นครศรีธรรมราช – ‘ปลาดุกลำพัน’ คืนถิ่นป่าพรุควนเคร็ง ประสบความสำเร็จ ‘นายหัวไทร’ สื่ออาวุโส ประกาศเดินหน้าพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ที่ศาลาเอนกประสงค์ หมู่ที่ 3 ต.เคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มีพิธีปล่อยปลาดุกลำพัน 500 กิโลกรัม คืนถิ่นป่าพรุควนเคร็ง และปลาอื่น ๆ อีก 200,000 ตัว
โครงการนี้จัดขึ้น โดยมี นายเฉลียว คงตุก กรรมการมูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ และรองประธานสมาพันธ์จิตอาสาชาวใต้ เป็นประธานโครงการ ร่วมด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลเคร็ง ท้องถิ่น อำเภอ ประมงจังหวัด ประมงอำเภอ หน่วยป้องกันไฟป่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน พี่น้องชาวเคร็ง เกือบ 200 คน เข้าร่วมในกิจกรรม
โครงการปล่อยปลาดุกลำพันคืนถิ่นป่าพรุควนเคร็ง เริ่มต้นด้วยการทำบุญเลี้ยงพระเพล รับพร และอนุโมทนาบุญ ผู้ร่วมงานและร่วมบริจาคทำบุญซื้อพันธุ์ปลาดุกลำพัน จากป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส มาปล่อยฟื้นคืนธรรมชาติ อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำน้ำหายาก
จากนั้น มอบพันธุ์ปลาให้แก่ชาวบ้านไปเลี้ยงในบ่อของตนเอง รวมถึงการมอบพันธุ์ปลาดุกลำพันให้แก่ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อนำไปศึกษา วิจัย โดยมี นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ส.ส. จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
นายเฉลียว กล่าวกับชาวบ้านว่า วันนี้ ได้นำปลาดุกลำพัน 500 กิโลกรัม มาปล่อยคืนป่าพรุควนเคร็ง เป้าหมายเพื่อฟื้นธรรมชาติของเคร็งให้กลับคืนมา
“อยากจะให้ทุกหน่วยในพื้นที่ช่วยกันรณรงค์ว่า ถ้าจับปลาดุกลำพันได้ในช่วงหลังจากนี้ อย่าเพิ่งนำมาทำอาหาร ให้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติก่อน เพื่อทอดเวลาให้เขาได้ขยายพันธุ์ก่อน เราต้องหวังว่า ป่าพรุควนเคร็งจะต้องเป็นคลังอาหารของนครศรีธรรมราช ของภาคใต้ และเป็นเรื่องไม่ยากถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกัน และอนาคตจะเป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืน”
นายเฉลียว กล่าวอีกว่า เราจะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ ต่อยอดจากสิ่งที่เคร็งมีอยู่มากมาย เคร็งมีธรรมชาติที่สวยงาม ต้องพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิญคนมาสัมผัสธรรมชาติ มาชมการสานเสื่อจากกระจูด มาดูผลิตภัณฑ์จากกระจูด ชาวเคร็งจะต้องศึกษาเรียนรู้การต้อนรับนักท่องเที่ยว สร้างชุมชนให้มีความพร้อม รีสอร์ต โฮมสเตย์ ร้านค้า ร้านกาแฟ แหล่งเช็คอินของนักท่องเที่ยว สตอรี่การท่องเที่ยว การเชื่อมโยง สิ่งเหล่านี้เราต้องสร้างให้พร้อมก่อนจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวมา โดยอาจจะมีสโลแกนสั้น ๆ ง่าย ๆ เช่น นอนเคร็ง 1 คืน อายุยืน 1 ปี เราขายความเป็นธรรมชาติ อากาศดี
ด้านนายธรรมนูญ คงจันทร์ กำนันตำบลเคร็ง กล่าวว่า ตำบลเคร็งได้ร่วมกันรณรงค์มาตลอดที่ปล่อยปลาดุกลำพันมา 5 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 แล้ว รณรงค์ให้ช่วยกันอนุรักษ์ปลาดุกลำพันเอาไว้ ถ้าจับได้ช่วงนี้อย่าเพิ่งเอามาทำกิน ให้ปล่อยคืนธรรมชาติ ถ้าใครจับปลาดุกลำพันได้ จะขอซื้อคืนทุกตัว เพื่อนำกลับไปปล่อยคืนธรรมชาติ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านอย่างดี ในฐานะกำนันของขอบพระคุณทุกท่านที่มาร่วมกันช่วยฟื้นฟูเคร็งของเรา ตนเองเกิดที่นี่ เคยเห็นความเป็นเคร็งมาตั้งแต่เกิด และเห็นความเสื่อมโทรมของเคร็ง จึงมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจะทำให้เคร็งฟื้นคืนกลับมาให้จงได้
การจัดโครงการปล่อยปลาดุกลำพันคืนถิ่นป่าพรุควนเคร็ง เป็นโครงการที่ริเริ่มคิดและทำโดยภาคประชาชน และทำมาอย่างต่อเนื่องอย่างน่าชื่นชม อนาคตเคร็งจะเป็นแหล่งอาหาร คลังอาหาร ของนครศรีธรรมราช
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: