มติ คกก.นครพนม ขยายเวลาห้ามดื่มเหล้าในร้านถึง 15 มีค. แนะข้าราชการเป็นแบบอย่างที่ดี ผวจ.ไม่เอาด้วยมาตรการงานศพ 3 วันควรเผา เกรงกระทบความรู้สึกผู้สูญเสีย
สืบเนื่องจากมีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนครพนมขยายเป็นวงกว้าง โดยก่อนที่จะมีมาตรการคลายล็อก มียอดผู้ป่วยรายวันเพียงไม่กี่ราย แต่เมื่อผ่อนคลายมาตรการบางอย่างกลับมีจำนวนผู้ป่วยปะทุขึ้นมาอย่างเร็ว เกิดคลัสเตอร์หรือเหตุการณ์ไปทั่วทั้ง 12 อำเภอ
ดังนั้น มติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม (คกก.ฯ) ครั้งที่ 10/2565 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 คือ 1.ปรับลดจำนวนคนร่วมกิจกรรมต่างๆ หรือรวมกลุ่มของบุคคลไม่เกิน 200 คน โดยให้แจ้ง ศปก.อำเภอ และรายงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อทราบ กำหนดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องมีหลักฐานการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือ ATK ไม่เกิน 48 ชั่วโมง มีผลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป
ข่าวน่าสนใจ:
- หลวงพี่ขับเก๋งชนราวสะพาน เผยเดินทางดูแลโยมแม่ ชาวบ้านวอนหยุดดราม่า-ตรวจสอบความจริง
- ม.นครพนม จัดประชุมวิชาการรัฐประศาสนศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 19 ภายใต้หัวข้อ “บูรณาการ AI and Soft Power ในการบริหารภาครัฐ”
- นครพนม : กองทัพบก ร่วมกับ Kubota มอบไออุ่นในพื้นที่ภาคอีสาน มอบเสื้อกันหนาวให้ชาวนครพนม ตามโครงการ "คูโบต้า พลังใจ สู้ภัยหนาว" ปี 2567
- นายกเทศบาลตำบลนาคำ แจงเหตุต้องระงับเพลิงล่าช้า จากกรณีเหตุเพลิงไหม้บ้านพักอาศัยของชาวบ้าน
2.ให้ชะลอหรือเลื่อนการจัดกิจกรรม งานบุญประเพณี งานมงคลสมรส ฯลฯ ในระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2565 หากมีความจำเป็นต้องจัดให้แจ้ง ศปก.อำเภอ ทั้งนี้ให้ผู้จัดหรือผู้รับผิดชอบ งดจัดให้มีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขบวนแห่และมหรสพทุกชนิด และถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
สำหรับกิจการประเพณีงานศพ เดิมผู้เสนอมาตรการนี้ ระบุว่าระยะเวลาในการจัดงานไม่ควรเกิน 3 วัน ซึ่งนายชาธิป รุจนเสรี ผวจ.นครพนม ในฐานะประธาน คกก.ฯ เห็นหนังสือแล้วรู้สึกไม่สบายใจจึงให้ดึงมาตรการนี้ออกไปก่อน เพราะเกรงจะกระทบความรู้สึกของผู้สูญเสีย แต่เห็นชอบให้เจ้าภาพจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน 200 คน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน และห้ามมีมหรสพทุกประเภทตลอดการจัดงาน
นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทห้างร้าน สถานประกอบการ และประชาชน งดการจัดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะที่เป็นงานสังสรรค์ งานเลี้ยง งานรื่นเริง หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน ยกเว้นบุคคลในครอบครัว ในระหว่างวันที่ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2565
งดการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านจำหน่ายอาหารทุกประเภท มีผลตั้งแต่วันที่ 1-15 มีนาคม 2565 (ขยายเวลาต่อเนื่องจากคำสั่งฯมาตรการปัจจุบัน ที่ห้ามฯ 22-28 ก.พ.65)
สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดของกรมการแพทย์ คือ กรณีไม่มีอาหาร หรือ สบายดี (Asymptomatic COVID-19) ให้รักษาแบบกักตัวที่บ้าน (Home isolation) หรือ (Hotel isolation) โดยจะไม่จ่ายยาต้านไวรัสเช่น favipiravir เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง หรืออาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์ แต่จะไม่ให้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกันกับยาต้านไวรัส เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยา
กรณีที่มีผู้ป่วยอาการมากขึ้น ให้ปฏิบัติตามแนวทางรักษาของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายคณาจารย์ คณะแพทย์ และ ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยต่างฉบับปัจจุบัน
เกณฑ์การนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล (ตามดุลยพินิจของแพทย์) 1.มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียล ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง 2.หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง/นาที ในผู้ใหญ่ 3.Oxygen Saturatoin< 94 % 4.โรคประจำตัวมีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ 5.สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ป่วย 1,167 รายที่กำลังรักษาอยู่ในขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 65) จำแนกตามระดับความรุนแรงดังนี้ 1.ไม่มีอาการ 928 ราย 2.อาการเล็ก 152 ราย 3.อาการปานกลาง 85 ราย และ 4.อาการรุนแรง 2 ราย โดยมีเตียงรักษาผู้ป่วยในศูนย์ดูแลโควิด-19 ชุมชน (CI) มีจำนวน 1,815 เตียง ใช้ไปแล้ว 638 เตียง คงเหลือ 1,177 เตียง ส่วนโรงพยาบาลประจำทั้ง 12 อำเภอ มีเตียงคนไข้ทั้งหมด 682 เตียง ใช้ไปแล้ว 415 เตียง คงเหลือ 267 เตียง ซึ่งคาดการณ์ว่าใน 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ จะมีจำนวนผู้ป่วยอยู่ที่ 150-200 ราย/วัน จากนั้นก็จะค่อยลดลงตามลำดับ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: