X

โรงไฟฟ้าแม่เมาะศึกษาระบบดักจับคาร์บอนหลังการเผาไหม้ เตรียมความพร้อม สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050


ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจากก๊าซเรือนกระจกถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนทั่วโลกเห็นพ้องให้ดำเนินการควบคุมและกำหนดลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาภาวะโลกร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ตอบรับนโยบายรัฐบาลและร่วมผลักดันเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero Emission ในปี ค.ศ.2065 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าผ่านโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กฟผ.กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) โดยมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. รวมไปถึงมีการศึกษาดูงานพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนกับมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ สหราชอาณาจักร

โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กฟผ-มช. โดยนายณฤพล จันทร์วิรัช หัวหน้าแผนกเดินเครื่องกะ 2/2 กองการผลิต 2 ฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเป็นนักศึกษาในโครงการฯ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการดักจับคาร์บอนเพื่อป้องกันและลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า โดยได้สร้างชุดจำลองระบบกักเก็บคาร์บอนหลังการเผาไหม้ มีกระบวนการคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกดูดซับด้วยสารเคมีชนิดที่เป็นเบส (Monoethanolamine(MEA)) โดยกระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในหอดูดซับ โดยก๊าซจะวิ่งสวนทางกับน้ำยาเคมีที่สเปรย์ภายในหอดูดซับ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีนั้นจะถูกนำไปกักเก็บไม่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ

ปัจจุบันงานวิจัยนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยชุดทดลองนี้ตั้งอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมแม่เมาะและทดสอบกับก๊าซไอเสียจำลองซึ่งวิเคราะห์ประสิทธิภาพออกมาแล้ว สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 96 % ซึ่งองค์ความรู้ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้รับจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต นอกจากการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรแล้ว ที่ผ่านมา กฟผ.แม่เมาะยังได้ปลูกป่าในพื้นที่รอบ กฟผ.แม่เมาะและชุมชนเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่รวมไปถึงปรับปรุงประสิทธิภาพอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะซึ่งจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคตต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน