พุทธมามกะแสดงพลังศรัทธา อัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำโขง เริ่มงานนมัสการพระธาตุพนม 9 วัน 9 คืน ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด
จังหวัดนครพนมร่วมกับวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร พร้อมหน่วยงานภาครัฐ เอกชน จัดงานนมัสการพระธาตุพนมประจำปี 2565 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ-แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีรวม 9 วัน 9 คืน
ด้วย องค์พระธาตุพนมเป็นมหาเจดีย์บรรจุพระอุรังคธาตุ(กระดูกหน้าอกด้านซ้าย)ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเป็นพระธาตุประจำผู้เกิดปีวอก และพระธาตุประจำผู้เกิดวันอาทิตย์ ทั้งนี้ งานนมัสการพระธาตุพนม ชาวพุทธมามกะยึดเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งโบราณกาล อีกทั้งยังให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ รวมถึงความสง่างามขององค์พระธาตุพนม ที่กำลังขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ข่าวน่าสนใจ:
- สาวพลัดตกชั้น 3 อาคารพาณิชย์กลางพัทยา คาดเสพยาจนหลอน เจ็บหนัก
- ปราจีนบุรี ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ ปั่นปันน้ำใจ ฉะเชิงเทรา-หนองคาย
- มหกรรมอาหารทะเลพื้นบ้านประมงเรือเล็กระยอง อาหารทะเลสดๆ-สินค้าชุมชน ชมคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
โดยปีนี้งานนมัสการฯตรงกับวันที่ 9-17 กุมภาพันธ์ ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมากันอย่างเนืองแน่น เพื่อร่วมแห่พระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำโขง อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระวิหารหอพระแก้ว ก่อนที่จะมีพิธีเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุพนมประจำปี 2565
และก่อนที่ศาสนิกชนจะเข้าร่วมงานเจ้าหน้าที่ได้มีการตั้งจุดคัดกรองตามพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 10 จุด เพื่อตรวจคัดกรองผู้ที่จะเข้าร่วมงาน ซึ่งต้องมีอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ต้องผ่านการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม หรือมีผลการตรวจ ATK เป็นลบไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมงรับรอง จึงจะให้เข้าร่วมงานได้ และเมื่อเข้ามาภายในงานแล้วต้องกระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ และปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
ซึ่งทุกคนล้วนมาด้วยแรงแห่งศรัทธาเพราะมีการเตรียม ดอกไม้ ธูป เทียน ต้นผึ้ง ต้นเทียน ขันหมากเบ็ง หอพานบายศรี ตลอดจนเครื่องสักการะต่าง ๆ มาจากบ้านเพื่อมาร่วมพิธี แม้ในปีนี้จะไม่จัดใหญ่เช่นทุกปีที่ผ่านมาเนื่องด้วยสถานการณ์โควิดแต่จำนวนผู้ที่มาร่วมงานอย่างเนืองแน่น ก็
โดยพิธีอัญเชิญพระอุปคุต ประกอบพิธีกันที่ริมแม่น้ำโขง บริเวณท่าเรือข้ามฟากไทย-ลาว เนรมิตว่าตรงริมแม่น้ำโขงแห่งนี้เป็นบาดาลลึก มีพระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยผู้ลงไปอัญเชิญพระอุปคุต มีทั้งนายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนนายอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการรวม 5 นาย มุดน้ำลงไป 3 ครั้ง ก่อนจะอุ้มพระอุปคุตจากใต้น้ำมาส่งให้นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ประธานฝ่ายฆราวาส ที่รอรับอยู่ริมท่า แล้วอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นเสลี่ยง สาธุชนผู้เสื่อมใสต่างโปรยดอกไม้หอม ดอกไม้มงคลใส่องค์พระอุปคุตตลอดเส้นทาง มีขบวนนางรำอยู่เบื้องหน้า แห่ขึ้นไปประดิษฐานยังวิหารหอพระแก้ว บริเวณมณฑลวัดพระธาตุพนมฯ เพื่อคุ้มครองปกปักรักษา ไม่ให้เกิดขึ้นภยันตรายตลอดงาน 9 วัน 9 คืน ซึ่งยึดถือปฏิบัติมายาวนานหลายร้อยปี เพราะเชื่อว่าท่านมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มาก
ในตำนานอุรังคธาตุนิทาน กล่าวว่า พระอุปคุต มีชื่อเต็มๆว่าพระกีสนาคอุปคุตมหาเถระ เป็นบุตรของเศรษฐีเมืองมถุรา ริมฝั่งแม่น้ำยมนา (เกิดหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพานแล้ว 200 ปี) หลังออกบวชได้บำเพ็ญธรรมตามรอยพระพุทธองค์ จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วไปจำศีลบำเพ็ญธรรมอยู่ใต้ท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล
ต่อมา พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ก่อสร้างพระสถูปมหาเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 84,000 องค์ พร้อมจะฉลองสมโภชเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เกรงพญามารจะขัดขวางทำลายไม่ให้พระราชพิธีสมโภชนั้นดำเนินไปด้วยดี จึงปรึกษาคณะสงฆ์ มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า พระอุปคุตจำศีลอยู่ที่สะดือทะเล เป็นอรหันต์มีฤทธานุภาพมาก สามารถป้องกันโพยภัยได้ดีที่สุด พระเจ้าอโศกฯ จึงแต่งตั้งพระภิกษุ 2 รูป ซึ่งเป็นผู้ทรงอภิญญาสมาบัติเดินทางไปอาราธนา ด้วยการระเบิดน้ำเป็นทางเดินไปพบพระอุปคุต จากนั้นพระอุปคุตก็รับนิมนต์จึงเดินทางมายังนครปาตลีบุตราชธานี ครั้นพระเจ้าอโศกฯทอดพระเนตรเห็นพระอุปคุตแล้วรู้สึกหนักใจ เพราะร่างกายผอมแห้งเหมือนคนไม่มีเรี่ยวแรง จึงใคร่ลองทดสอบสมรรถภาพ
รุ่งเช้าขณะที่พระอุปคุตเดินบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ พระเจ้าอโศกฯทรงมีพระราชบัญชาให้ปล่อยช้างตกมันไล่เหยียบ พระอุปคุตเห็นช้างวิ่งไล่หลัง จึงเข้าญาณสมาบัติ อธิษฐานจิตให้ช้างเชือกนั้นมีสภาพแข็งดั่งหินผา ขยับเขยื้อนไปไหนไม่ได้ พระเจ้าอโศกฯเห็นเช่นนั้น เกิดความเคารพนับถือพระมหาเถระอุปคุตเป็นอันมาก จึงทรงขอขมาและทรงพอพระทัยยิ่งนัก
ครั้นได้มงคลฤกษ์จึงเริ่มบุญพิธีสมโภชพระมหาเจดีย์ตามพระราชประสงค์ ครั้งพญามารรู้ข่าวจึงคิดจะหยุดงานสมโภช ตำนานกล่าวว่า พญามาร หรือ พญาวัสวดีมาราธิราช ซึ่งเป็นตนเดียวกับที่ขัดขวางพระพุทธองค์ครั้งบำเพ็ญเพียรก่อนที่จะตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ คิดจะทำลายพิธีนั้น จึงแสดงอิทธิฤทธิ์ให้บังเกิดมหาวาตพายุอย่างร้ายแรง มีกำลังพัดมาประหนึ่งจะถล่มแผ่นดินให้ทลาย พระอุปคุตเถระเห็นอากาศวิปริตอย่างนั้นทราบชัดด้วยญาณอันประเสริฐของท่าน ว่า บัดนี้พญามารมาทำลายแล้ว ด้วยการบันดาลให้เกิดลมพายุขนาดมหึมา ราวจะถล่มพสุธาให้บรรลัยในพริบตา พระอุปคุตเห็นก็แก้ไขสถานการณ์สำเร็จ แต่พญามารยัง เนรมิตทั้งลมกรด ลมไฟบรรลัยกัลป์ หวังให้พิธีล่มสลาย แต่พระอุปคุตสามารถป้องกันเพทภัยได้หมด
กระทั่งพญามารปรากฎร่างเป็นยักษ์ หมายบดขยี้พระอุปคุตให้แหลกคามือ พระเถระเห็นว่าพญามารตนนี้มีใจบาปหยาบช้าสามานย์ มุ่งทำลายบุญกุศลต่างๆในบวรพระพุทธศาสนา จึงบริกรรมคาถาเสกสุนัขเน่าเหม็น ลอยไปแขวนคอพญามารพร้อมอธิษฐานไม่ให้ผู้ใดถอดออกได้
พญามารต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับพวงมาลัยหมาเน่า จึงไปขอความช่วยเหลือต่อท้าวโลกบาลทั้ง 4 ท้าวจตุมหาราชก็จนปัญญาเพราะแก้คำอธิษฐานของพระอุปคุตไม่ได้ พญามารไม่ละความพยายามไปหาเหล่าเทวดาอีกหลายท่านไปจนถึงท้าวมหาพรหม ก็ได้รับคำแนะนำว่าหนทางเดียวที่ทำได้ คือต้องไปขอขมาต่อพระอุปคุตเถระเท่านั้น
จอมมารรำพึงรำพันว่า พระรูปนี้เป็นเพียงสาวกของพระพุทธองค์ ยังมีฤทธิ์เดชขนาดนี้ จึงเกิดสำนึกในบาปที่ตนกระทำ แล้วอธิษฐานขอเป็นพระพุทธองค์ในอนาคตกาล ด้วยจิตอันแก่กล้าพระอุปคุตสดับรับฟังคำสำนึกบาปของพญามารได้ จึงกล่าวว่าท่านอย่าโกรธเราเลย เราทำด้วยด้วยปราณี จากนั้นก็คลายพันธนาการพวงมาลัยหมาเน่าออกจากคอของพญาวัสวดีมาลาธิราช
ซึ่งเรื่องราวของพระอุปคุตเถระที่เล่ามา มีปรากฏอยู่ในพระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ดังนั้น การจัดพิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำโขง ด้วยเหตุคือองค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นมหาเจดีย์บรรจุพระอุรังคธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็น 1 ใน 84,000 พระสถูปมหาเจดีย์ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง
นอกจากนี้งานนมัสการพระธาตุพนม ซึ่งตรงกับเดือน 3 ของทุกปี ชาวอีสานจึงเรียกกันว่าบุญเดือนสาม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือบุญข้าวจี่ มีอยู่ในฮีต 12 (จารีตของคนโบราณอีสาน) หรือประเพณี 12 เดือน มีปรากฏในหนังสือธรรมบทว่า ในสมัยหนึ่งนางปุณณทาสีได้ทำขนมแป้งจี่(ข้าวจี่) ที่ทำจากรำข้าวอย่างละเอียดถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระอานนท์ นางคิดว่าเมื่อพระพุทธองค์กับพระอานนท์รับแล้วคงไม่ฉัน เพราะอาหารที่เราถวายไม่ใช่อาหารที่ดีหรือประณีตอะไร คงจะโยนให้หมู่กาและสุนัขกินเสียกลางทาง พระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของนาง และเข้าใจในเรื่องที่นางปุณณทาสีคิด จึงได้สั่งให้พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐาก ได้ปูลาดอาสนะลงแล้วประทับนั่งฉันขนมแป้งจี่ของนาง ณ ที่นั้น พอนางได้เห็นก็เกิดความปิติอย่างสุดกำลัง และในตอนท้ายหลังการทำภัตตกิจด้วยขนมแป้งจี่เรียบร้อยแล้ว พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้ฟัง จนกระทั่งนางปุณณทาสีได้บรรลุโสดาบันเป็นอริยอุบาสิกาเพราะมีข้าวจี่เป็นมูลเหตุ ด้วยความเชื่อแบบนี้คนอีสานโบราณจึงได้จัดแต่งให้บุญข้าวจี่ทุกๆปีไม่ได้ขาด
ตลอดงานนมัสการพระธาตุพนม 9 วัน 9 คืน จะมีการแสดงสินค้าโอทอป การแสดงหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี นิทรรศการหมู่บ้านรักษาศีล 5 การฟังพระธรรมเทศนาที่ลานหน้าวัดและเวียนเทียนทุกคืน การทำบุญตักบาตรในตอนเช้า โดยเฉพาะวันที่ 16 กุมภาพันธ์ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) จะเป็นวันพระใหญ่คือวันมาฆบูชา ที่ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น
กล่าวคือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งในคัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่า ครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6 และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่าวันจาตุรงคสันนิบาต หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4
ซึ่งในวันมาฆบูชาที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จะมีพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและลาว ประกอบพิธีเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุพนม ตามความเชื่อของชาวอีสานว่าหากใครได้มีโอกาสมาเวียนเทียนในวันสำคัญต่างๆ รอบองค์พระธาตุพนม หรือมากราบไหว้บูชา ถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ จะทำให้มีความเจริญก้าวหน้า และอยู่เย็นเป็นสุข
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: