ตรัง-กระแสทุบทิ้งโรงหนังตรังรามา กระหึ่ม หลายเสียงสะท้อน ชาวตรังใจหาย “เสียดาย” “นายกนครตรัง” เปรยเสนอขายเทศบาลราคาไม่แพงได้ 70-80 ล้าน เล็งไว้ทำโรงมหรสพ อ.สถาปัตย์ฯมอ.ตรัง ชี้ เป็นความท้าทายการอนุรักษ์ตึกเก่า 3-4 ปีที่ผ่านมา ถูกรื้อไปจำนวนมาก เพราะไม่มีมาตรการควบคุม-ส่งเสริม ยกหลักสากล ใช้มาตรการทางภาษี ตั้งกองทุนอนุรักษ์ คืนสิทธิ์สร้างอาคารสูงนอกเขตผังเมืองสีแดงทดแทนให้เจ้าของ
.
กลายเป็นเรื่องทอล์คออฟเดอะทาวน์ในจังหวัดตรัง เมื่อมีกระแสข่าวออกมาว่าในอีกไม่ช้าจะมีการทุบรื้ออาคารโรงหนังตรังรามา หรือที่ชาวตรังเรียกกันติดปากว่า วิกตรังรามา ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนถนนวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง ภายในเขตเทศบาลนครตรังมานานปลายสิบปี เนื่องจากเป็นอาคารร้างมานานหลายปี โดยโรงหนังตรังรามาได้หยุดฉายอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้นความคึกคักหน้าโรงหนังตรังรามา ได้เงียบหายไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฟสบุ๊คแฟนเพจ @ Trang ที่นี่จังหวัดตรัง ซึ่งมีสมาชิก 188,996 คน ได้โพสภาพเสมือนเป็นการอำลาโรงหนังเก่าแก่แห่งสุดท้ายของจังหวัดตรังแห่งนี้ พร้อมข้อความระบุว่า “ตรังรามา ตรงนี้เป็นที่ของเอกชน ด้วยความทรุดโทรม แว่วๆมาว่าเขายื่นเรื่องขอรื้อเพื่อปรับปรุงพื้นที่ทำอย่างอื่น เลยขอบันทึกไว้เพื่อเป็นความทรงจำ จำไม่ได้ว่าตรังรามาสร้างขึ้นเมื่อไหร่ แต่เป็นโรงหนัง Stand alone แห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ของตรัง ก่อนปิดกิจการ ที่นี่มีความทรงจำดีๆเกิดขึ้นมากมากมาย ร้านขนมหน้าโรงหนัง ซื้อน้ำอัดลมใส่ถุง ผลไม้ ไข่นกกระทา รวมทั้งขนมจุกจิกทั้งหลายก่อนเข้าไปกินในโรงหนัง ตั๋วฉีกเป็นกระดาษ เลือกที่นั่งไม่ได้ เรื่องไหนคนเยอะ ลุ้นอาจต้องนั่งเก้าอี้เสริมสีแดง เสียงแตกของลำโพงเวลาถึงฉากระเบิด เครื่องบินหรือยานอวกาศบินผ่าน บางวันแอร์เสีย ต้องเปิดพัดลมตัวใหญ่ๆแทน
.
“ตรังรามาผู้มาก่อนกาล ต้นแบบของระบบ 4D ดูเรื่องแบทแมน มีค้างคาวตัวจริงๆบินไปบินมา รถแห่โปรแกรมภาพยนตร์ขับวนไปรอบเมืองพร้อมเสียงประกาศ และโปสเตอร์ที่วาดกับมือ รอบไหนคนแน่น เข้าจอดรถใต้ถุนแต่ละทีลำบากยากเย็น ขาออกก็ใช่ย่อย สมัยก่อนไม่มีห้าง ไม่มีคาเฟ่ โรงหนังคือจุดรวมของวัยรุ่น ถึงไม่ได้มาดูหนังเราก็ขี่รถวนแล้ววนอีกทั้งวันทั้งคืน หลายคนโดดเรียนมาดูหนัง จนครูต้องมาดักที่หน้าโรง และหลายคนเริ่มต้น..ความรักที่นี่ ตรังรามา หยุดฉาย 28 กุมภาพันธ์ 2554 เรื่องสุดท้ายที่ฉาย หน้ากากแตนอาละวาด ของเจย์ โชว์ … ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แด่ความทรงจำสีจางๆ”แอดมินเพจ @ Trang ที่นี่จังหวัดตรัง ระบุ
.
หลังจากที่โพสดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป มีสมาชิกเข้ามากดถูกใจ 7.8 พันคน แสดงความคิดเห็น 767 รายการ และมีการแชร์ออกไปถึง 1.5 พันครั้ง
.
รายงานข่าวแจ้งว่า กระแสข่าวดังกล่าวได้เกิดขึ้นหลังจากเจ้าของอาคารโรงหนังตรังรามาได้ไปติดต่อขอคำปรึกษาจากสำนักการช่าง เทศบาลนครตรัง กรณีการขออนุญาตทุบอาคารโรงหนังตรังรามา เพื่อเตรียมการเรื่องการขออนุญาตรื้อถอนอาคารตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร โดยสาเหตุจาการต้องแบกรับภาระในการดูแล ตลอดจนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการคำนวณในอัตราใหม่ทั่วประเทศ ทำให้ที่ดินที่มีอาคารร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องจ่ายภาษีแพงมาก ซึ่งเป็นภาระแก่เจ้าของอาคาร อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ไม่มีผู้ติดต่อขอเช่าต่อ เนื่องจากอาคารได้ถูกออกแบบไว้สำหรับเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ถึง 800 ที่นั่ง กระแสการทุบทิ้งโรงหนังตรังรามาจึงเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย ทั้งในกลุ่มช่างภาพและศิลปินในจังหวัดตรัง มีการนำภาพของโรงหนังตรังรามาอดีตในแต่ละมุมมองแต่ละช่วงเวลา มาโพสผ่านเฟสบุ๊กและแฟนเพจกันอย่างแพร่หลาย
นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวว่า ตอนนี้เจ้าของอาคารโรงหนังตรังรามายังไม่ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตทุบอาคารอย่างเป็นทางการ แต่ราว 2 เดือนก่อน เจ้าของอาคารได้มาติดต่อที่สำนักการช่าง เพื่อขอคำปรึกษากรณีการขออนุญาตทุบอาคารโรงหนัง โดยส่วนตัวแล้วก็รู้สึกเสียดายหากมีการทุบทิ้งจริง แต่เป็นทรัพย์สินของเอกชนคงจะห้ามไม่ได้ ซึ่งหากเทศบาลนครตรังมีเงิน คงจะซื้อเก็บไว้ เพื่อทำเป็น Theater(โรงละคร, โรงมหรสพ)ของเทศบาล สำหรับจัดกิจกรรม การแสดงศิลปะต่างๆ และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยส่วนตัวแล้วตนมีความผูกพันธ์กับโรงหนังตรังรามาเช่นเดียวกัน รวมทั้งในอดีตที่ที่จังหวัดตรังมีโรงหนังเฉลิมรัฐ , ศรีเมือง , ตรังรามา เด็กวัยรุ่นในเมืองตรังนิยมดูหนัง เพราะถือเป็นแหล่งบันเทิงเดิมในสมัยนั้น ซึ่งตอนนี้ตรังรามาถือเป็นโรงหนังโรงสุดท้าย ที่ยังคงรูปแบบและเอกลักษณ์ของโรงหนังและมีตัวอาคารอยู่
“ผมก็เสียดายนะ แต่มันก็ทรุดโทรมมาก เอกชนคงจำเป็นต้องตัดสินใจ แต่อยากฝากไปบอกว่าให้เสนอขายแก่เทศบาล อาจจะในราคา 70-80 ล้าน เพราะถ้าราคาสูงมาก เทศบาลก็ซื้อไม่ได้เพราะไม่สมเหตุสมผลต่อการประเมินตามระเบียบราชการ”นายสัญญา กล่าว
ด้านนายตรีชาติ เลาแก้วหนู รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง กล่าวว่า ในแง่ของสถาปัตยกรรม อาคารโรงพนังตรังรามาเป็นสถาปัตยกรรมแบบ อาร์ทเดคโค่(Art Decoration) จัดอยู่ในอิทธิพลการออกแบบในยุคเรเนซองส์(Renaissance) ที่สะท้อนถึงอิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเราจะเห็นสถาปัตยกรรมแบบอาร์ทเดคโค่ อยู่ในหลายแหล่งสถาปัตยกรรมในจังหวัดตรัง เช่น สมาคมฮากกา ธนาคารกรุงเทพ สาขาสี่แยกสถานีรถไฟตรัง เป็นยุคใกล้เคียงกันกับตรังรามา เป็นอิทธิในการออกแบบอาคารสาธารณะซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น อาคารตรังรามามีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมมาก เนื่องจากมีความเป็นอาร์ทเดคโค่ที่ชัดเจน มีโครงสร้างเป็นเสาสูงชะลูดขึ้นไปรับน้ำหนักหลังคาแบบเรียบ และมีหลังคาหน้าจั่วซ่อนอยู่ด้านในสวยงามมาก
ข่าวน่าสนใจ:
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
นายตรีชาติกล่าวอีกว่า หลายสถาปัตยกรรมในจังหวัดตรัง และมีเมืองเก่าหลายหลายๆเมือง ที่มีการทุบทิ้งไป ถือเป็นความท้าทายด้านการอนุรักษ์ เพราะไม่มีกฎหมายควบคุม สะท้อนให้เห็นว่าเราขาดมาตรการด้านกฎหมายที่จะรักษามรดกทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไว้ ถ้าเป็นเมืองเก่าที่มีกระบวนการจัดทำแผนอนุรักษ์ จะมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ออกเป็นเทศบัญญัติ หรือกฎหมายเฉพาะพื้นที่ เช่น ภูเก็ต มีกฎหมายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรม ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต มีการควบคุมความสูงและรูปร่างหน้าตาของอาคาร ส่วนเมืองเก่าของตรังเพิ่งประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปเมื่อปี 2564 ขึ้นกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีการตั้งคณะอนุกรรมการเมืองเก่าตรังตามการประกาศไปแล้ว โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง มีผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธาน แต่เป็นเพราะเพิ่งตั้งคณะอนุกรรมการ จึงยังไม่มีข้อเสนอแนะเชิงมาตรการออกมาดูแลอนุรักษ์แหล่งมรดกสถาปัตยกรรมในพื้นที่ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หลังอาคารเก่าทั่วประเทศโดนรื้อถอนไปเยอะ ในส่วนของตรัง ตัวอาคารเรือนไม้เก่า ซึ่งเคยเป็นหน้าตาของเมืองเก่าทับเที่ยง ถูกรื้อไปแล้วสร้างอาคารสมัยใหม่มาทดแทน เช่น เรือนไม้หลังตลาดสดเทศบาลที่เดิมหลายหลัง เนื่องจากไม่มีมาตรการมารองรับการอนุรักษ์
นายตรีชาติกล่าวว่า ในเมืองหลายเมืองมีมาตรการทางการเงินมารองรับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า มีการตั้งกองทุน เป็นลักษณะ Matching Fund คือ เวลาจะซ่อมแซม หากซ่อมแบบดั้งเดิม เจ้าของอาคารจ่ายครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งรัฐจ่าย หรือ จะดึงเอกชนมาเป็นสปอนเซอร์ อีกมาตรการที่ใช้กันเยอะในการอนุรักษ์ คือ มาตรการด้านภาษี อาจจะลดภาษี ยกเว้นภาษีในกรณีที่จะอนุรักษ์อาคารแบบดั้งเดิม หรือ ใช้อาคารเดิมประกอบธุรกิจแบบเดิมไว้ รวมทั้งมาตรการในการคืนสิทธิ คือในพื้นที่เมืองส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สีแดงตามผังเมืองรวม เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมให้ขึ้นตึกสูงได้ 7-8 ชั้น ถ้าหากอาคารที่มีอยู่เป็นอาคารอนุรักษ์ และหากเจ้าของต้องการอนุรักษ์ไว้ เจ้าของจะเสียสิทธิสร้างอาคารสูง รัฐจึงมีนโยบายคืนสิทธิให้เจ้าของอาคารนั้น แล้วเอาสิทธิการสร้างอาคารสูงไปใช้ในที่ดินอื่นที่อยู่นอกเขตพื้นที่สีแดงได้ ซึ่งมาตรการนี้ใช้เป็นมาตรการในเมืองเก่าทั่วโลก โดยเฉพาะเมืองที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก เช่น ปีนัง มะละกา หลวงพระบาง
“ของไทยมีบางเมืองที่ใช้มาตรการเหล่านี้ แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งมาตรการคืนสิทธิและมาตรการด้านภาษี ส่วนใหญ่จะเห็นในรูปแบบของกองทุน และเมืองตรังเองยังไม่มีเลยสักมาตรการ เนื่องจากเพิ่งประกาศขอบเขตเมืองเก่า โดยทางคณะสถาปัตย์ฯมอ.ตรัง ได้สำรวจอาคารเก่าในตรังมากกว่า 40 แห่ง เช่น โบสถ์คริสตจักรตรัง บ้านไทรงาม บ้านจริงจิตร ร้านสิริบรรณ แต่อาคารโรงหนังตรังรามายังไม่เคยมีการสำรวจตัวอาคาร ทั้งด้านโครงสร้างและพื้นที่ใช้สอย เนื่องจากไม่ทราบจะประสานกับใคร และกระบวนการรังวัดอาคารตรังรามามีความยากมาก เพราะเป็นอาคารสูง และยังประเมินไม่ได้ว่าด้านในจะเข้าไปทำการศึกษาได้หรือไม่ และสภาพแวดล้อมก็มีความยาก ไม่มีพื้นที่จอดรถกระเช้า ที่จะดึงขึ้นไปเพื่อศึกษาองค์ประกอบด้านบนของอาคาร”นายตรีชาติระบุ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: