สภา วธ.นครพนม ล่องเรือสำราญสำรวจร่องน้ำ จัดงานนมัสการพระพุทธบาท 2,500 ปี และแห่ผ้าป่าทางน้ำแห่งแรกในภาคอีสาน
วันที่ 2 เมษายน 2565 เวลา 07.90 น. ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร หน้าตลาดอินโดจีน บริเวณท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองนครพนม นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนายชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม และชมรมนกเป็ดน้ำ ได้ลงเรือสำราญแม่โขงพาราไดซ์ครูซ 2 เพื่อเป็นการสำรวจทางเดินเรือที่จะต้องใช้เรือสำราญแม่โขงพาราไดซ์ครูซ 2 ลำนี้ในการแห่ผ้าป่าทางน้ำ และสักการะพระพุทธบาทเวินปลา ช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 14 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยได้รับการอนุเคราะห์จาก พล.ร.ต.สมบัติ จูถนอม ผู้บัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (ผบ.นรข.) สั่งการให้ใช้เรือลาดตระเวนซึ่งทราบพิกัดว่าบริเวณไหนเป็นร่องน้ำลึก
สืบเนื่องจาก เมื่อครั้งหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม ซึ่งเป็นพระเถราจารย์ชื่อดังของจังหวัดนครพนม ขณะยังมีชีวิตอยู่ท่านดำริกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช (ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในขณะนั้น) และ นายแพทย์ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.นครพนม ให้จัดประเพณีบูชาพระพุทธบาทเวินปลาขึ้น โดยหลวงปู่คำพันธ์ และพระเทพมงคลเมธี(อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม) พร้อมด้วยคณะของพลเอกชวลิต/นายเสริมศักดิ์และนายแพทย์ประสงค์ ได้ลงเรือบั๊กที่ใช้สำหรับบรรทุกรถยนต์ข้ามฟากไปยังฝั่งประเทศลาว เพราะขณะนั้นยังไม่มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) เพื่อเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาทเวินปลา ณ วัดโพธิ์ชัย(วัดพระบาทเวินปลา) บ้านเวินพระบาท หมู่ 1 ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม กระทั่งหลวงปู่คำพันธ์ละสังขารมาร่วม 20 ปีก็ไม่มีผู้ใดคิดจะสืบสานประเพณีดังกล่าวนี้อีกเลย
ต่อมา นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย เข้ารับตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ได้ปรึกษาหารือกับกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านจนทราบว่า พระพุทธบาทเวินปลาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่กลางแม่น้ำโขง มีความเชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าพระนามว่าพระกัสสปพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าในอดีตตามคัมภีร์พุทธวงศ์) หรือมากกว่า 2,500 ปี ก่อนจะมีพระโคตมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นมาขอความคิดเห็น และมีมติว่าควรรื้อฟื้นประเพณีนมัสการพระพุทธบาทเวินปลาขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมจัดขบวนแห่ผ้าป่าทางน้ำในห้วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน คณะที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรจัดเป็นประเพณีในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี จึงมีการประชุมกันหลายครั้ง กระทั่งมาตกผลึกดำเนินการจัดกิจกรรมในชื่อ “ประเพณีสักการบูชาและสรงน้ำพระพุทธบาทเวินปลา ประจำปี 2565”ขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคม พร้อมอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
- ปป.แม่สายทานมูมมามจนลืมตัว เรียกเก็บเงินแบบไม่อาย แต่ต่อรองราคาได้
สำหรับการล่องเรือสำราญสำรวจร่องน้ำ เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยมีชาวบ้านเวินพระบาทร่วมชี้บริเวณร่องน้ำ เพราะเป็นคนพื้นที่ทราบดีว่าตรงไหนมีโขดหินหรือตรงไหนไม่มีโขดหิน โดยในวันที่ 14 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันแห่ผ้าป่าทางน้ำ ได้รับความเมตาจากพระราชสิริวัฒน์ เจ้าคณะจังหวัดนครพนม และ พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ วัดป่าวังน้ำเย็น เกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งจังหวัดมหาสารคาม และเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่คำพันธ์อีกด้วย ร่วมลงเรือแห่ผ้าป่าจากบริเวณหน้าตลาดอินโดจีน เขตเทศบาลเมืองนครพนม จนถึงโขดหินที่ประทับรอยพระพุทธบาทเวินปลา วัดโพธิ์ชัย ต.เวินพระบาท ระยะทาง 13 กิโลเมตร ใช้เวลาล่องเรือ 2 ชั่วโมง 30 นาที โดยนายวันชัย พึ่งเมือง นายกเทศมนตรีตำบลเวินพระบาท เปิดเผยว่าได้เตรียมการต้อนรับคณะนักแสวงบุญ ตลอดจนขบวนผ้าป่าไว้เรียบร้อย ตั้งแต่การตรวจคัดกรองโควิด-19 มาตรการความปลอดภัยทั้งทางบกและทางน้ำ
ด้าน นายสุขิน สีเพ็ง ผู้ใหญ่บ้านเวินพระบาทหมู่ 1 กล่าวว่ารอยพระพุทธบาทเป็นความเชื่อของชาวนครพนมและฝั่งลาวมานับพันปี ช่วงปกติไม่มีโควิดระบาดถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวลาวจะจัดผ้าป่ามาถวายวัดเป็นประจำ บริเวณวัดจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมาก ส่วนนายชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานสภาอุสาหกรรมท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้บริหารเรือสำราญพาราไดซ์ครูซ ยินดีให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในวันที่ 14 เมษายน 65 จะใช้เรือลำนี้แห่ผ้าป่าทางน้ำมาถวายวัดพระบาทเวินปลา โดยจำกัดไม่เกิน 60 คน นอกจากนี้ยังมีเรือเล็กร่วมแห่ด้วยอีกหลายลำ
พระพุทธบาทเวินปลาแห่งนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือใบลานตำนานพระอุรังคธาตุ สมัยสร้างพระธาตุพนมเมื่อปี พ.ศ.8 หรือกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังตรัสรู้ได้มาเผยแผ่พระธรรมในชมพูทวีปลุ่มน้ำโขง ขณะล่องมาตามลำแม่น้ำโขง ได้มีเหล่าพญานาคใต้เมืองบาดาล และพญาปลาปากคำที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้แปลงกลาย นิมนต์พระองค์ลงไปแสดงธรรมใต้บาดาล และก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นมายังโลกมนุษย์ เหล่าพญานาค พญาปลาปากคำ ได้ร้องขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทนพระองค์ไว้เพื่อกราบไหว้บูชา พระพุทธเจ้าจึงได้ประทับรอยพระบาทไว้บนโขดหินแห่งนี้ คือรอยพระพุทธบาทเวินปลา วัดโพธิ์ชัย
โดยในช่วงหน้าฝนน้ำโขงขึ้น โขดหินนี้ก็จะจมอยู่ใต้น้ำกลายเป็นที่กราบไหว้ของสิ่งลี้ลับใต้บาดาล พอถึงช่วงหน้าแล้งน้ำโขงลดรอยพระพุทธบาทก็จะโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำโขงเพื่อให้ประชาชนไทย-ลาว กราบสักการะบูชา โดยจะปรากฏชัดที่สุดในช่วงสงกรานต์
โดยบริเวณรอยพระพุทธบาทเวินปลาเป็นน้ำวน ชาวไทยอีสานเรียกว่า “เวิน” ซึ่งหมายถึงตั้งอยู่ในวังน้ำวน และเชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของพญาปลาปากคำ(ปลาตะเพียนทอง) จึงเรียกว่า“เวินปลา” ซึ่งรอยพระพุทธบาทเวินปลาอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 100 เมตร ห่างจากวัด 200 เมตร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีงานนมัสการรอยพระพุทธบาทเวินปลา มีการสรงน้ำรอยพระพุทธบาทจำลอง และประเพณีรดน้ำดำหัว โดยมีสะพานเหล็กเดินข้ามไปจนถึงรอยพระพุทธบาท
นอกจากนี้ยังมี”รองเท้ามาร” สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเพื่อให้สัมพันธ์กับรอยพระพุทธบาท รอยนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ลักษณะเป็นรอยบุ๋มลงในหินคล้ายรอยเท้ามนุษย์ และใต้โขดหินนี้มีเศษอิฐกระจายเกลื่อน สันนิษฐานว่าเป็นซากอาคารเก่าที่ถูกน้ำกัดเซาะพังลง และยังเชื่อว่าในน้ำมีพระพุทธรูป 1 องค์ที่อยู่ใต้ผืนทรายลึก มีร่องรอยซากเจดีย์ก่อด้วยอิฐ 1 องค์ ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน บริเวณนี้ยังมีเศษภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกคนในสมัยโบราณ และที่สำคัญได้ค้นพบเศียรพระพุทธรูปสำริด 1 เศียร ขนาดกว้าง 3.8 เซนติเมตร สูง 5.6 เซนติเมตร ลักษณะมีพระเกศาขมวดขนาดเล็ก พระกรรณเป็นขมวดม้วนและมีรอยขีดยาวลงมาช่วงติ่งพระกรรณ เศียรพระมีร่องรอยการลงรักปิดทอง ด้านอายุนั้นนักวิชาการบางท่านเสนอความเห็นว่า น่าจะอยู่ในช่วงสมัยทวารวดี เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดขบวนแห่ผ้าป่าทางน้ำ ในภาคอีสาน 20 จังหวัด ยังไม่พบว่ามีจังหวัดใดริเริ่มจัด ส่วนใหญ่จะมีอยู่ที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เท่านั้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: