือการที่พื้นที่ป่าที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างนั้นลดลง  ถูกบุกบุก แปรสภาพเป็นชุมชนและที่ทำกิน  บ้านเรือนและชุมชนเข้ามาอยู่จนชิดติดป่าที่ช้างอยู่อาศัย   ช้างป่าถูกจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายฝูง   และต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการหากิน  ส่งผลต่อการดำรงชีวิต  และโอกาสในการเคลื่อนย้ายเพื่อแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกับช้างป่าโขลงอื่นนั้นแทบไม่เกิดขึ้น

ปัจจัยที่สองคือความอุดมสมบูรณ์ของปัจจัยในการดำรงชีวิตของช้างป่าลดลงและไม่เพียงพอ   ส่งผลให้ช้างต้องออกมานอกพื้นที่อนุรักษ์ไปหากินพืชผลทางการเกษตรของชุมชนแทน

ปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งในหลายพื้นที่ช้างป่าอยู่ในสภาพภูมิประเทศและสภาพทางนิเวศที่มีความเหมะสมน้อย    ประกอบกับที่ราษฎรมามีพื้นที่ทำกินอยู่ติดชายป่า และมักปลูกพืชผลที่เป็นอาหารช้าง จึงยิ่งทำให้ช้างออกมานอกพื้นที่ และเข้าหากินในพื้นที่เกษตรกรรมเหล่านั้น   ในบรรดา ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีช้างป่า  ๖๙  แห่ง  มีพื้นที่ที่มีปัญหาระหว่างคนกับช้างในกรณีนี้ถึง ๔๑ แห่ง   ในจำนวนนี้มีปัญหาวิกฤตถึง ๒๓ แห่ง

และปัญหาข้อสุดท้ายคือความไม่สอดคล้องของช้างกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์  ซึ่งประชากรช้างในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่มีพื้นที่อยู่อาศัยอยู่ในราว ๕๒,๐๐๐ ตร.กม. หรือราว ๓๐% ของพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย

ช้างตะวันออก….ปัญหาไม่ใช่น้อย

ผืนป่าตะวันออกที่มีพื้นที่  อช.เขาสิบห้าชั้น   อช. เขาชะเมา-เขาวง   อช.เขาคิชกูฏ   อช. น้ำตกพลิ้ว   อช.น้ำตกคลองแก้ว  อช.หมู่เกาะช้าง    ขสป.เขาอ่างฤาไนย ขสป.คลองเครือหวาย ขสป.เขาสอยดาว  แต่ที่มีปัญหาเรื่องช้างป่าดูเหมือนจะเป็นกลุ่ม ขสป.เขาอ่างฤาไนย  อช.เขาสิบห้าชั้น  ขสป.สอยดาว   อช.ขาชะเมา-เขาวง  อช.เขาคิชกูฎ  อช.น้ำตกคลองแก้ว  ขสป.คลองเครือหวาย  ซึ่งเป็นกลุ่มป่าที่มีปัญหาเรื่องช้างออกนอกพื้นที่มากที่สุด (รองลงมาก็คือช้างจากกลุ่มป่าแก่งกระจาน)   และในกลุ่มป่าตะวันออกนี้   เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน   แทบจะคือต้นทางของช้างที่ออกไปนอกพื้นที่มากที่สุด

ที่ผ่านมา   กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช ทุ่มงบประมาณ   รวมทั้งมีหน่วยงานอื่นๆมาช่วยทั้งจังหวัด และ อบจ.แต่ละแห่งก็ออกมาช่วยกัน     ทั้งการพยายามสร้างเครื่องกีดขวาง     ทั้งการสร้างรั้วไฟฟ้า    รั้วกั้นช้าง   คูกั้นช้าง    หรือการคิดหาวิธีการใหม่ๆ   อย่างการสร้างกำแพงไผ่ป่า   แต่ดูเหมือนว่า  ทุกวิธีการจะแก้ปัญหาได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ  เพียงไม่นาน ช้างก็จะหาวิธีการออกมาอีกจนได้     ซึ่งขณะนี้มีการสร้างรั้วกั้นช้างที่เป็นเสาคอนกรีตที่มั่นคง แข็งแรง  สร้างในหลายพื้นที่ อย่างที่ป่าละอู  ต.ห้วยสัตว์ใหญ่  อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์   ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นต้น

สิ่งที่ทางกรมอุทยานฯ ทำมาตลอด  ก็คือ  การสร้างแหล่งอาหาร  แหล่งน้ำให้เพียงพอ    ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนเอง   มีการสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในหลายพื้นที่  แม้กระทั่งการสูบน้ำบาดาลมาเติมในบ่อน้ำบนผิวดินโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์   เพื่อไม้ให้น้ำขาดแคลนในฤดูแล้ง  หรือการสร้างแปลงหญ้าให้เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ ทั้งเป็นการบังคับและดึงดูดช้างให้อยู่ในพื้นที่ทั้งสิ้น  เป็นที่น่าสังเกตว่าช้างจากป่าธรรมชาติทั้งหลายนั้นแทบไม่เห็นช้างที่มีร่างกายผ่ายผอมเลย  ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องยืนยันได้หนึ่งอย่างว่าแหล่งอาหาร  แหล่งน้ำในธรรมชาตินั้นไม่ได้ขาดแคลนแต่อย่างใด

แต่ที่ช้างยังออกจากป่า….!

นายวีระพงศ์ โคระวัตร  หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน   บอกว่า  พืชผลทางการเกษตรอื่นๆ อ้อย  สับปะรด  มะพร้าว   นี้เอง ที่ดึงดูดให้ช้างออกมานอกพื้นที่แม้ว่าอาหารและน้ำในพื้นที่จะไม่ขาดแคลนก็ตาม   พฤติกรรม “การตั้งด่าน” ของช้าง  ในฤดูขนย้ายอ้อยในถนนสายหนองคอก-คลองหาด  จึงเป็นที่กล่าวขวัญถึง และมีพฤติกรรมแบบนี้ทุกปีในช่วงฤดูรถบรรทุกอ้อย

ช้างอด…หรือแค่หาอะไรใหม่ๆ กิน เหมือนคนเราที่หาอาหารหลากหลายมาบริโภค

ศูนย์แจ้งภัย และอาสาสมัคร  เครื่องมือเฝ้าระวังช้างป่า

กรมอุทยานฯ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและโครงการหมู่บ้านคชานุรักษ์ในการสนับสนุนอุปกรณ์แจ้งเมื่อช้างออกมานอกพื้นที่  โดยการติดกล้องดักถ่ายไว้ตามเส้นทางที่ช้างมักจะออกมาจากป่า    เมื่อมีช้างออกมานอกพื้นที่   กล้องจะส่งสัญญาณเข้าไปที่ศูนย์ซึ่งตั้งอยู่ในที่ทำการพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ เมื่อส่งสัญญาณเข้าไปที่ศูนย์  ทางศูนย์ก็จะแข้งไปยังชุมชน    เพื่อให้ประชาชนเลี่ยงการออกเผชิญหน้ากับช้างซึ่งอาจเกิดความสูญเสียขึ้นได้     และแจ้งไปยังหน่วยเฝ้าระวัง ออกมาต้อนช้างเข้าไปในป่า     ซึ่งหน่วยเฝ้าระวังนี้ ในพื้นที่ป่าตะวันออก จะเป็นการผสมผสานกันทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ   เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง  อำเภอ  ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน  อาสาสมัครที่เป็นชาวบ้าน   ออกมารวมตัวกันเมื่อเป็นอาสาแจ้งภัยและต้อนช้างป่าเข้าพื้นที่ป่า  โดยพื้นที่ปาตะวันออกจะมีอยู่นับสบชุด กระจายกันอยู่โดยทั่ว และอาจมีการระดมกำลังมาช่วยกันได้ด้วย   ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้ออกมาทำหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินของตัวเองและชุมชน  โดยผ่านการอบรมจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อนออกปฏิบัติงาน   ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประชาชนจะได้ตะหนักรู้ถึงแก่นของปัญหา เห็นปัญหาและแนวทางแก่ไขร่วมมือกัน ไม่ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของภาคราชการอย่างเดียว

โครงการพัชรสุธาคนุชานุรักษ์….โครงการเพื่อมาแก้ปัญหาช้าง ในป่าตะวันออก

​พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชบายว่า “ช้างเป็นสัตว์คู่กับประเทศไทยเป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นมงคล ต้องดูแลรักษา และปฎิบัติให้ช้างป่าอยู่กับชุมชนอยู่กับคนได้อย่างราบรื่นและปลอดภัยทั้งคนและช้าง” จากพระบรมราโชบายนี้   จึงนำมาสู่หนทางการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างให้อยู่ด้วยกันได้     โดยมี “โครงการพัชรสุธาคนุชานุรักษ์” อันเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ทรงเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานคณะกรรมการโครงการฯ โดยที่ตั้งศูนย์ดำเนินการอยู่ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง  ซึ่งโครงการให้การสนับสนุนทุกอย่างในการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น​​โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรมการ   ได้เสด็จมาตามผลงานการดำเนินงานในพื้นที่หลายครั้ง ทั้งยังมีการจัดตั้ง​ “หมู่บ้านคชานุรักษ์” เพื่อให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่ช้างอาจออกมานอกพื้นที่   ทำความเข้าใจถึงความสำคัญและจำเป็น  เรียนรู้พฤติกรรมของช้าง ทั้งหาทางออกในการประกอบอาชีพให้มีรายได้ที่เพียงพอ และจัดตั้ง “กองทุนคชานุรักษ์” เพื่อให้ชุมชนมีกองทุนสำรอง และแต่ละชุมชนสามารถวางแผน เพื่อบริหารจัดการกองทุนได้ด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถทำกิจกรรมเพื่อหารายได้เข้ากองทุน อันเป็นการบริหารจัดการชุมชนเพื่อให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและปลอดภัย ตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแก้ปัญหาระหว่างคนและช้างอย่างยั่งยืน   ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นกำลังสำคัญที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาช้างป่าอย่างมาก

อุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาช้างกับคน

ในขณะที่การป้องกันดูแลพื้นที่ป่าและสัตว์ป่า ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การล่าสัตว์ลดน้อยลง ปริมาณสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น    ปัญหาระหว่างคนและสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น เพราะพื้นที่เท่าเดิม สัตว์ป่ามากขึ้น การออกนอกพื้นที่ก็มากขึ้น  แม้จะมี แผนงานทั้งหลายที่วางแผนไว้เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวให้ดีเลิศอย่างไร แต่งบประมาณก็ถูกตัดลงเรื่อย ๆ   ในปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ของบประมาณไป ๒๗๒,๑๙๖,๗๐๐บาท ได้รับการจัดสรรมา ๒๐๒,๓๓๔,๖๐๐  บาท คิดเป็น ๗๔.๓  %  ปีงบประมาณ ๒๕๖๓  ขอไป ๓๗๕,๓๖๔,๘๐๐ บาท   ได้รับการจัดสรร ๙๙,๓๘๘,๑๐๐  คิดเป็น  ๒๖.๔ %  ปีงบประมาณ ๒๕๖๔  ขอไป ๖๗๗,๖๘๘,๓๐๐ บาท  ได้รับการจัดสรร ๗๘,๘๔๐,๒๐๐  คิดเป็น ๑๒ %  และในปี งบประมาณ ๒๕๖๕  ขอรับการจัดสรรไป ๓๙๑,๗๑๕,๗๐๐  ได้รับการจัดสรร  ๑๑๓,๘๓๔,๓๐๐ หรือคิดเป็น ๒๙ %

ปัญหางบประมาณที่ถูกตัด ทำให้แผนงานทั้งหลายที่วางไว้ในการแก้ปัญหา ช่วยทำได้ครบแผน เมื่องบประมาณไม่เป็นตามนั้น การดำเนินงานก็ทำได้เพียงบางส่วน ปัญหาจึงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนที่ตัดงบประมาณไม่ได้มามีส่วนในการแก้ปัญหา ไม่ได้มีบ้านเรือนหรือที่ทำกินที่สุ่มเสี่ยงกับช้างจะลงมาทำลายพืชผล จึงอาจไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นถึงความเดือนร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ   อีกทั้งปัญหาข้อกฎหมายอีกหลายเงื่อนไขที่ยังคงมีความคลุมเครือ ทำให้ไม่สามารถชดเชยหรือช่วยเหลือชาวบ้านได้เต็มที่   ปัญหาช้างป่าและคน   จึงไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยให้กรมอุทยานฯดำเนินการเพียงอย่างเดียว  หากแต่จะได้รับความร่วมมือที่มากกว่านี้

“ช้างป่า   ไม่ใช่ช้างของกรมอุทยานฯ แต่เป็นช้างของประเทศ    การแก้ไขปัญหา แม้กรมอุทยานจะมีหน้าที่ แต่หน่วยงานภาครัฐมีมีอำนาจมากกว่า ต้องให้ความร่วมมือ ไม่เช่นนั้นปัญหามันจะแก้ไม่จบ “

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกล่าวทิ้งท้าย…..

……………………………..

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน