ปทุมธานี จัดพิธีสรงน้ำพระปทุมธรรมราช และ สักการะศาลหลักเมืองปทุมธานี เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ 2565
วันนี้ (12 เม.ย.65) ที่ บริเวณศาลหลักเมือง นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานพิธีสรงน้ำพระปทุมธรรมราช และ สักการะศาลหลักเมืองปทุมธานี เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ ประจำปี 2565 โดยมีนายเอกวิทย์ มีเพียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายดรณ์ สมิตะเกษตริน ปลัดจังหวัดปทุมธานี นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอเมืองปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าเข้าร่วมพิธี
ข่าวน่าสนใจ:
- ทนายเกรียง พา สาวนักแข่งรถจักรยานยนต์ทีมชาติไทย แจ้งความดำเนินคดีกับนายกสมาคม ข้อหาหมิ่นประมาท และ พรบ.คอม
- ‼️เลือดหนึ่งหยด..มีค่า-ต่อลมหายใจให้ผู้ป่วย,บาดเจ็บ‼️
- บุรีรัมย์ โรงเรียนอนุบาลบุรีรัมย์ จัดโครงการ “พัฒนาวิชาการ ส่งเสริมคุณธรรม ก้าวทันเทคโนโลยี ระดับปฐมวัย”
- พบช้างป่าอยู่ใกล้ที่ทำร้ายคนเสียชีวิตเร่งผลักดันหวั่นเกิดเหตุซ้ำ จ.ปราจีนบุรี
การสรงน้ำเนื่องในประเพณีสงกรานต์ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต โดยจะทำการสรงน้ำพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงสรงน้ำพระสงฆ์ภายหลัง รวมทั้งมีการก่อพระเจดีย์ทราย และทำบุญทำทานเพื่อความเป็นสิริมงคล ย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์จะเสด็จฯ ไปสรงน้ำพระพุทธปฏิมากรพระศรีสรรเพชญ์ และเทวรูปพระพิฆเนศวร จากนั้นจะโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะเข้ามาสรงน้ำในพระราชวัง ส่วนชาวบ้านทั่วไปก็พากันไปสรงน้ำพระตามวัดต่าง ๆ การสรงน้ำพระนั้นต้องเตรียมน้ำอบไทย เครื่องหอม ผ้าอาบหรือสบงแล้วแต่ศรัทธา เมื่อสรงน้ำพระแล้วก็ถวายของ
พระปทุมธรรมราช เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดปทุมธานี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 หล่อด้วยโลหะผสม ปางขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 3 คืบ พระสุคตประมาณ 40 นิ้ว สูง 50 นิ้ว ห่มจีวร สังฆาฏิพาดตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย สูง 8 นิ้ว ยาว 47 นิ้ว วัดความสูงตลอดถึงเกศ 65 นิ้ว โดยพระศาสนโสภณ (อ่อน) แต่ครั้งยังเป็น พรธรรมไตรโลกาจารย์ วัดพิชยญาติการราม ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลกรุงเทพฯ เห็นว่าในเขตปกครองของท่านไม่มีพระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองจำดำริกับ พระรามัญมุนี(สุทธิ์ ญาณรังสี) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดบางหลวงในสมัยนั้น พร้อมด้วย พระยาพิทักษ์ทวยหาญ เจ้าเมืองและกรรมการเมือง ร่วมจัดหาทุนทรัพย์ในการหล่อพระพุทธรูปครั้งเมื่อถึงเดือนมกราคม ร.ศ. 118 พ.ศ. 2443พระธรรมไตรโลกาจารย์ นำช่างปั้นหุ่นพระพุทธรูปมาจากกรุงเทพฯ โดยทำพิธี ณ โรงพิธี วัดปรมัยยิกาวาส จำนวน 4 องค์ต่อมาได้มีการกำหนดการเททองเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ร.ศ. 118 พ.ศ. 2443 ที่วัดบางหลวง สิ้นเงิน 519 บาทเศษ เมื่อทำการแต่งองค์พระเสร็จแล้ว พระธรรมไตรโลกาจารย์ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามพระพุทธรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนาม พระประจำจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 5 เมษายน ร.ศ. 118 พ.ศ. 2443 นามว่า พระปทุมธรรมราช สืบต่อมา
ศาลหลักเมือง” จังหวัดปทุมธานี เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัดปทุมธานี เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นที่เคารพ สักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี เป็นศาลาแบบจัตุรมุขยอดปรางค์ ประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นเสากลม ทำจากไม้ชัยพฤกษ์ ฐานแกะสลักเป็นดอกบัวรองรับ หัวเสาแกะเป็นลูกบัวแก้ว ด้านในศาลตั้งรูปเคารพตรงกลางเป็นรูปหล่อโลหะ “พระกาฬไชยศรี” ประทับบนหลังนกแสกกระหนาบด้วย “พระเสื้อเมือง” ด้านขวาเป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎ พระหัตถ์ซ้ายถือคฑา พระหัตถ์ขวาชูขึ้นระดับพระเศียร เครื่องทรงมีชายไหว ชายแครงประทับบนแท่น ด้านซ้าย “พระทรงเมือง” เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎถือพระขรรค์ด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวายกขึ้นในระดับเศียรประทับยืนบนแท่น
ปัจจุบันศาลหลักเมืองตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี มีผู้คนมากราบไหว้บูชากันอยู่มิได้ขาด นับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวปทุมธานี ให้มีความรักสมัครสมานสามัคคีกันให้แข็งแกร่ง เพื่อปกป้องคุ้มครองสถาบัน ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพรักของชาวไทย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: