X

เชงเม้งพระยารัษฎาฯ กยท.เผยเตรียมนำเซรั่มจากน้ำยางมาผลิตปุ๋ยเพื่อลดต้นทุน

ตรัง ชาวตรังน้อมรำลึก เชงเม้งพระยารัษฎาฯ อดีตเจ้าเมืองตรัง บิดายางพาราไทย 109 ปี เสริมมงคลจุดประทัดแสนนัด ส่วนราชการ เอกชน ลูกหลานพระยาร่วมงานคับคั่ง ด้าน กยท.เผยเตรียมนำเซรั่ม ในน้ำยางมาผลิตปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกร นอกจากนี้จากงานวิจัยของ ม.สงขลานครินทร์ เอาเซรั่มจากยางพารา ไปทำสารฟอกขาว เป็นคอสเมติก ใช้สารเวชภัณฑ์ในการต่อต้านมะเร็ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลองของคณะแพทย์

วันที่ 10 เมษายน 2565 ที่ อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) จังหวัดตรัง เทศบาลนครตรัง การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง โดยมีนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ด้านปฏิบัติการ นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง ราษฎรและข้าราชการ ร่วมทำพิธีรำลึก 109 ปี พิธีเชงเม้ง พร้อมวางพวงมาลาสักการะ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ “อดีตเจ้าเมืองตรัง” “บิดายางพาราไทย” เพื่อเป็นการแสดงกตัญญูต่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ซึ่งจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 เห็นชอบให้วันที่ 10 เมษายนของทุกปี เป็นวันยางพาราแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันถึงแก่อนิจกรรม ของ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ผู้ริเริ่มแนวคิดนำยางพารามาเป็นพืชเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดอาชีพชาวสวนยาง สร้างรายได้จากการทำสวนยางในประเทศไทยเป็นครั้งแรก รวมถึง เป็นการเชิดชูเกียรติ

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ด้านปฏิบัติการ บอกว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าพระยารัษฎาฯ บิดายางพารา นำยางต้นแรกมาปลูกที่ประเทศไทย เมื่อปี 2442 วันนี้ยางพารามาสู่ประเทศไทย 123 ปี การยางแห่งประเทศไทยดูแลยางพาราทั้งระบบ ฝั่งต้นน้ำก็มีการเสวนาว่าต่อไปนี้การทำสวนยางในบริบทต้นน้ำ ต้องเป็นการทำสวนยางอย่างยั่งยืน ในสวนยางนอกจากมียางพาราแล้ว จะต้องมีอาชีพอื่น เช่น พืชแซม ประมง ปศุสัตว์ ทำอย่างไรให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ที่มีประมาณ 10 ไร่ ให้มีรายได้พอเพียงในการดำรงชีพ ในฝั่งของกลางน้ำก็ให้เกษตรกรเหล่านั้นรวมตัวกันเป็นสถาบันเกษตรกร การยางก็มีเงินอุดหนุน ไปสนับสนุนการแปรรูป ยกระดับมาตรฐานการผลิต วันนี้เรามีสหกรณ์ที่มาตรฐาน GAP GMP และที่สำคัญเรามีงานวิจัยในฝั่งของปลายน้ำ ยางพาราเราส่งออกเป็นส่วนใหญ่ มากกว่า 87 เปอร์เซ็น ใช้ในประเทศแค่ 13 เปอร์เซ็น มูลค่าส่งออกที่เป็นวัตถุดิบ ประมาณ 245,000 ล้าน ในขณะที่ 6-7 ตันที่ใช้ในประเทศมีมูลค่ากว่าเกือบ 4 แสนล้าน วันนี้ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในประเทศส่วนใหญ่ไปสู่อุตสาหกรรมยางล้อ ประมาณ 2 แสนล้าน

วันนี้เกิดสถานการณ์โควิด เรานำมาทำถุงมือ มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้าน เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ในปีที่ 124 การยางให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี วันนี้เราไม่ได้มองแค่ยางอย่างเดียว ในน้ำยาง 1 กิโลกรัม จะมีส่วนของเนื้อยาง 35 เปอร์เซ็น มีส่วนที่ไม่ใช่ยางอยู่ 50-60 เปอร์เซ็น เรียกว่า เซรั่ม จากยางพารา วันนี้เราใช้งานวิจัยของ ม.สงขลานครินทร์ เอาเซรั่มจากยางพารา ไปทำสารฟอกขาว เป็นคอสเมติก ไปเป็นสารเวชภัณฑ์ในการต่อต้านมะเร็ง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลอง ของคณะแพทย์ นี่คือคุณูปการ ที่พระยารัษฎาฯ ได้นำเข้ามา

แต่ตอนนี้ลูกหลานของท่าน ที่จะต้องพาเกษตรกรที่มีอยู่ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 10 กว่าล้านคน ไปข้างหน้าได้อย่างไร นี่คือโจทย์ที่ยิ่งใหญ่ของการยาง ในส่วนของราคายางพาราที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ายางพาราเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ มีการปลูกยางพารามากว่า 24 ประเทศในโลกนี้ ยางพาราอยู่ที่ไหนคุณภาพก็เหมือนกัน วันนี้สิ่งที่การยางได้ทำแล้ว คือการสร้างกลไกตลาด ที่ผ่านมาเราอ้างแค่ตลาดล่วงหน้า

วันนี้เราสร้างกลไก เช่น โครงการชะลอยางก้อนถ้วย ที่ภาคเหนือ ราคาไม่ดี เราให้ชาวบ้านเก็บยางไว้ที่บ้าน แล้วมาเอาเงินที่กองทุนพัฒนายางไปใช้ก่อน เป็นการสร้างกำลังในการต่อรอง และวันนี้ได้มีการขยายผล มีการสร้างนวัตกรรม การผลิตยางแผ่นรมควันจะต้องเก็บในห้องดูดความชื้น เก็บได้นานถึง 5-6 เดือน ไม่มีเงินก็มาจากการยาง สิ่งเหล่านี้การยางจะสร้างกลไก ในการซื้อขายให้ราคายางมีเสถียรภาพ การที่จะบอกว่าราคาสูงขึ้นก็จะต้องมีเหตุมีผล เพราะในโลกนี้มียางอยู่ 2 ชนิด คือยางสังเคราะห์ และยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ผู้ผลิตรายใหญ่ คือ ไทย อเมริกา และจีน และในเวลาเดียวกัน จีนและอเมริกา ก็เป็นผู้ใช้ยางธรรมชาติรายใหญ่ จึงเป็นไปไม่ได้ว่ายางธรรมชาติจะสูงกว่ายางสังเคราะห์ เพราะถูกกำหนดโดยผู้ใช้ แต่เราจะเพิ่มด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ตรงนี้สำคัญ จะต้องสร้างดีมานในประเทศ และสิ่งที่สำคัญ เราสามารถนำเอาเซรั่มจากยางพารามาผลิตปุ๋ย วันนี้นวัตกรรมเหล่านี้มาเลเซียทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว และตนเองในฐานะกำกับดูแลสถาบัน เราจะสร้างโรงงานต้นแบบที่ภาคอีสาน เอาเซรั่มจากยางพารามาทำปุ๋ย เพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกร

สำหรับพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ข้าราชการดีเด่นในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็น 1 ใน 5 ของนักปกครองนักบริหารดีเด่นในรอบ 100 ปี ของกระทรวงมหาดไทย เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2400 ที่จังหวัดระนอง เป็นบุตรคนสุดท้องของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) และนางกิม รู้หนังสือเพียงแค่ลงลายมือชื่อตนเองได้เท่านั้น แต่มีความสามารถพูดได้ถึง 9 ภาษา เมื่อบิดาถึงแก่กรรม พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้เป็นพี่ชาย ได้นำเข้ารับราชการเป็นครั้งแรก โดยเข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงบริรักษ์โลหวิสัย ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนอง ต่อมาได้เลื่อนเป็นผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ บรรดาศักดิ์พระอัษฎงคตทิศรักษา แล้วได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

ในปีพุทธศักราช 2433 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เป็นนักปกครองที่สามารถและเป็นนักพัฒนาที่ทันสมัย ท่านมุ่งพัฒนาบ้านเมืองในหลักสำคัญ 6 ประการ คือ การคมนาคมสื่อสาร การศึกษา การสาธารณสุข การเกษตรกรรม การค้าขาย การปราบปรามโจรผู้ร้าย และการรักษาความสงบ เมื่อรับตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ท่านได้พัฒนาเมืองตรังให้กลายเป็นเมืองเกษตรกรรม และเมืองเกษตรกรรม และเมืองท่าค้าขายที่ยิ่งใหญ่ของภาคใต้ฝั่งอันดามัน พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ด้วยกุศโลบายที่แยบยลในการบริหารราชการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎร เช่น ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงไก่ โดยบอกว่าเจ้าเมืองต้องการไข่ไก่ ให้เอากาฝากออกจากต้นไม้ โดยบอกว่าเจ้าเมืองต้องการเอาไปทำยา อีกทั้งมีการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟและพริกไทยเป็นสินค้าส่งออกไปขายปีนังและเมืองเดลี และเมื่อพริกไทยราคาตกต่ำลง ท่านได้นำพันธุ์ยางพาราจากประเทศมาเลเซียเข้ามาปลูกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เมื่อปีพุทธศักราช 2442 จังหวัดตรังจึงได้ชื่อว่า “แหล่งกำเนิดยางพารา” และพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งยางพาราไทย”

นอกจากนั้น ในด้านการคมนาคม ได้มีการตัดถนนข้ามเขาบรรทัดเชื่อมจังหวัดตรังกับพัทลุง ซึ่งเป็นถนนสายที่งดงามมาก และเป็นการเชื่อมฝั่งทะเลตะวันตกกับตะวันออก ให้ไปมาหากันได้สะดวกขึ้น พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังระหว่างปี 2433-2444 ในปี 2444 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต รับผิดชอบดูแลหัวเมืองตะวันตกตั้งแต่ ภูเก็ต ตรัง กระบี่ พังงา ตะกั่วป่า ระนอง และสตูล มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เลื่องลือไปถึงหัวเมืองมลายูและปีนัง พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2456 ณ บ้านจักรพงษ์ เกาะปีนัง สิริอายุได้ 56 ปี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน