‘ชัชชาติ’ เบอร์ 8 ลงพื้นที่หาเสียงเขตบางนา พบปัญหาเศรษฐกิจ-ปัญหาเส้นเลือดฝอย ชี้ กทม. ต้องเร่งวางแผนแก้ไขปัญหา เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต
วันที่ 4 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 เริ่มต้นภารกิจหาเสียงเขตบางนาที่วัดบางนาใน กราบนมัสการ พระศรีศาสนวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบางนาใน เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นเดินต่อไปที่ตลาดสี่แยกบางนาและชุมชนในพื้นที่โดยรอบ มีผู้ค้าและประชาชนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
ข่าวน่าสนใจ:
ชัชชาติแจกแผ่นพับหาเสียงและแนะนำนโยบาย “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” พร้อมรับฟังปัญหาจากประชาชน ส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาด้านเศรษฐกิจปากท้อง อาทิ ต้นทุนสินค้าราคาแพงกว่าปกติ สวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ชัชชาติ ย้ำ กทม. ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ และทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น
ระหว่างเดินทางต่อไปยังวัดบางนานอกและพื้นที่โดยรอบ ชัชชาติ แวะสำรวจการทำงานเครื่องสูบน้ำในเขตบางนา พบเครื่องสูบน้ำยังทำงานไม่เต็มที่ เป็นสาเหตุปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง ชัชชาติเสนอให้ กทม. วางแผนการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านการเดินทางแม้โครงสร้างด้านคมนาคมได้รับการพัฒนาหลายด้าน เช่น ถนน ทางด่วน และรถไฟฟ้า พบประชาชนยังเข้าออกพื้นที่ลำบาก เสนอให้ กทม. เร่งดูแลปัญหาการเดินทาง โดยเฉพาะปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาสูง เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ทั้งจากพื้นที่เมืองชั้นในของ กทม. และจากโครงการระเบียงภาคตะวันออก (EEC)
ชัชชาติ ยังสะท้อนปัญหาเส้นเลือดฝอยในเขตบางนาด้านอื่น ๆ เช่น ด้านสาธารณสุข พบเขตบางนาไม่มีสถานพยาบาลในสังกัด กทม. มีเฉพาะศูนย์ผู้ป่วยนอกเท่านั้น ดังนั้น จำเป็นต้องหาแนวทางให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น ชัชชาติเสนอนโยบาย “หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine” ระบบให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพผ่านแพลตฟอร์มดูแลระยะไกล หรือ เทเลเมดิซิน ที่สามารถเข้าถึงชุมชนโดยประชาชนไม่ต้องเดินทางมายังสถานพยาบาล
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาขาดแคลนพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ ซึ่งชัชชาติชี้ว่าเขตบางนามีพื้นที่ราชการและพื้นที่ใต้ทางด่วนจำนวนมาก ที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นพื้นที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจได้ ถ้าพื้นที่เหล่านี้สามารถพัฒนา ก็จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล ตามนโยบาย “สวน 15 นาที ทั่วกรุง” ขณะที่พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็สามารถพัฒนาให้เชื่อมต่อกับบางกระเจ้า ที่สามารถพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวและเป็นทางเลือกในการเดินทางในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: