ผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามสภาพพื้นที่น้ำท่วมนาข้าว อ.สามร้อยยอด ซึ่งยังคงมีนาน้ำท่วมขังนาข้าวเป็นวันที่ 7 แล้ว เบื้องต้นพื้นที่นาถูกน้ำท่วมหนักกว่า 400 ไร่ เกษตรกร 52 ราย ที่ได้รับความเดือดร้อน เตรียมหาทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อไป โดยต้องมีการสำรวจเส้นทางน้ำเดิมที่ไหลออกสู่ทะเล ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาในเบื้องต้นเกษตรอำเภอแจ้งว่าไร่ละ 1,340 บาท
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่บริเวณนาข้าวที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมู่ที่ 5 บ้านเกาะไผ่ และหมู่ที่ 2 บ้านสามร้อยยอด ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายไพศาล ช่อผกา นายอำเภอสามร้อยยอด ,นายนภดล เบ็ญจกุล เกษตรอำเภอสามร้อยยอด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และนายศิริ อินประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 นายอภิรักษ์ เสรีสกุลธร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 รายงานความเสียหาย ร่วมด้วยนายกำพล เต็งประเสริฐ นายกเทศมนตรีตำบลไร่เก่า นายพีระ สุกิจปาณีนิจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่เก่า และเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมนาข้าวมารอให้ข้อมูลถึงปัญหาน้ำท่วมนาข้าวทุกครั้งที่ฝนตกลงมาและกว่าน้ำจะลดลง ต้องใช้เวลานานนับเดือนส่งผลให้เกิดความเสียหายและต้องสูญเสียรายได้จากการการปลูกข้าว
ข่าวน่าสนใจ:
นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชากรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่าหลังจากดูสภาพพื้นที่และพูดคุยกับชาวนาแล้วพบว่าปัญหาบริเวณพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ลุ่ม ดังนั้นวิธีแก้คือต้องหาทางระบายน้ำ ให้น้ำไหลออกไปให้เร็วมากที่สุด ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้านก็ได้ให้ข้อมูลว่ามีคู-คลองที่ไหนที่เป็นทางระบาย เพราะตอนนี้เหมือนกับว่าลำรางเดิมเกิดการตื้นเขิน ก่อนที่น้ำจะไหลออกสู่ทะเล ยอมรับว่าระยะทางค่อนข้างยาวและมีความคดเคี้ยว เส้นทางน้ำที่จะไหลลงสู่ทะเลก็ต้องผ่านพื้นที่อำเภอกุยบุรีด้วย ซึ่งต้องสำรวจพื้นที่เส้นทางการระบายน้ำให้ชัดเจนและหาวิธีการที่จะระบายน้ำให้ออกสู่ทะเลโดยเร็วขึ้น และต้องแก้ปัญหาแบบระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชาวนาขึ้นอีก โดยเฉพาะปีนี้ไม่มีใครคาดคิดว่าฝนจะมาตกในช่วงนี้
ผู้ว่าราชากรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวอีกว่าสิ่งสำคัญต้องเร่งให้การช่วยเหลือเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวนาในพื้นที่ อีกส่วนจะต้องมาคิดแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนาข้าว ว่าจะสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มได้ยังไง รวมทั้งต้องมีการสำรวจพื้นที่แถบนี้ดูว่ามีคู-คลองจุดไหนบ้างที่สามารถพัฒนาให้มีการระบายน้ำได้สะดวกขึ้น ส่วนเรื่องของการขุดลอกก็ต้องดูภาพรวม ซึ่งวันนี้เมื่อดูแผนที่แล้วพบว่าเส้นทางที่จะระบายน้ำออกไปสู่ทะเล ผ่านหลายพื้นที่อย่างไรก็ตามอาจจะต้องนั่งเรือไปสำรวจดูสภาพพื้นที่จริงให้เห็นแนวคู-คลองจุดต่างๆที่ไหลลงสู่ทะเล
นายศิริ อินประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 กล่าวว่าเส้นทางคู-คลองจากพื้นที่ถูกน้ำท่วม แคบและตื้นเขิน ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ก่อนที่น้ำจะไหลไปออกคลองเขาแดง ต.เขาแดง อ.กุยบุรี ไหลออก ทะเล ซึ่งช่วงคลองเขาแดงนั้นเป็นลำคลองใหญ่กว้างอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหาอะไรมีจุดสำคัญที่ต้องดำเนินการระยะทาง 5 กิโลเมตร ซึ่งคงต้องมีการขยายคู-คลอง ให้กว้างขึ้นซึ่งตนเองก็มีการสำรวจและจัดทำแผนที่ไว้แล้วซึ่งชาวบ้านก็ยินยอมที่จะให้ขยายแนวคู –คลองให้กว้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมนาข้าว อย่างไรก็ตามวันนี้ 1 สัปดาห์แล้วระดับน้ำก็ยังทรงตัวอยู่ทำให้นาข้าวยังคงจมอยู่ในน้ำ
ขณะที่นายนิจ อภิรักชัยพร ชาวนาสามร้อยยอด ตลอดจนรายอื่นๆที่ได้รับความเดือดร้อนจากฝนที่ตกหนักและเกิดน้ำท่วมนาข้าวซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีฝนตกนั้น 1 สัปดาห์แล้วที่นาข้าวยังจมอยู่ใต้น้ำระดับน้ำก็ยังทรงตัวอยู่คาดว่าอย่างช้า 1 เดือนกว่าน้ำจะลดลงหมด แต่ยอมรับแนวทางการแก้ปัญหาของของผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่จะต้องลงสำรวจดูสภาพพื้นที่กันจริงๆโดยการล่องเรือไปตามลำคลองจนออกสู่ทะเลเพื่อที่จะได้เห็นเส้นทางน้ำและอีกส่วนก็อยากให้มีการขุดลอกคู-คลอง อย่างน้อยวันนี้ชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนก็เริ่มมีความหวังในการที่จะได้เห็นหน่วยงานภาครัฐแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวไม่ต้องทนกับสภาพเมื่อเกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมนาข้าวในช่วงที่มีการปลูกข้าวอีกเหมือนทุกปีที่ผ่านมา
ด้านนายนภดล เบ็ญจกุล เกษตรอำเภอสามร้อยยอด กล่าวว่า นาข้าวในอำเภอสามร้อยยอดมีกว่า 9 พันไร่ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม มีทั้งหมู่ 1 หมู่ 2 ตำบลศิลาลอย ตำบลศาลาลัยบางส่วน และที่มากสุดก็ที่หมู่ 5 ตำบลไร่ใหม่ และ หมู่ 2 ตำบลไร่เก่า อย่างไหร่ก็ตามก็จะมีการสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ชาวนาที่หว่านข้าวได้ 1 เดือน ก็เริ่มทยอยมาขึ้นทะเบียนไว้แล้ว สำหรับหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือคือ เกษตรกรที่จะมาขึ้นทะเบียนต้องหว่านข้าวไปแล้วเป็นเวลา 15 วันขึ้นไป ส่วนการเยียวยาคือถ้าเป็นนาข้าวจะได้ค่าชดเชยไร่ละ 1,340 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ส่วนความเสียหายของ 2 หมู่บ้านอำเภอสามร้อยยอดประมาณ 400 ไร่ เกษตรกร 52 ราย แต่ในภาพรวมของทั้งอำเภอสามร้อยยอดยังคงมีความเสียหายในตำบลอื่นๆ อีก ซึ่งก็จะให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ รวบรวมข้อมูลมาเพื่อให้ทางอำเภอสามร้อยยอดรายงานเข้าไปยังจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ประกาศเป็นภัยพิบัติต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: