ย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง … สายลมและเม็ดฝนที่เคยช่วยพัดพาฝุ่นละอองเริ่มจางหายไป บางครั้งถึงขั้นทำให้เกิดสภาวะ ‘อากาศปิด’ ไม่มีการไหลเวียน เต็มไปด้วย ‘ฝุ่นจิ๋ว หรือ PM 2.5’ ที่เกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเราคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังนำมาซึ่ง “ความแห้งแล้ง” สัญญาณเตือนที่ต้องเฝ้าระวังไฟป่า นำมาสู่ปัญหาหมอกควัน ต้นตอของมหันตภัยฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ด้วย
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีเขื่อนและโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ เห็นความสำคัญของอากาศสะอาดและสุขภาพของคนไทย จึงได้เดินหน้ามาตรการต่าง ๆ เพื่อพิชิต ‘ฝุ่นจิ๋ว’ ทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม
จัดทีมเฝ้าระวังและดับไฟป่า
สำหรับพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำหรือพื้นที่เสี่ยงที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง พนักงานจิตอาสาของ กฟผ. ทำงานร่วมกับคนในชุมชนเพื่อเฝ้าระวังและดับไฟป่า เพื่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบน้อยที่สุด อาทิ ทีมเสือดำดับไฟป่า ของ กฟผ.เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ที่จะทำหน้าที่เป็น “หน้าด่าน” คอยเฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่ป่ารอบเขื่อนภูมิพลทั้งสองฝั่งของแม่น้ำปิงที่ กฟผ. ดูแล กว่า 15,000 ไร่ ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่าลุกลาม
เช่นเดียวกับ ทีมป้องกันไฟป่า กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ต้องจัดทีมลาดตระเวนเข้าสำรวจพื้นที่เสี่ยงเป็นระยะและเฝ้าระวังจุดที่เกิดความร้อน (Hotspot) ในแต่ละวัน เมื่อเกิดไฟป่าก็พร้อมเข้าไปดับไฟป่าในทันที
รู้เท่าทันไฟป่าด้วย ‘Lampang Hotspot’
แอปพลิเคชัน Lampang Hotspot เป็นนวัตกรรมที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยจัดการปัญหาไฟป่าซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM2.5 โดยมุ่งเน้นตรวจจับและแจ้งเตือนจุดความร้อนที่แสดงบนแผนที่แต่ละวันแบบเรียลไทม์ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบและเข้าระงับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยังสามารถแจ้งเตือนสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ เพื่อเตรียมรับมือในการดำเนินชีวิตประจำวันและป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่านทาง Google Play และ App Store
นายจำรัส เกี๋ยงแก้ว ช่างระดับ 5 แผนกรักษาความปลอดภัย กฟผ. แม่เมาะ ผู้ดูแลการเข้าดับไฟป่า กฟผ.แม่เมาะ เปิดเผยว่า แอปพลิเคชัน Lampang Hotspot สามารถแสดงจุดที่เกิดไฟป่าได้ตรงจุดและชัดเจน อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบทิศทางของลมเพื่อคาดการณ์แนวของการพัดพาการลุกไหม้ของไฟไปยังพื้นที่อื่น ทำให้ให้ทีมป้องกันไฟป่าเข้าดับไฟได้ทันเวลาก่อนที่ไฟจะลุกลาม นอกจากนี้ยังสามารถใช้ข้อมูลการเกิดจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในแต่ละปีจากแอปพลิเคชันมาประมวลเป็นสถิติพื้นที่ที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง ทำให้สามารถเฝ้าระวังและสำรวจเส้นทางในการเข้าดับไฟป่าล่วงหน้าด้วย
ขยายการติดตั้งเซนเซอร์เตือนภัยฝุ่นจิ๋ว
ขณะเดียวกัน กฟผ. ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมควบคุมมลพิษ และ GISTDA เดินหน้าร่วมแก้ปัญหาคุณภาพอากาศของประเทศโดยบูรณาการฐานข้อมูลคุณภาพอากาศของแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งขยายการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเปรียบเสมือน “เครื่องเตือนภัยฝุ่นจิ๋ว” ช่วยตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลแจ้งเตือนประชาชนได้รับทราบ ทั้งในพื้นที่เขื่อน โรงไฟฟ้า ศูนย์การเรียนรู้ ชุมชนโดยรอบพื้นที่ กฟผ. รวมถึงร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มเติมอีก 228 จุด ในพื้นที่โรงไฟฟ้า โรงงานขนาดใหญ่ สี่แยกไฟแดงหรือถนนที่มีการจราจรหนาแน่น และสถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัดให้ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้ข้อมูลประชาชนเพิ่มเติมผ่านทางแอปพลิเคชัน Sensor for All
หนุนยานยนต์ไฟฟ้า เดินหน้าสังคมคาร์บอนต่ำ
การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียเป็นมาตรการสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภาคขนส่ง กฟผ. จึงเดินหน้านำร่องการใช้ยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะซึ่งเป็นรถโดยสารสาธารณะที่มีจำนวนมาก และได้รับความนิยมสูงจากประชาชน กฟผ. ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างประหยัดต้นทุนจากค่าน้ำมันถึงเดือนละ 2,000 – 3,000 บาท และไม่ปล่อยมลพิษซึ่งเป็นต้นเหตุหลักของฝุ่น PM 2.5 สู่อากาศ เช่นเดียวกับเรือโดยสารไฟฟ้าที่ กฟผ. พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนในการเชื่อมต่อการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” ตลอดจนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าเพื่อใช้บริการประชาชนในศูนย์การเรียนรู้ของ กฟผ. หรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคม
รวมถึงส่งเสริมการนำรถยนต์ส่วนบุคคลเก่าใช้แล้วมาดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 200 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยชุดดัดแปลง (EV Kit) ที่ กฟผ. และ สวทช. ร่วมกันพัฒนาขึ้น
ปลูกป่าล้านไร่ สร้างปอดชุมชน
การปลูกป่าถือเป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถช่วยเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นปอดอย่างยั่งยืนของชุมชน ตลอด 29 ปีที่ผ่านมา กฟผ. จึงเดินหน้าปลูกและดูแลรักษาป่าของประเทศไทยเกือบ 5 แสนไร่ และในปี 2564 กฟผ. ได้ประกาศเดินหน้า “โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม” ผนึกกำลังร่วมกับชุมชนและพันธมิตรตั้งเป้าปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าบก และป่าชายเลน ควบคู่กับการวางแนวทางดูแลและบำรุงรักษาป่าอย่างต่อเนื่องผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อติดตามอัตราการเติบโตของกล้าไม้ร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 1.2 ล้านตันต่อปี
การแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองเป็นวาระที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ทั้งการลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง ร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายสังคมปลอดคาร์บอนอย่างยั่งยืน และคืนอากาศสะอาดให้คนไทย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: