“สุชาติ ธาดาธำรงเวช” ชี้เก็บภาษีน้ำมันกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี นำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่เป็นประโยชน์ แนะลดภาษีน้ำมันลง 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชน พร้อมกับแนะให้ลดรายจ่ายรัฐบาลที่ฟุ่มเฟือยลงอีก 1 แสนล้าน
วันนี้ (13 มีนาคม 2565) พรรคเพื่อไทย เปิดเผยความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีเนื้อหาดังนี้
1. ภาวะสงครามในยูเครนโดยการบุกของรัสเซีย ทำให้มีมาตราการตอบโต้จากประเทศ NATO เป็นจำนวนมาก ในด้านการค้า, การโอนเงิน และการยึดเงินและทรัพย์สินไว้ก่อน ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าพื้นฐาน (น้ำมัน ก๊าซ) แพงขึ้น เนื่องจาก ปริมาณสินค้าลดลง จะเกิดเงินเฟ้อจากต้นทุนที่สูงขึ้น (Cost Push Inflation) ราคาสินค้าจะปรับขึ้นไปอยู่บนระดับใหม่ อัตราเงินเฟ้อนี้ จะไม่เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ (Spiral Inflation) หากไม่มีการพิมพ์แบงค์มาอุดหนุนสงคราม
2. แต่ถ้ามีรัฐบาลประเทศใด ๆ พิมพ์แบงก์มาใช้ มากเกินไป ก็จะเกิดภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ญี่ปุ่นเคยพิมพ์แบงค์บาทมาใช้มากมาย ตอนเข้ายึดประเทศไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 2
ข่าวน่าสนใจ:
3. ธนาคารโลก คาดว่าเงินเฟ้อ หรือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าหนนี้ จะทำให้ประเทศยากจนในแอฟริกา และอเมริกาใต้ เกิดความไม่สงบ และเกิดการจราจลได้ เพราะประชาชนไม่มีกินอยู่ไม่ได้
4. สำหรับประเทศไทย ระดับราคาสินค้าทั่วไป จะถูกยกขึ้นไปอยู่ระดับใหม่ รัฐบาลจึงควรค่อย ๆ ปรับราคาขึ้น โดยใช้งบประมาณอุดหนุน เพื่อให้ประชาชนค่อย ๆ รับราคาใหม่
5. รัฐบาลเก็บภาษีน้ำมันปีละกว่า 2 แสนล้านบาท นำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่เป็นประโยชน์ ไปขยายระบบราชการ, ไปซื้ออาวุธ, ไปโฆษณาตัวรัฐบาลเอง, ไปทำ IO รัฐบาลจึงควรลดรายจ่ายด้านนี้ลง 1 แสนล้านบาท แล้วไปลดภาษีน้ำมันลง 1 แสนล้านบาท เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน และให้ประชาชนใช้เงินที่เขาหามาเองได้มากขึ้น
6. ให้รัฐบาลรีบสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยเปิดระบบเศรษฐกิจ, เปิดการท่องเที่ยว เพื่อประชาชนจะสามารถหารายได้มากขึ้น
7. ให้ขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำต่อวัน จาก 300 บาท เป็น 500 บาท เพื่อให้คนจนมีรายได้เพียงพอ ทันกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยรัฐให้สิ่งจูงใจ, ให้การลดหย่อนภาษี เพื่อให้ภาคธุรกิจใช้เทคโนโลยี่ที่สูงขึ้น ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศนโยบายเช่นเดียวกันนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน
8. ให้รัฐบาลดูแลค่าเงินบาทให้แข่งขันได้ ไม่แข็งจนเกินไป จนไม่มีคนซื้อสินค้าเรา แต่ไม่อ่อนเกินไป จนไปลดฐานะความเป็นอยู่ของคนไทย ทั้งนี้เพื่อให้การส่งออกและท่องเที่ยวเติบโตมากขึ้น ได้เงินตราต่างประเทศมาแล้ว สามารถแลกเป็นเงินบาทได้มูลค่าสูงขึ้น
9. ในภาวะสงคราม สินค้าออกจะขายได้ดี และได้ราคาดีอยู่แล้ว เมื่อประเทศไทยได้เงินตราต่างประเทศมาแล้ว ยังสามารถแลกเงินบาทได้มากขึ้น ก็จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น จะไปเพิ่มการจ้างงาน, เพิ่มรายได้คนทั่วประเทศ, เพิ่มการบริโภค, เพิ่มการออมและการลงทุน ซึ่งจะไปเพิ่มการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization) ซึ่งการใช้กำลังการผลิตของไทยยังต่ำอยู่ประมาณ 65-75% เท่านั้น เทียบกับญี่ปุ่น, เกาหลี ที่ใช้กำลังการผลิตใกล้ ๆ 100%, การเพิ่มกำลังการผลิต จะไปเพิ่ม GDP และเพิ่มรายได้ภาษีให้รัฐบาล
10. ภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนทึ่สูงขึ้น ยังไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะทำให้ (ก) เงินบาทแข็งค่า ไปลดการส่งออกและท่องเที่ยว และ (ข) ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น ไปลดการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ซึ่งจะทำให้ GDP ลดลง
11. แต่ประเทศตะวันตก อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดเงินเฟ้อ เพราะเดิมเขาก็พิมพ์แบงค์มาใช้มากเกินไปอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยโลกสูงขึ้น อาจทำให้เงินไหลออกจากตลาดทุนและตลาดทรัพย์สินของไทยไปบ้าง แต่หากเราไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามทันที เงินบาทก็จะอ่อนค่าลง ทำให้การส่งออก และ GDP เพิ่มขึ้น เงินตราต่างประเทศ ก็จะไหลกลับเข้ามาในตลาดทุน ในที่สุด ดอกเบี้ยไทยก็จะเพิ่มตามดอกเบี้ยโลก (หมายถึง ดอกเบี้ยที่แท้จริง คืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเงินเฟ้อแล้ว)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: