กรุงเทพฯ – ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เห็นชอบการเพิ่มสิทธิประโยชน์ จูงใจลงทุนผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าและนิคมอัจฉริยะ พร้อมยกระดับนิคมเดิม เพิ่มสิทธิประโยชน์ถือครองที่ดินดึงทุนต่างชาติ เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
วันที่ 13 มิถุนายน 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ครั้งที่ 3/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปรับปรุงประเภทกิจการผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ว่า ให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการสร้างห่วงโซ่การผลิตในประเทศไทยให้มากที่สุด รวมถึงการสร้างระบบ ecosystem พร้อมย้ำถึงการปรับปรุงสิทธิและประโยชน์ ตามมาตรา 30 ของประเภทกิจการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ.2030
ขณะนี้รัฐบาลกำลังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลิตรถไฟฟ้าพร้อมส่วนประกอบต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของต้นทุนการผลิตรถไฟฟ้า เช่น ตัวถัง มอเตอร์ แบตเตอร์รี่ ฯลฯ โดยให้ดำเนินการตั้งแต่ต้นทางอย่างครบวงจร ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้คนใช้รถไฟฟ้าได้มากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ อย่างครบวงจรในประเทศ ตลอดจนการพัฒนาสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าและการบริหารจัดการแบตเตอรีอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ รองรับรถไฟฟ้าด้วย ขอให้ทุกคนร่วมมือกันดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จให้ได้ตามเป้าหมาย
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำให้บีโอไอและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส จากความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานสำนักงานภูมิภาคของหลายประเทศ เข้ามาอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยให้มีการเตรียมการและทำงานเชิงรุก รองรับอุตสาหกรรมที่ย้ายฐาน การดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในประเทศไทย รวมไปถึงการดำเนินการให้สอดรับกับ VUCA World ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงผลการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกิดผลสัมฤทธิ์ของรัฐบาล ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ เผยแพร่ข้อมูลที่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงและทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
มติที่ประชุมบอร์ดบีโอไอที่สำคัญ มีดังนี้
♦ อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 209,478 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด มูลค่า 36,100 ล้านบาท, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด มูลค่า 162,318 ล้านบาท, กิจการผลิตเส้นใยและผลิตผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษของ กลุ่มบริษัท คิงบอร์ด โฮลดิ้งส์ มูลค่ารวม 8,230 ล้านบาท และการขยายกิจการผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ของบริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด มูลค่า 2,830 ล้านบาท
บอร์ดบีโอไอ ยังเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ยานพาหนะไฟฟ้า (อีวี) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ระดับโมดูล และกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง โดยเพิ่มระยะเวลาการให้สิทธิและประโยชน์ ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ในกรณีที่ผลิตจำหน่ายในประเทศ จาก 2 ปี เป็น 5 ปี ทั้งนี้ โครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและได้รับอนุมัติไปแล้ว สามารถแก้ไขโครงการเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ใหม่นี้ได้เช่นกัน
ปัจจุบัน มีโครงการได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ในกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า 16 โครงการจาก 10 บริษัท รวมเงินลงทุน 4,820 ล้านบาท และมีโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง รวม 3 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 6,746.1 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนกิจการนิคมหรือเขตอุสาหกรรมอัจฉริยะ โดยต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะ 5 ด้าน ได้แก่ Smart Facilities, Smart IT, Smart Energy, Smart Economy และบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่น ๆ อย่างน้อยอีก 1 ใน 3 ด้าน ดังนี้ Smart Good Corporate Governance, Smart Living และ Smart Workforce พร้อมทั้งยกเลิกเงื่อนไข ห้ามตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ
ส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม ทั้งที่สิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้ยังไม่สิ้นสุดและสิ้นสุดแล้ว และโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริม สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมหรือขอรับการส่งเสริมเพื่อยกระดับเป็นนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะได้เช่นกัน รวมทั้งเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการพัฒนาระบบอัจฉริยะ สำหรับนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อช่วยยกระดับการพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ไปสู่การเป็นนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติม
และเพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการในประเทศไทย บีโอไอได้กำหนดให้นิติบุคคลต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ที่มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท โดยถือครองที่ดินเป็นที่ตั้งสำนักงานของกิจการได้ไม่เกิน 5 ไร่ ที่ดินเป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้บริหารผู้ชำนาญการต่างชาติได้ไม่เกิน 10 ไร่ และที่ดินเป็นที่พักอาศัยของคนงานได้ไม่เกิน 20 ไร่ หากหมดสภาพการเป็นผู้ได้รับการส่งเสริม จะต้องจำหน่ายหรือโอนที่ดินภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ให้สำนักงานฯ ออกประกาศหลักเกณฑ์เพิ่มเติมตามความเหมาะสม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: