จากกรณีเกิดโรคระบาดในหมูในหลายจังหวัดทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ และจังหวัดตรัง พบเกิดการระบาดนับตั้งแต่เดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 โดยเกิดขึ้นในหลายอำเภอ ทั้ง อ.นาโยง อ.รัษฎา และอ.ห้วยยอด ส่งผลทำให้หมูตายลงเป็นจำนวนมาก โดยเกษตรกรซึ่งทั้งหมดเป็นรายย่อย เลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริม และเลี้ยงเป็นอาชีพหลักควบคู่กับการทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ต้องเร่งทำลายด้วยการฝังซาก และบางส่วนต้องเร่งระบายขายทิ้ง ก่อนเชื้อโรคระบาดจะลุกลามเข้ามาในฟาร์ม ในที่นี้ มีเกษตรกรบางรายแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอให้เข้าไปตรวจสอบขณะที่หมูล้มตาย
โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบและสั่งการให้เจ้าของฟาร์มเร่งฝังทำลายซากในทันที และเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างเลือดหมู เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อด้วย แต่ข้อมูลกลับหาย ไม่มีการรายงานว่าพบเชื้อระบาดในจังหวัดตรัง และไม่มีการแจ้งเกษตรกรเจ้าของฟาร์มให้ได้รู้ว่าหมูตายด้วยสาเหตุหรือเชื้ออะไร ไม่มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติโรคระบาด เพื่อให้ความช่วยเหลือและใช้กฎหมายบังคับควบคุมพื้นที่ ไม่มีการแจ้งเตือนเกษตรกรรายอื่นๆในรัศมีใกล้เคียง หรือเกษตรกรรายอื่นๆในจังหวัด แต่มีการข่มขู่ และประกาศจะงัดกฎหมายจัดการกับเกษตรกรรายย่อยในการขอตรวจสอบหนังสือการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่นำมาเลี้ยง และจะเอาผิดในข้อหาเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เกษตรกรหลายรายไม่อยากมีปัญหา จึงเร่งทำลายซากด้วยการฝังซากทิ้ง และหลายรายทำลายซากเอง โดยไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ เพราะไม่อยากจะยุ่งยาก ทำให้ขณะนี้ฟาร์มเลี้ยงหมูจำนวนมากถูกปล่อยทิ้งร้าง เกษตรกรไม่กล้าลงทุนเลี้ยงใหม่ ขณะที่ทางจังหวัดยืนยันว่าหมูในจังหวัดตรังไม่เคยเกิดโรคระบาดมานานแล้ว โดยเฉพาะในห้วงระยะเวลาก่อนสิ้นปี 2564
ล่าสุด เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยรายหนึ่งในจังหวัดตรัง ซึ่งหมูในฟาร์มที่มีหลายร้อยตัว ได้ตายลงด้วยโรคระบาดเช่นเดียวกันในระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม 2564 ได้เก็บตัวอย่างเลือดหมูที่ตายในฟาร์ม และยอมควักเงินส่วนตัวจำนวน 1,200 บาท เป็นค่าใช้จ่าย ส่งตัวอย่างเลือดไปให้ศูนย์ปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคทางสัตวแพทย์เอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ทำการตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการตายและสายพันธุ์เชื้อด้วยตนเอง โดยเกษตรกรรายนี้ ได้ส่งข้อมูลหลักฐานยืนยันให้กับสื่อมวลชนว่า ผลตรวจเลือดจากห้องแล็ปเอกชนดังกล่าว ยืนยันพบหมูในฟาร์มติดเชื้อ ASF เช่นเดียวกับเชื้อที่มีการตรวจพบในหลายจังหวัด แต่ในที่นี้ ทางเกษตรกรไม่อยากมีปัญหากับหน่วยงานรัฐ จึงไม่อยากเปิดเผย แต่ได้ให้ข้อมูลผลตรวจดังกล่าวกับสื่อมวลชนนำมาเปิดเผยยืนยันว่า ในจ.ตรัง ก็พบเชื้อ ASF ในหมูเช่นเดียวกัน และเชื่อว่าทุกฟาร์มในจังหวัดตรังที่เกิดโรคระบาด ทำหมูตายไปนับ 10,000 ตัว จนต้องหยุดเลี้ยงจำนวนมากในขณะนี้นั้น อาจจะเกิดจากเชื้อชนิดเดียวกัน โดยที่ทางเจ้าหน้าที่พยายามปกปิดข้อมูลเหมือนกับเจ้าหน้าที่ทุกจังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระดับสูง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่จะต้องส่งออกหมูไปต่างประเทศ ไม่ให้กระทบการส่งออก จึงพยายามปกปิดข้อมูลเรื่องการเกิดโรคระบาดในหมูดังกล่าว แต่ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนหมดตัว ต้องล้มหายตายจากไปจากอาชีพ และหมูต้องหายไปจากสารบบ ทำให้หมูราคาแพง จากโรคระบาดที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
- คึกคัก นาย"บุ่นเล้ง" อดีตนายกอบจ.ตรัง นำทีมนายกบุ่นเล้ง สมัครครบ 30 เขต ท่ามกลางกองเชียร์คับคั่ง
พร้อมระบุว่า หากเจ้าหน้าที่มีการแจ้งเตือนเกษตรกร ของตนก็จะไม่เกิด จะป้องกันควบคุมได้ทัน ความเสียหายจะไม่เกิดมากมาย จนกระทบคนจำนวนมากอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจังหวัดตรังนั้น เกิดโรคระบาดในหมูขึ้นมากในหลายอำเภอรวมกว่า 20 แห่ง ทั้งอ.นาโยง , อ.รัษฎา ,อ.ห้วยยอด, โดยเฉพาะในตำบลควนเมา อ.รัษฎา และ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด บางตำบลยังเกิดกับหมูสายพันธุ์พื้นบ้านจำนวนมาก เช่นที่ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด
ทั้งนี้ เฉพาะของพื้นที่ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด นายพรชัย สุวรรณอัมพร นายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจฟาร์มเลี้ยงหมูที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในพื้นที่ในห้วงระยะเวลาประมาณ 3 – 4 เดือนที่ผ่านมา พบมีจำนวน 13 แห่ง หมูตายไปประมาณ 3,500 ตัว และขณะนี้ฟาร์มหมูทั้ง 13 แห่งดังกล่าว ต้องทิ้งร้างปิดตัวลง พร้อมกับเจ้าของต้องขาดทุนจำนวนมาก และยืนยันหมูในพื้นที่ตายด้วยโรคระบาด และเจ้าหน้าที่รัฐพยายามปกปิดข้อมูล ทำเกษตรกรซึ่งเป็นชาวบ้านเลี้ยงหมู เพื่อเป็นอาชีพเสริมจากสวนยางพาราเดือดร้อนหนัก เพราะไม่มีการแจ้งเตือนเกษตรกร และไม่ได้เข้าไปควบคุมพื้นที่ ทุกรายเป็นหนี้สิน บางรายบ้านและที่ดินนำจำนองกับธนาคาร ขอให้รัฐแสดงความรับผิดชอบ เร่งลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริง และเยียวยาเกษตรกรทุกรายโดยด่วน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: