ตรัง-อุปทูตสหรัฐฯ เปิดประชุมฉลอง 80 ปี โครงการแลกเปลี่ยนไทย-สหรัฐ IVLP ลั่น ยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิคพร้อมส่งเสริมเสถียรภาพด้านความมั่นคง-ปกครองหลักนิติธรรม-การเมืองอิสระในภูมิภาค พร้อมร่วมไทยยุติการระบาดโควิด-19
เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ตรัง นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต หน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดโครงการ International Visitor Leadership Program (IVLP) ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างประเทศไทย และสหรัฐฯ โดยผู้เข้าร่วมโครงการมีโอกาสพบปะ พูดคุยกับชาวอเมริกันที่ทำงานในประเด็นเดียวกันเพื่อการร่วมมือกันในอนาคต โดยในการประชุมครั้งนี้เป็นการฉลองครบรอบ 80 ปีโครงการอีกด้วย โดยในแต่ละปีผู้ที่เข้าร่วมโครงการ IVLP มีประมาณ 5,000 คนจากทั่วโลก อีกทั้งศิษย์เก่าโครงการ IVLP มีหลายคนที่เป็นผู้นำรัฐบาลในประเทศต่างๆทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ศิษย์เก่าโครงการที่สำคัญ ได้แก่ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขธิการอาเซียน และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบัน เป็นต้น ทั้งนี้ในการประชุมมีบุคคลสำคัญของทางการสหรัฐฯประจำประเทศไทย และบุคลากรสหประชาชาติเข้าร่วม อาทิ นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย(UNDP) คุณลิเดีย บาร์ราซา ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นายธอมัส มอนท์กอเมอรี่ รองโฆษก สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คุณเซร่า นัควี รองผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นายกมลนัย ชัยเฉนียน ประธานกรรมการบริหาร C asean คุณอิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบาย Meta และ Facebook ประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้คณะยังลงพื้นที่ลงพื้นที่ศึกษาโครงการพัฒนาชุมชนและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมในพื้นที่จ.ตรัง ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อ.นาโยง , พิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี(คอซิมบี๊ ณ ระนอง) บิดายางพาราไทย , ชมต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย , ศาลเจ้าไหหลำ กลุ่มกันตังเมืองเก่า , มัสยิดปากีสถาน , ศาลเจ้าฮกเกี้ยน และ กลุ่มจักสานก้านจากวังวน อ.กันตังอีกด้วย
นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต หน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสหรัฐฯ และไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” เพื่อเปิดโครงการตอนหนึ่งว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาอยู่ท่ามกลางบรรดาศิษย์เก่าโครงการที่โดดเด่นและมีความสามารถ เราก็ได้เห็นผู้เข้าร่วมโครงการชาวไทยกว่า 2,200 คนที่ได้เดินทางไปยังสหรัฐฯ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนเงินทุนกว่า 30 โครงการแลกเปลี่ยนในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน นักศึกษา ผู้ให้การศึกษา ศิลปิน นักกีฬา และผู้นำที่กำลังเติบโตของไทย ได้ติดต่อเชื่อมโยงกับกลุ่มคนในสหรัฐฯ และภูมิภาคอาเซียน และเพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในประเด็นต่าง ๆ นับตั้งแต่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนไปจนถึงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
ข่าวน่าสนใจ:
- ชวนชิม 'ศรีบุญเรือน' ร้านข้าวต้มต้นตำรับ สืบทอดสามรุ่น เสน่ห์ร้านข้าวต้มยามค่ำคืน ที่รวมอาหารจีน อาหารเหลา อาหารใต้ไว้ในร้านเดียว
- ตรัง สับปะรดทอด-ข้าวเม่าทอด ดาวเด่นประจำร้านสมพร รสชาติอร่อย ราคาเป็นกันเอง
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
อุปทูตสหรัฐฯกล่าวอีกว่า ในบรรดาศิษย์เก่าโครงการ IVLP ที่ยอดเยี่ยมนั้น บางท่านก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเทอเรซ อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย อินทิรา คานธี และอดีตเลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ของไทย ดังนั้น การสนับสนุนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ตลอดจนการส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายทางวิชาชีพของตนนั้นเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ หนึ่งในเป้าหมายที่มีร่วมกันนี้คือเสถียรภาพและความสำเร็จของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ฉบับใหม่ เพื่อส่งเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งเชื่อมโยง มั่งคั่ง มั่นคง และพร้อมรับมือยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือภูมิภาคที่ลักษณะเป็นพลวัตไม่หยุดนิ่ง การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงกับภูมิภาคนี้จึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญสูงสุด ทั้งสองประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมในการฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารระหว่างประเทศประจำปีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สหรัฐฯปรารถนาที่จะทำงานร่วมกับไทยต่อไปเพื่อให้มั่นใจว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะรุ่งเรืองและเข้าถึงได้ มีการปกครองด้วยหลักนิติธรรม และยึดถือหลักการต่างๆ ทั้งเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือ ความสามารถที่จะตัดสินใจได้เอง และการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี เราต้องการให้ทุกประเทศในภูมิภาคสามารถกำหนดทางเลือกทางด้านการเมืองได้เอง โดยปราศจากการบีบบังคับจากภายนอก
อุปทูตสหรัฐฯกล่าวว่า สหรัฐฯจะร่วมมือกับไทยเพื่อช่วยยุติการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสูงสุดต่อสุขภาพและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์หน้าใหม่นี้ สหรัฐฯ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และได้บริจาควัคซีนเพื่อช่วยชีวิตผู้คนรวม 200 ล้านโดสทั่วโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่เป้าหมายการส่งมอบวัคซีน 1.1 พันล้านโดสทั่วโลกตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตั้งไว้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย สหรัฐฯ ได้ส่งมอบวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผล 2.5 ล้านโดสให้แก่ประชาชนชาวไทย และยังส่งมอบตู้เย็นจัดเก็บวัคซีนและเวชภัณฑ์มูลค่าหลายสิบล้านเหรียญสำหรับห้องปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าซึ่งมีความจำเป็นสูงสุด ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ต่อยอดมาจากการลงทุนที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีในไทยกว่า 1 พันล้านเหรียญ ตลอดกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขประมาณ 214 ล้านเหรียญ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะยังคงเป็นความท้าทายสำหรับประเทศของเราในขณะนี้ แต่ความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งนั้นมีรากฐานที่มั่นคง โดยสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการสนับสนุนคนไทยในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ในช่วงการระบาดใหญ่ครั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ CDC เป็นหุ้นส่วนกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยมาร่วม 40 ปี โดย CDC มีสำนักงานนอกสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ในประเทศไทย
“เรารู้สึกดีใจที่ได้เห็นประเทศไทยประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และยินดีเป็นอย่างมากที่ไทยได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำคัญในการรับมือกับโรคโควิด-19”อุปทูตสหรัฐฯระบุ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: