กรุงเทพฯ – โฆษกรัฐบาล เผย นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เชื่อมโยงโครงข่ายทั่วประเทศ รองรับความต้องการ และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกคน
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญ คือ การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งในที่สุดจะส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน ถือเป็นรากฐานที่สำคัญ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศที่ครอบคลุมพื้นที่ สามารถรองรับความต้องการของประชาชน ทั้งในระดับครัวเรือน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และส่งผลต่อยอดเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเปิดเผยแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศ รวมกว่า 1,673 กิโลเมตร โดยแผนในปี 2565 ประกอบด้วย
♦ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร
♦ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร
♦ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร
สำหรับแผนลงทุนระยะยาว ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร เส้นทางหัวหิน – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 424 กิโลเมตร และเส้นทางสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 335 กิโลเมตร
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้าโครงการอย่างใกล้ชิดมาตลอด รวมทั้งงห่วงใย ติดตามความเดือดร้อนของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ โดยสั่งการให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างล่าช้า ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ การแก้ไขปัญหา PM 2.5 สำรวจความต้องการพื้นฐานของประชาชน และอำนวยความสะดวกในการให้บริการสาธารณะที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้นแก่ประชาชน
นายกรัฐมนตรีตั้งใจและให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการยกระดับศักยภาพของประเทศให้ครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมดังกล่าว เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ และยังจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าให้เกิดความต่อเนื่องได้อย่างไร้รอยต่อ สอดรับกับการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนยังเพิ่มบทบาทภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของระบบขนส่งทางรางอีกด้วย เชื่อมั่นว่า ผลที่สุดจะเกิดประโยชน์แก่การดำรงชีวิต และคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: