“ลุงป้อม” ลงพื้นที่นครพนมตรวจแหล่งน้ำ หยอดคำหวานวันวาเลนไทน์ขอให้คนไทยรักกันมากๆ ชาติจะเจริญรุ่งเรือง
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.50 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาฯสนง.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และคณะได้เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์มาตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยมี นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง/ส.ส.นครพนมเขต 1 พรรคภูมิใจไทย นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนมเขต 3 พรรคเพื่อไทย พล.ต.สถาพร บุญชู ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 (มทบ.210) พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม (ผบก.ภ.จว.ฯ) นางสาว ศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม นางสาว ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม ตลอดจนข้าราชการ ประชาชน ให้การต้อนรับ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ (ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต) ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เพื่อรับทราบถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูแล้งปี 2564-65 และติดตามการขับเคลื่อนแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งพบปะประชาในพื้นที่จังหวัดนครพนม เพื่อรับทราบข้อมูล ชีวิตความเป็นอยู่ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันให้เกิดประสิทธิผลและยั่งยืน
ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นเวทีหลังจากนายชาธิป รุจนเสรี ผวจ.นครพนม กล่าวรายงานเบื้องต้นให้ทราบแล้ว โดยกล่าวว่าราว 60 ปีที่ผ่านมาตนเคยอยู่จังหวัดนครพนมมาก่อน ตั้งแต่สมัยยังมียศ ร.ต. เท่านั้น ในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่มีแต่ป่ารกครึ้มถนนหนทางไม่สะดวกเท่าไหร่ แต่จังหวัดนครพนมไม่น่าเป็นห่วงเรื่องภัยแล้งเพราะนอกจากจะมีแม่น้ำโขงเป็นสายหลักแล้ว ยังมีแม่น้ำอีกหลายสายเป็นลำน้ำสาขา ห่วงที่สุดคือปัญหาน้ำท่วมเพราะมักจะเกิดแทบทุกปี ทำให้มีพื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวนมาก รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ต้องหาแนวทางป้องกันให้สำเร็จจงได้ ก่อนจะทิ้งท้ายว่าพรรคพลังประชารัฐใจถึงพึ่งได้เสมอ
จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีเดินลงจากเวทีกล่าวทักทายพี่น้องประชาชนและข้าราชการที่มาต้อนรับ เพื่อเดินทางไปกราบนมัสการองค์พระธาตุพนม ระหว่างที่จะเดินขึ้นรถยนต์ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ว่า วันนี้เป็นวันวาเลนไทน์วันแห่งความรักอยากจะบอกอะไรถึงคนไทยบ้าง พล.อ.ประวิตรตอบ “ขอให้คนไทยต้องรักกันไว้ ถ้ารักกันไว้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองแน่” ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ภาคอีสานในวันเดียวกันรวม 4 จังหวัด ได้แก่ 1.สกลนคร 2.นครพนม 3.กาฬสินธุ์ 4.ร้อยเอ็ด ตามลำดับ
อนึ่ง ในจังหวัดนครพนม มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 376,000 ไร่ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,800 มิลลิเมตร/ปี ปริมาณน้ำท่าประมาณ 7,700 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี แต่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 195 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยลำน้ำก่ำเป็นลุ่มน้ำย่อยของกลุ่มน้ำโขง มีแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ โดยมีจุดเริ่มต้นจากหนองหาร จังหวัดสกลนคร ไหลลงแม่น้ำโขง ณ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม รวมความยาวประมาณ 123 กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำฝนประมาณ 3,440 ตารางกิโลเมตร ซึ่งบริเวณสองฝั่งของลำน้ำก่ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และมีราษฎรตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ตามเนินตลอดสองฝั่งลำน้ำ วิถีชีวิตของราษฎรต้องประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งสลับกันเป็นประจำทุกปี โดยในช่วงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับสูง พื้นที่เพาะปลูกก็จะถูกน้ำท่วม แต่ครั้นในช่วงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับต่ำ น้ำในลำน้ำก่ำก็จะไหลลงแม่น้ำโขงเกือบหมด ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร
ต่อมาเมื่อความทราบถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการเพื่อก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม อย่างต่อเนื่องหลายครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2535 เริ่มจากทรงร่างรูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำ ปรากฏเป็นภาพลายพระหัตถ์เรียกว่า “ตัวยึกยือ” ประกอบด้วย ส่วนหัวอันหมายถึงหนองหานซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ต้นกำเนิดของลำน้ำก่ำ
ส่วนกระดูกสันหลังหมายถึงลำน้ำก่ำ ข้อที่เป็นปล้องๆหมายถึง อาคารบังคับน้ำ ขอบลำตัวเปรียบเสมือนคลองระบายน้ำ ที่คาขนานไปกับลำน้ำก่ำ และส่วนหางคือแม่น้ำโขง แนวพระราชดำรินี้ จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้แก่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำก่ำ ที่มีน้ำให้ใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย ในฤดูน้ำหลากอีกด้วย
จากนั้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพิ่มเติม ให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินงานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำก่ำ ในลำน้ำก่ำตอนล่างเพียงระดับต่ำ เพื่อให้เก็บกักน้ำในพื้นที่เพียงเล็กน้อยก่อน เนื่องจากขณะนั้นยังมีปัญหาที่ดินที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งราษฎรเรียกร้องค่าตอบแทนสูงมาก กระทั่งเมื่อสามารถเจรจาปัญหาที่ดินที่ถูกน้ำท่วมกับราษฎรได้ในราคาที่เหมาะสมแล้ว กรมชลประทานจึงได้พิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ ประเภทประตูระบายน้ำให้สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้ราษฎรทั้งสองฝั่งลำน้ำสูบน้ำจากลำน้ำก่ำตอนล่าง ไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพได้อย่างสมบูรณ์ ภายหลังการก่อสร้างประตูระบายน้ำน้ำก่ำตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้แล้วเสร็จ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำว่า ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ซึ่งมีความหมายว่า ประตูระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้างขึ้น
ด้านการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานได้จัดตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่โครงการทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวพระราชดำริ และเป็นการเพิ่มศักยภาพพื้นที่ชลประทานตามเป้าหมายของกรมชลประทาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: