X
บรรยายให้ความรู้ ท่ามกลางความสนใจของเด็กๆ ในอดีต

อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ ชู “วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต” คนสำคัญด้านดาราศาสตร์ไทย

ฉะเชิงเทรา – อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ ชู “วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต” เป็นบุคคลสำคัญด้านดาราศาสตร์ระดับประเทศของไทย ขณะคนในวงการเมื่อครั้งอดีตร่วมรำลึกความหลังให้เห็นถึงผลงานอันทรงคุณค่า และหาตัวบุคคลมาทัดเทียมได้ยาก ฝากไว้เป็นอนุสรณ์ในวงการให้คนยุคต่อไปได้เรียนรู้ศึกษา

ความภาคภูมิใจ ของ วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต

วันที่ 7 เม.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ ได้กล่าวถึงการจากไปอย่างสงบของนายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ด้วยวัย 70 ปี เมื่อเวลา 14.55 น. ของวันที่ 5 เม.ย.65 ภายในบ้านพักย่านตลาดบางบ่อ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ผ่านมาว่า ถือเป็นบุคคลสำคัญของประเทศทางด้านดาราศาสตร์ไทย แม้จะเป็นบุคคลที่มีการศึกษาเพียงขั้นพื้นฐานในสมัยอดีต (ป.7)

แต่เป็นบุคคลที่มีความรู้ในระดับปราชญ์จากภูมิปัญญา ทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่แม้แต่คนที่เรียนจบในระดับด็อกเตอร์ยังต้องเข้ามาสอบถามปรึกษา ในเรื่องที่เกี่ยวกับทางด้านดาราศาสตร์ และเชื่อว่าในโลกนี้ค่อนข้างหายาก และเป็นกำลังสำคัญก่อให้เกิดหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.ฉะเชิงเทรา ขึ้นมา ทั้งยังช่วยงานถ่ายทอดความรู้ทจากภูมิปัญญาให้แก่เยาวชน และผู้ที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมเรียนรู้ศึกษา การจากไปจึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย และถือได้ว่าขาดกำลังสำคัญที่หายากในวงการไปอีก 1 คน

นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง

เผยในอดีตนายวรวิทย์ ถือเป็นผู้จุดประกาย ที่ทำให้ตนเองนั้นได้มีแนวความคิดในการที่จะจัดสร้างหอดูดาวให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เมื่อครั้งที่ตนเองยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลผู้ที่มีความเก่งกาจในด้านนี้อย่างผิดปกติ การจากไปครั้งนี้ของนายวรวิทย์ ได้ทำให้ จ.ฉะเชิงเทรา และในระดับประเทศขาดบุคคลสำคัญทางด้านดาราศาสตร์ไปอีกหนึ่งคนด้วย

ทุ่มเทถ่ายทอดสู๋คนรุ่นหลัง

โดยเฉพาะผลงานภาพถ่ายทางด้านดาราศาสตร์ ที่ได้นำมาใช้ศึกษาเรียนรู้กันตั้งแต่ในระดับชั้น ป.1 จนถึงชั้น ม.6 นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานจากนายวรวิทย์ เกือบทั้งสิ้น จึงถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญทางด้านดาราศาสตร์ไทยจริง ๆ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ต้องมาสูญเสียนายวรวิทย์ ไปในครั้งนี้ นายวุฒิพงศ์ กล่าว

ผลงานภาพถ่าย ดาวหางเฮล-บอปป์ แสดงส่วนหางฝุ่นและหางก๊าซ 6 เม.ย.40 เวลา 19.30 น.

ด้าน นายอารีย์ สวัสดี ประธานมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมป์ กล่าวว่า การจากไปของ นายวรวิทย์ ในครั้งนี้ ถือเป็นการสูญเสียผู้รู้ หรือนักปราชญ์ของ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งถือว่าเป็นเพียงคนๆ เดียว ที่เป็นผู้รู้ในลักษณะนี้ และเป็นเพียงคนๆ เดียว ที่มีภูมิปัญญาจากการเรียนรู้ด้วยตนเองในระดับประเทศ รวมถึงในระดับโลกด้วย ทั้งที่ในสมัยอดีตไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนต่อการศึกษาเรียนรู้มากนัก จึงเป็นความยิ่งใหญ่มาก ต่อการสูญเสียบุคคลไปในครั้งนี้

นายอารีย์ สวัสดี

ที่ผ่านมาได้เคยร่วมงานกันมานานหลายสิบปี เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์นั้น คือ ศาสตร์ในทางเดียวกัน โดยดาราศาสตร์นั้นเป็นกายภาพเป็นรูปธรรม เป็นฟิสิกส์ ส่วนโหราเป็นนามธรรม การดูดาวนั้นเป็นกายภาพเป็นความรู้สืบเนื่องกันมานานกว่า 5 พันปีแล้ว โดยเฉพาะที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น มีคนดีที่เป็นผู้มีความรู้เกิดขึ้นมาทางด้านนี้ จนก่อให้เกิดหอดูดาวในระดับภูมิภาคเกิดขึ้นที่นี่ นายอารีย์ กล่าว

ผลงานถ่ายภาพ การรวมตัวของแกแล็คซี่สองแกแล็คซี่ 12 มี.ค.40 เวลา 01.00 น.

ขณะที่ นายเชิดพงศ์ วิสารทานนท์ นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า การสูญเสียนายวรวิทย์ ไปในครั้งนี้ ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เกี่ยวกับทางด้านบุคลากรที่สำคัญ และเป็นแบบอย่างของสมาคม และเยาวชน เนื่องจาก นายวรวิทย์ นั้น ถือเป็นผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ได้ทำการศึกษาทางด้านดาราศาสตร์ด้วยตนเองตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของความตื่นตัวทางด้านดาราศาสตร์จนเป็นที่สนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวางในประเทศไทย เมื่อครั้งที่ยังไม่มีระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการศึกษาค้นคว้า

นายเชิดพงศ์ วิสารทานนท์

ต้องหาหนังสือมาอ่านเองและทำการทดลองอะไรด้วยตนเองทั้งหมด จนก่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่สูงอย่างมาก ในระดับเชี่ยวชาญของวงการ จึงเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของวงการดาราศาสตร์ไทยในวันนี้ จึงอยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้นำไปเป็นแบบอย่าง ในด้านของความพยายามและตั้งใจที่จะศึกษาด้วยตนเอง เพื่อวันข้างหน้าประเทศไทยเราจะได้มีปราชญ์เก่งๆ สืบสานตามแนวทางเช่นเดียวกันกับ นายวรวิทย์ เพิ่มขึ้นมาอีกมากยิ่งขึ้นต่อไป โดยทางสมาคมจะรำลึกถึงความสามารถและผลงาน ในสิ่งที่คุณวรวิทย์ ได้เคยร่วมสร้างสมาคมดาราศาสตร์ไทยไว้ต่อไป นายเชิดพงศ์ กล่าว

ผลงานถ่ายภาพ สุริยุปราคาเต็มดวงไซบีเรีย มองเห็นได้บางส่วนในประเทศไทย 9 มี.ค.40 เวลา 6.55 น.

ถ่ายทอดองค์ความรู้มาอย่างต่อเนื่อง

การทดลองประดิษฐ แว่นจากกระจกรนไฟในยุคแรก

สอนวิธีนอนนับดาวให้แก่นักเรียน

ผลงานถ่ายภาพ เนบิวลาสามแฉก M 20 หรือ NGC 6514

ผลงานถ่ายภาพ เนบิวลาทะเลสาบ M 8 หรือ NGC 6532

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สนทะนาพร อินจันทร์

สนทะนาพร อินจันทร์

ลุยงานช่วยเหลือคนเดือดร้อนมาทั้งชีวิต อย่างไม่คิดเรียกสิ่งตอบแทน