X

ผอ.รพ.ตรัง แจงกรณีผู้ป่วยเข้ารักษาโรคไตกลับติดเชื้อโควิดเสียชีวิต เหตุสุวิสัย

ตรัง ผอ.รพ.ตรัง แจงกรณีลูกติดใจแม่เข้ารักษาโรคไตแต่ติดเชื้อโควิดตาย เตรียมประสานเข้าพูดคุยกับญาติ แจงข้อเท็จจริง และในส่วนเรื่องของการเยียวยาเนื่องจากว่าทางกระทรวงสาธารณสุขไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ก็จะทำการพูดคุยกับญาติต่อไป

จากกรณี นางประจบ เป้าทอง อายุ 87 ปี อยู่บ้านเลขที่ 107/2 ม.5 ต.ละมอ อ.นาโยง จ.ตรัง ได้ป่วยเป็นโรคไตและเกาท์ เป็นผู้ป่วยติดเตียงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตรัง และเกิดติดเชื้อโควิด19 จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จนทำให้ลูกของนางประจบ(ผู้เสียชีวิต) เกิดข้อกังขา จนนำมาสู่การร้องสื่อมวลชนตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565

ล่าสุดเมื่อเช้าของวันนี้ (วันที่ 2 มีนาคม 2565)  ที่เรือนสโมสร จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง  นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุมหารือการปฏิบัติราชการประจำสัปดาห์ โดยทางนายแพทย์สมบัติ สธนเสาวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง ได้ชี้แจงว่า สำหรับผู้ป่วยที่เป็นข่าวในรายนี้ จากการไปตรวจสอบประวัติในช่วงวันที่ 20 มกราคม ผู้ป่วยมีอาการไข้ไม่รู้ตัวและได้ไปโรงพยาบาลนาโยง และได้นำตัวส่งโรงพยาบาลตรัง อาการในช่วงแรกรับผู้ป่วยความดันตก อาการยังไม่ปลอดภัย ทางโรงพยาบาลตรังก็ได้ให้การรักษา โดยการเพิ่มยา เพิ่มความดันรักษาอาการทั่วๆไป ประเมินเบื้องต้นผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อทางกระแสเลือด มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มีแผลกดทับ มีอาการซึม ซึ่งจากการพูดคุยญาติผู้ป่วย ในตอนนั้นทางญาติไม่ให้ใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ขอปั้มหัวใจ ในกรณีที่อาการทรุดลง แต่โรงพยาบาลตรังก็ให้การดูแลรักษาเพื่อประคับประคองต่อ จนสัญญาณชีพกลับมาดี ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลมาเรื่อยตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม ถึงวันที่ 13กุมภาพันธ์

เนื่องจากว่าช่วงที่ผ่านมาอนุญาตให้ผู้ป่วยเฝ้าไข้ได้ 1 คน ก็เป็นคนเดิมเฝ้ามาจนถึงวันที่ 13 ก.พ. จนเปลี่ยนเป็นคนเฝ้าไข้คนที่ 2 ซึ่งคนแรกก็ได้บอกว่าไปตรวจแล้วพบติดโควิด 19 จึงโทรแจ้งทางโรงพยาบาล ก็ได้ทำการตรวจผู้ป่วยก็พบว่าติดเชื้อโควิด รวมกับโรคเดิม มีเชื้อติดแผลและมีอาการซึม จากนั้นผู้ป่วยก็ย้ายไปในวอร์ดรวมสำหรับผู้ป่วยโควิด และผู้ป่วยเสียชีวิตในวันที่ 26 กุมภาพันธ์

ในกรณีทางญาติค่อนข้างติดใจนั้น จริง ๆทางโรงพยาบาลมีแนวทางในการป้องกัน ทั้ง 3 แนวทาง ในส่วนของผู้ป่วยเองรวมทั้งญาติ และผู้ให้บริการเองทีมเจ้าหน้าที่รพ. และสิ่งแวดล้อมรพ. ผู้ป่วยทุกรายที่เข้าจะรับการตรวจ ATK และญาติเฝ้าได้ 1 คน ญาติต้องตรวจATK ทุกสัปดาห์ แม้การเปลี่ยนตัวก็ต้องเปลี่ยนATK และเจ้าหน้าที่ก็จะต้องสุ่มตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ เช่นกัน หากพบใครเชื้อเป็นบวกก็ให้พักงานไป ซึ่งแนวทางนี้มาตรการของรพ.ค่อนข้างจะรัดกุมในการป้องกันไม่ให้เชื้อภายนอกเข้ามาสู่รพ. ส่วนที่เป็นเหตุสุดวิสัยจริง ๆ ของรพ. ที่เจ้าหน้าที่จะต้องกลับบ้านแล้วกลับมาทำงานที่รพ. ก็ต้องสุ่มตรวจเป็นระยะ แต่ถ้าหากพบผู้ติดเชื้อก็เป็นเหตุสุดวิสัยจริง ๆ ในส่วนของญาติหากออกไปซื้ออาหารข้างนอกก็อาจจะรับเชื้อได้เพราะโอไมครอนกระจายได้เร็ว และติดค่อนข้างง่าย จากที่ญาติผู้เสียชีวิตติดใจทาง โรงพยาบาลก็ประสานไปเพื่อจะมาทำความเข้าใจเรื่องมาตรการต่าง ๆ ส่วนเรื่องการเยียวยาเนื่องจากว่าทางกระทรวงสาธารณสุขไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ก็จะทำการพูดคุยกับญาติต่อไป

สำหรับการตรวจ ATK ของญาติแล้วต้องจ่ายเงิน สำหรับญาติที่เฝ้าไข้เราอนุญาตให้เฝ้า 1 คนและจะทำ ATK ให้ฟรี สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้าในระหว่าง 1 สัปดาห์มีการเปลี่ยนตัว ญาติคนต่อไปต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในตอนนั้นเป็นเงิน 500 บาท และก็ได้มีการปรับลดเงินลงมาเหลือ 350 บาท หากญาติที่จะขอเข้าเยี่ยมก็ต้องจ่ายค่าตรวจ ATK เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่มีงบในส่วนนี้ให้ทางญาติรับภาระในส่วนนี้เอง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน