ฉะเชิงเทรา – ชาวสองคลองโวย ไอ้โม่งสกัดส่งออกลูกปลากะพงขาว ทั้งยังถูกบีบด้วยเงื่อนไขข้อกำหนดเป็นกำแพงกีดกัน ทำเกษตรกรเข้าทางตัน ส่งผลกระทบต่ออาชีพไปทั่วทั้งห่วงโซ่ 4 ตำบล ทั้งที่เป็นอาชีพหลักดั้งเดิมทำกินกันมานานถึงกว่า 40 ปี ด้านรองอธิบดีกรมประมง รุดลงพื้นที่รับฟังและเร่งแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง พร้อมเดินหน้าสางปัญหาทั้งระบบในระยะยาว
วันที่ 26 ก.พ.65 เวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณศาลาประชาคมโดมกลางหมู่บ้าน ภายในซอยจันทร์เกษม พื้นที่ ม.6 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กลุ่มชาวบ้านผู้เพาะเลี้ยงลูกปลากะพงขาว ที่ได้รับผลกระทบ หลังจากทางกรมประมงสั่งห้ามส่งออกลูกพันธุ์ปลากะพงไปยังประเทศมาเลเซีย จำนวนกว่า 300 คน ได้เดินทางมารวมตัวกันเพื่อเสนอปัญหาต่อ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง ที่ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อมารับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากชาวบ้านด้วยตนเองถึงยังในพื้นที่
โดย นายพิชัย รวงผึ้ง อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 64/5 ม.6 ต.สองคลอง กล่าวว่า ครอบครัวตนเองประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงลูกปลากะพงขาวมานานถึงกว่า 30-40 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเคยส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียได้ตลอด แต่ได้มีสมาคมที่เกี่ยวข้องกับปลากะพงแห่งหนึ่งได้ยื่นหนังสือไปถึงยังกรมประมง กล่าวหาชาวบ้านว่า ใช้ใบ สอ.3 (คู่มือสำหรับประชาชน การขึ้นทะเบียนและต่ออายุทะเบียนสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก) ผิดประเภท
โดยอ้างว่าใบ สอ.3 ที่ชาวบ้านใช้อยู่นั้น เป็นใบอนุญาตสำหรับผู้เพาะเลี้ยงลูกพันธุ์ปลากะพงในบ่อปูนซีเมนต์ ขนาด 1.5 นิ้วเท่านั้น แต่พันธุ์ปลากะพงที่ชาวบ้านส่งออกไปนั้น ต้องนำไปชำในบ่อดินเพื่อให้ได้ไซด์ขนาด 3-4 นิ้ว ตามที่ทางมาเลเซียต้องการ จึงทำให้ทางสมาคมฯ ใช้เป็นข้ออ้างในการยื่นเรื่องเพื่อสกัดการส่งออกของชาวบ้าน เนื่องจากมีคนในสมาคมดังกล่าวเสียผลประโยชน์
เพราะหากชาวบ้านส่งออกได้ ก็จะทำให้ราคาพันธุ์ปลากะพงในประเทศมีราคาสูงขึ้น หรือชาวบ้านขายได้ราคาดี จึงทำให้คนในสมาคมซึ่งเป็นผู้ประกอบการเลี้ยงปลากะพงเนื้อรายใหญ่เสียผลประโยชน์ เพราะต้องซื้อลูกปลาไปเลี้ยงในราคาที่สูงขึ้นตามราคาตลาดไปด้วย หลังถูกสั่งระงับการส่งออก จึงทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ได้รับความเสียหาย เนื่องจากปลากะพงกว่า 20-30 ล้านตัว ที่กำลังเติบโตในบ่อดินจนได้ขนาดตามที่มาเลเซียต้องการแล้ว
ไม่สามารถขายออกไปได้ และเมื่อปลาเติบโตมีขนาดไซด์ใหญ่ขึ้น จนเกิดความแออัด จึงทำให้ปลาตายได้รับความเสียหายกันไปทั่วทั้งหมด นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ.65 ที่ผ่านมา จนทำให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพนี้ และอาชีพเชื่อมโยงกันเป็นลักษณะห่วงโซ่ ทั้งผู้เพาะพันธุ์ปลาเล็กที่ขายให้เกษตรกรที่นำไปอนุบาลชำไว้ขายต่อ คนจับปลา คัดไซด์ปลา คนนับปลา ผู้รับจ้างขนส่ง รถบรรทุกน้ำ และบ่อดินที่ซื้อลูกปลาไปชำขายเพื่อส่งออก ล้วนต่างได้รับผลกระทบทั้งหมด
โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 ตำบลหลัก คือ ต.สองคลอง ต.บางเกลือ ต.หอมศีล และ ต.บางปะกง ต่างได้รับความเดือดร้อนกันอย่างถ้วนหน้า ทั้งที่ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. ของทุกปี ถือเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะขายลูกพันธุ์ปลาได้ราคาดี เนื่องจากทางมาเลเซียต้องการสี่งนำเข้าพันธุ์ปลาในช่วงนี้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งทางกรมประมงยังได้เข้ามาตรวจหาเชื้อ ในลูกปลาเล็ก และระบุว่าปลาเป็นโรค แต่ไม่สามารถตอบต่อชาวบ้านได้ว่าปลาเป็นโรคอะไร ขณะที่ปลาก็ยังเติบโตได้ดี
ทั้งที่การตรวจหาเชื้อโรคนั้น ควรที่จะไปตรวจหากับปลาใหญ่หรือปลาเนื้อ ที่กำลังจะไปถึงยังผ็บริโภค ไม่ใช่จะมาตรวจหาเชื้อโรคกับปลาเล็ก โดยที่ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการมาตรวจหาสารตกค้าง ทั้งที่ลูกปลายังต้องถูกนำไปเลี้ยงต่ออีกนานหลายเดือนกว่าจะเติบโตจนกลายเป็นปลาเนื้อและส่งขายไปถึงยังผู้บริโภค นายพิชัย กล่าว
ส่วนด้าน นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากมีผู้ส่งหนังสือร้องขอให้ทางกรมประมงดำเนินการตามระเบียบ โดยขอให้ตรวจสอบการส่งออกพันธุ์ปลา และใบที่แจ้งไว้ ให้ตรงกัน จึงกลายเป็นปัญหาว่า ตามใบแจ้งของเกษตรกรนั้นเป็นปลาขนาด 1.5 นิ้ว แต่ปลาที่ส่งออกไปจริงเป็นปลาขนาด 3-4 นิ้ว โดยที่ชาวบ้านได้ทำในลักษณะนี้กันมาอย่างยาวนานแล้ว
แต่เนื่องจากขณะนี้ได้มีการเข้มงวดในข้อระเบียบว่า สิ่งที่ส่งออกไปควรจะต้องตรงกันกับขนาดที่ส่งออก ฉะนั้นกลุ่มของผู้อนุบาลปลาขนาด 3-4 นิ้ว จึงประสบปัญหาเกี่ยวกับการที่ไม่มีใบรับรองฟาร์ม สอ.3 และทำให้เสียโอกาสในการส่งออก ในวันนี้จึงได้เข้ามาให้ความมั่นใจต่อเกษตรกรที่ประสบปัญหาปลาล้นสต็อกในการผ่อนคลายให้สามารถมีรายได้เข้ามาในช่วงนี้
ด้วยการให้เกษตรกรที่อนุบาลปลาขนาด 3-4 นิ้ว ได้เข้าสู่ระบบ สอ.3 โดยการจะให้ทางเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการรับสมัครถึงยังในพื้นที่ เพื่อเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มให้ตรงลักษณะได้ ซึ่งหากทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้านสองฝ่ายให้ความร่วมมือกัน น่าจะแก้ไขปัญหาได้ไม่ยาก ขณะที่มาตรการชั่วคราวนั้น จะให้ทางประมงจังหวัด และประมงอำเภอเข้ามาเช็คสต็อกของเกษตรกรว่ามีจำนวนเท่าใด จากนั้นให้ทำแผนว่าหากจะส่งออกไปเป็นครั้งสุดท้ายนั้น จะหมดไปในช่วงเดือนใด
เพื่อจะได้กลับเข้ามาสู่ระบบปกติโดยการให้เกษตรกรได้รับใบ สอ.3 ได้อย่างเป็นการถาวร ซึ่งตามข้อเท็จจริงนั้นเกษตรกรได้มีการส่งออกปลากะพงขาวขนาด 3-4 นิ้วไปจริง แต่ตาม สอ.3 นั้นกำหนดไว้ให้ส่งขนาด 1.5 นิ้ว จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงกับการส่งออก ซึ่งความจริงหากจะส่งออกปลาขนาดไหน ก็ควรที่จะแจ้งมาให้ตรงว่า เป็นปลาขนาดนั้นๆ แต่ฟาร์มที่ได้ สอ.3 ขนาดปลา 3-4 นิ้วนั้นมีน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย จึงทำให้มีการเลี่ยงและทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น
โดยขณะนี้เราได้รับทราบถึงปัญหาแล้ว และจะนำไปแก้ไขในเชิงระบบต่อไป ด้วยการแก้ปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วน ที่จะทำในทันที ซึ่งในวันที่ 2 มี.ค.65 นี้ ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งฉะเชิงเทรา จะเข้ามารับสมัครเกษตรกรในเรื่องของ สอ.3 สำหรับฟาร์มเกษตรกรที่ต้องการอนุบาลปลาขนาด 3-4 นิ้ว ด้วยการให้นโยบายว่า ให้เดินทางเข้ามาหาเกษตรกรโดยที่เกษตรกรไม่ต้องเดินทางไปหาเจ้าหน้าที่
ซึ่งตามระเบียบที่เป็นกติกาสากลนั้น อาจจะใช้ระยะเวลานานโดยที่ฟาร์มจะต้องมีการดูแลต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยที่ไม่มีโรคเกิดขึ้นและไม่มีการกระทำผิดกฎระเบียบ แต่สำหรับปลากะพงขาวนั้นจะทำการตรวจสอบในลักษณะล็อตต่อล็อตก่อนการส่งออก เพื่อที่จะรับรองในเรื่องของโรคไปก่อน และจะมีการแก้ไขกันทั้งในระยะชั่วคราว และระยะยาวผนวกร่วมกันต่อไป นายเฉลิมชัย กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: