คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.นครพนม MOU ร่วมกับ สพม. และบริษัทลิฟท์ดัง พัฒนาฝีมือนักศึกษาสู่เวทีโลก
วันที่ 25 มีนาคม 2565 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม มีโครงการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยนครพนม กับ บริษัท เอเชีย ชไนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดนครพนม (สพม.ฯ) โดยมี ดร.พรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม เป็นประธาน และ นายชัยกร บางศิริ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นายภคิน ลดาตกจิรานนท์ รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการ สพม.ฯ นายกิตติศักดิ์ รัตนชัยพัฒนา Managing นางสาว ฤทัยชนก ภิญโญ Director Goneral Manager บริษัท เอเชีย ชไนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามในข้อตกลงฯดังกล่าว
นายชัยกร บางศิริ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยนครพนม กับ บริษัท เอเชีย ชไนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย พัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยี รวมทั้งร่วมกันจัดการศึกษา ระบบทวิภาคี สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง,งานเทคโนโลยีลิฟท์ และการขนส่งในอาคารสูง เพื่อรองรับการพัฒนาจังหวัดนครพนมไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และเตรียมบุคลากรทางด้านลิฟท์ และการขนส่งในอาคารสูง เพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
- "นรข. นครพนม สกัดแก๊งค้ายา รวบยาบ้า 452,000 เม็ด ริมแม่น้ำโขง จ่อส่งดำเนินคดี"
- ททท.เปิดตัวแคมเปญ "สุขท้าลอง 72 สไตล์" 72 เส้นทางเมืองน่าเที่ยว ปลุกกระแสท่องเที่ยวไฮซีซั่น
- พิธีตัดผ้าไหมลายสิริวชิราภรณ์ โครงการทอผ้าลายสิริวชิราภรณ์ เฉลิมพระเกียรติฯ จ.สระแก้ว
- ไอเดียร์เจ๋ง MOU โครงการ ทิ้งไปเสียดายแย่ รับน้ำมันเก่า 2 กก.แลกน้ำมันพืชใหม่ 1 ลิตรทุกวัน
ส่วนบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยนครพนม กับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดนครพนม(สพม.ฯ นั้น เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ สร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาทักษะวิชาชีพแก่นักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดนครพนม จัดกระบวนการเรียน การสอน และเสริมสร้างสมรรถนะในการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรรายวิชา และแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียน การสอนตามโครงการอาชีวนวัตวิถี
ทั้งนี้ หากนักศึกษาที่ต้องการฝึกงานกับบริษัท เอเชีย ชไนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด นอกจากจะได้ฝึกงานในสถานที่จริงแล้ว ยังได้ค่าแรงตามกฎหมายแรงงานกำหนด และมีที่พักให้ฟรี จึงเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองนักศึกษาไปในตัว
ด้าน ดร.พรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นความร่วมมือในการจัดการอาชีวศึกษา โดยร่วมกันจัดการเรียน การสอนให้นักเรียน นักศึกษา สาขาวิชาด้านอุตสาหกรรม และ สาขาวิชาด้านพาณิชยกรรม เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล และความต้องการของสถานประกอบการ รวมถึงความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษาวิจัย การบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาทางวิชาการร่วมกับสถานศึกษาภายนอก และสถานประกอบการ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา ทั้งในและนอกจังหวัดนครพนม อีกทั้งเป็นแนวทางการพัฒนาแรงงานที่ตรงกับความต้องการ เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษของจังหวัดนครพนมต่อไป
หลังจากลงนามในบันทึกข้อตกลง(MOU) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะได้เยี่ยมชมผลงานของนักศึกษาทั้งอดีตและปัจจุบัน พบว่าได้รางวัลชนะเลิศมาหลายเวที ในขณะที่รุ่นกำลังศึกษาอยู่ก็มีแนวคิดอันเป็นที่สนใจของผู้แทนบริษัท เอเชีย ชไนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงขอเบอร์โทรศัพท์นักศึกษาเพื่อติดต่อไปร่วมงาน ถือเป็นก้าวแรกที่ดีมากสำหรับนักศึกษาปัจจุบัน ซึ่งอานิสงส์นี้จะไปถึงรุ่นต่อๆไปในอนาคต
บริษัท เอเชีย ชไนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีสำนักงานใหญ่อยู่ แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กทม. มีสาขาย่อยในต่างจังหวัด อาทิ ภูเก็ต,หาดใหญ่,ระยอง, และจังหวัดอุดรฯ เป็นต้น เชี่ยวชาญด้านการผลิต ประกอบ และบำรุงรักษา ระบบควบคุมลิฟท์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมัน ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทางการศึกษา เพื่อพัฒนาเยาวชนที่จะเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต จึงได้ประสานความร่วมมือในการจัดการสถานศึกษา โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยนครพนม จัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษา คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาลและความต้องการของสถานประกอบการ พร้อมเปิดโอกาสรับนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่เข้าเป็นพนักงานของบริษัทฯ ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และทำงานจริง เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเป็นแนวทางก้าวไปสู่ความชำนาญในวิชาชีพของตนเองได้ต่อไปในอนาคต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: