22 มี.ค. 2565 ที่หมู่ 3 ต.เกาะตาเลี้ยง อ.ศรีสำโรง ถือเป็นแหล่งผลิต “น้ำอ้อยหนึก” หรือน้ำตาลอ้อยก้อนสูตรโบราณ ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันคงเหลือชาวบ้านเพียง 5-6 ครอบครัวเท่านั้น ที่ยังสืบทอดวิธีทำแบบโบราณลูกผสม (ประยุกต์ใช้เครื่องจักรร่วมกับแรงคน) นับวันหาดูได้ยาก และอาจสูญหายไป เพราะเป็นงานหนัก ลูกหลานคงไม่อยากสืบทอดต่อ
นายวิศรุต เจริญรอบ อายุ 33 ปี บ้านเลขที่ 54/1 หมู่ 3 ต.เกาะตาเลี้ยง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย เปิดเผยว่า ที่บ้านปลูกอ้อยไว้ 20 กว่าไร่ เพื่อใช้แปรรูปทำน้ำอ้อยหนึกโดยเฉพาะ ซึ่งตนกับพี่สาวได้สืบทอดทำต่อจากพ่อแม่ โดยต้องตื่นนอนกันตั้งแต่ตี 3 เริ่มคั้นน้ำอ้อยจนเต็มโอ่งที่ฝังดินไว้ แล้วดูดเข้าถัง 200 ลิตร เอามาลงเคี่ยวไฟในกระทะจนเดือดได้ที่ จากนั้นก็ใส่น้ำตาลทรายเพื่อให้แห้งเร็ว และใส่แบะแซเพื่อให้เหนียวปั้นเป็นก้อนได้ หลังตักออกจากเตาเคี่ยว ก็เอามากวน 5-10 นาที เพื่อให้น้ำอ้อยจับตัว ก่อนนำมาหยอดเป็นก้อน รอให้แห้ง แล้วก็เก็บบรรจุถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม (กก.ละ 35 บาท) เตรียมส่งลูกค้าประจำจากจังหวัดตากและพิจิตร ที่จะมารับซื้อกันถึงที่ คนละ 4-5 ตันต่อเที่ยว
ข่าวน่าสนใจ:
นายวิศรุต บอกว่า ที่บ้านผลิตน้ำอ้อยหนึก (หนึก แปลว่า เหนียวหนึบ เนื้อแน่น) ได้วันละ 500 กิโลกรัม (ครึ่งตัน) หักค่าใช้จ่ายแล้วก็จะเหลือกำไรประมาณวันละ 3,000 บาท โดยจะผลิตกันทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม ถึงเมษายน รวมระยะเวลา 5 เดือน ถือเป็นงานหนัก แต่ก็คุ้มค่าเหนื่อย ติดต่อสอบถามได้ที่ 090-2020939 หรือเบอร์ 061-1093739
อย่างไรก็ตาม “ที่บ้านผมทำอาชีพนี้มานานเกือบ 40 ปีแล้ว และผมก็มีลูกสาว คิดว่าตัวเองคงจะเป็นรุ่นสุดท้ายของครอบครัว ที่จะสืบทอดต่อการทำน้ำอ้อยหนึก สูตรโบราณ” นายวิศรุต กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: