ตรัง ตัวอย่างผู้ประกอบการดูดทรายที่ทำถูกต้องตามกฎหมายไม่ต้องจ่ายส่วย ที่ผ่านมาโดนบ่อทรายเถื่อนตัดราคา โดยยืนยันคนเรียกรับส่วยไม่ใช่หน่วยงานกำกับ ทางด้านเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมยืนยัน การขออนุญาตทำให้ถูกต้องขั้นตอนไม่ได้ยุ่งยาก แต่การจ่ายส่วย เป็นเพราะผู้ประกอบการเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย พยายามเลี่ยง ไม่ขออนุญาต ทำให้เกิดช่องว่างมีการเรียกรับผลประโยชน์ แต่ยืนยันไม่ใช่หน่วยงานกำกับ
ตามที่เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ตำรวจท้องที่ สภ.ห้วยยอด และเจ้าหน้าที่ตำรวจป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเข้าตรวจสอบบ่อดูดทราย ทั้งประเภทบ่อดูดทรายแม่น้ำ และบ่อดูดทรายในที่ดินกรรมสิทธิ์รวมทั้งบ่อขุดตักดินทราย ตรวจหาท่าทรายเถื่อนในพื้นที่ จ.ตรัง ที่ยังพบว่าในระยะเวลาประมาณ 3 ปี หลังมีการตรวจสอบและเป็นข่าวครั้งใหญ่ไปแล้วเมื่อปี 2561 – 2562 มีการหวนกลับมาลักลอบทำการดูดทรายเถื่อนอย่างครึกโครมอีกครั้ง บางแห่งแม้จะมีการขออนุญาตถูกต้อง แต่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อกฎหมาย และบางแห่งขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทหนึ่ง แต่พอเผลอเจ้าหน้าที่ก็ลักลอบประกอบกิจการอีกประเภทหนึ่งควบคู่ไปด้วย สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกลับได้รับผลกระทบจากการลักลอบดูดทรายทำให้มีทรายเถื่อนออกมาตีตลาด ทำให้ได้รับความเดือดร้อน
โดยที่ท่าทรายบัวบก ตั้งอยู่ตำบลลำภูรา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง พบว่าเป็นการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานในที่ดินกรรมสิทธิ์ มีการจัดการพื้นที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งถนนเส้นทางเข้าท่าทรายก็มีการตัด และปรับปรุงถนน ให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางสัญจรไปมาร่วมกันได้อย่างสะดวกด้วย ระยะทางประมาณ 1 กม. มีการนำเอกสารสำคัญการขออนุญาตมาติดประกาศไว้ให้เห็นอย่างเด่นชัดง่ายต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
ข่าวน่าสนใจ:
- สมเด็จพระสังฆราช โปรดประทานผ้าพระกฐินทอดถวาย ณ วัดเขาไกรลาศ หัวหิน
- เซ็นทรัล จัดแข่งขัน FIREMAN Challenge ครั้งที่ 20
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
โดยนายชำนาญ ลีลาโกสิทธิ์ ผู้จัดการท่าทรายบัวบก กล่าวว่า ท่าทรายของตนเนื้อที่ขออนุญาตขณะนี้รวมกว่า 70 ไร่ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง ทั้งการเว้นแนวคันดินระหว่างแม่น้ำกับบ่อทรายมากกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วยซ้ำ โดยบางจุดเว้นคันดินกับลำคลองสายย่อย ประมาณ 50 เมตร แต่กับแม่น้ำตรังเว้นพื้นที่ห่างจากแม่น้ำตรัง กว่า 100 เมตร โดยมีเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดตรังเข้ามาตรวจอย่างสม่ำเสมอ
ในการขนบรรทุกก็จะต้องมีผ้าคลุม ไม่ทำให้ตกหล่นเรี่ยราด ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชุมชน ไม่เกิดการร้องเรียน และที่ผ่านมาไม่เคยต้องจ่ายส่วยให้กับหน่วยงานใด เพราะทุกอย่างทำถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจะมีบ่อทรายเถื่อนหรือไม่นั้นพวกตนไม่ทราบ เพราะไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยว มุ่งทำของตนเองให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากราคาทรายที่ถูกทรายเถื่อนตีเป็นช่วงๆ โดยรอบนี้ถูกทรายเถื่อนตีตลาดมายาวนานนับปีแล้ว แม้จะขายให้กับลูกค้าประจำก็ตาม โดยทรายของตนจำหน่ายอยู่คิวละ 250 บาท ราคาทรายเถื่อนขายคิวละ 200 บาท ซึ่งได้รับผลกระทบ อยากให้ทุกแห่งดำเนินการให้ถูกต้อง เพื่อจะได้แก้ปัญหาด้านราคาทรายที่สะท้อนราคาจริง
เช่นเดียวกับบ่อดูดทรายในพื้นที่ ต.ท่าสะบ้า อ.วังวิเศษ ที่ปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด โดยทางผู้ดูแลบ่อทราย บอกว่า เมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ที่อ้างตัวว่า มาจากภาค 9 ประมาณ 3-4 คน เข้ามาที่บ่อ มาดูพื้นที่ และขอดูเอกสารหลักฐาน เมื่อพวกตนนำไปดูป้ายประกาศเอกสารก็กลับไป โดยไม่มีการเอ่ยปากเรียกเก็บเงินแต่ประการใด เพราะบ่อแห่งนี้ปฏิบัติตามกฎหมาย และนายหัว ( เจ้าของบ่อทราย) ประกาศไว้ชัดเจนตลอดมาว่า ไม่จ่ายส่วยให้ใคร เพราะทุกอย่างทำถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับไม่เคยเข้าไปรบกวน ถ้าเข้าไปตรวจกวดขันก็ไปตามขั้นตอน
ทางด้านนายเทอด อักษรทอง หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจ.ตรัง กล่าวว่า ในการขออนุญาตไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยากอะไร ถ้าผู้ ประกอบการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และตามหลักวิศวกรรมแล้วเช่น ตามขั้นตอนจะต้องดูในพื้นที่ของตนเองก่อนว่าในพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ได้รับการอนุญาตตาม พ.ร.บ.ผังเมืองหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันผังเมืองจังหวัดตรังได้เปิดให้หมดแล้วในการขุดดินหรือดูดทรายสามารถทำได้ในพื้นที่ที่กำหนด ผู้ประกอบการเริ่มต้นจากการเขียนแบบแปลนแผนผัง มีการกำหนดพื้นที่ขอบบ่อ จากนั้นนำไปยื่นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ให้พิจารณาเบื้องต้นว่าระยะความปลอดภัย หรือระยะขอบบ่อจากแม่น้ำได้หรือไม่ จะต้องเว้นระยะขอบบ่อ ซึ่งระยะความลาดชันของบ่อ จะต้องกำหนดไว้อย่างน้อยสองเท่าของความลึกของบ่อ สโลป จะต้อง 1 ต่อ 2 จากนั้นเมื่อผ่านขั้นตอนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ไปแจ้งต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรังก็จะประกาศลงไปทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ความคิดเห็นของชาวบ้าน ท้องถิ่น ท้องที่ เป็นอย่างไรบ้างมีการคัดค้านโต้แย้ง หรือไม่ ถ้าจบกระบวนการขั้นตอนการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนแล้วก็สรุป หลังจากครบ 15วันแล้วก็ให้ผู้ประกอบการยื่นเอกสารทั้งหมด เสนอเพื่อพิจารณาต่ออุตสาหกรรมซึ่งขั้นตอนการอนุญาตไม่เกิน 5 วัน จากการที่เคยทำหรืออาจจะมีติดขัดบ้าง กรณีเซ็นพื้นที่ข้างเคียง
การขออนุญาตพื้นที่เข้าออก ทั้งนี้ จะต้องทำให้เรียบร้อยเพราะว่าอุตสาหกรรมเคยเจอเคสกรณีศึกษาเยอะ กรณีมีการฟ้องร้องจากพื้นที่ข้างเคียง พื้นที่เข้าออก รวมทั้งการบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อป้องกันไว้ให้กับผู้ประกอบการเป็นพิเศษเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อได้หนังสือเอกสารใบอนุญาตมา ก็ไปดำเนินกิจการ
แต่ทั้งนี้เท่าที่พบในขั้นตอนการขุดตักของผู้ประกอบการพบว่า ส่วนใหญ่จะเริ่มขุดตักจากขอบบ่อ ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดตั้งแต่ขั้นตอนตั้งแต่แรก ก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องระยะยาวจะให้เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ วิธีการถูกต้องจริงๆในการขุดตักจะต้องเริ่มต้นจากการขุดตักในลักษณะรูปไข่ดาว โดยเว้นพื้นที่รอบนอก ถ้าทำแบบนี้ได้ตนเองรับประกันได้ว่าทุกบ่อทุกที่จะไม่มีการถูกร้องเรียน และจะไม่มีการทำลายทรัพยากรหรือจะไม่มีการทำผิดกฏหมายข้อใดข้อหนึ่งอย่างแน่นอน แล้วทีนี้ถ้าจะไม่ให้มีการเรียกรับส่วย หรือเรียกรับผลประโยชน์
ส่วนกรณีที่มีการเรียกรับเงินนั้นส่วนตัวมองว่าเป็นช่องว่างของกฎหมายการที่ผู้ประกอบการคิดว่า บางคนที่ไม่เคยไปยื่น ไม่เคยไปขออนุญาตจริง ๆ ได้รับฟังจากคำบอกเล่าทั้งจากนายหน้าบ้างว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งตนเองรับรองตามข้อเท็จจริงว่า ถ้าเป็นการอนุญาตที่ถูกต้องมีการจัดเก็บภาษี เข้ารัฐบำรุงหลวง ไม่ได้แพงอย่างที่คิดอย่างเช่น การขออนุญาตขุดตักดินและทราย เช่น มีการขอเครื่องจักรกลคือ แบล็คโฮ หนึ่งคัน 185 แรงม้า ภาษีใบอนุญาตเก็บเพียงแค่ 5,000 บาทเท่านั้น ซึ่งสามารถประกอบกิจการได้ตลอดชีพก็ถือว่าคุ้มและเอาเงินภาษีเข้าหลวง แต่ทั้งนี้ ที่พบอีกเมื่อได้รับใบอนุญาตและกลับเข้าไปทำแล้วกลับทำผิดเงื่อนไขหรือระเบียบข้อกฎหมายอีกเช่น เว้นขอบไว้ไม่ตรงตามแบบวิศวกรรมหรือตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าเราทำหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกฎหมาย คนที่มาตรวจสอบไม่สามารถจะเอาผิดได้ และผู้ประกอบการก็ไม่ต้องเลี่ยง ด้วยการจ่ายส่วย แต่ที่ต้องจ่าย เพราะผู้ประกอบการเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: